บริษัทจดทะเบียนทำกำไรปี 2548 กว่าห้าแสนล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 13

ข่าวทั่วไป Monday March 6, 2006 15:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกำไรสุทธิรวม 537,386 ล้านบาท ในปี 2548 เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากงวดปี 2547 โดยกลุ่มทรัพยากร กลุ่มธุรกิจการเงิน และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ยังเป็นสามกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ทำกำไรสูงสุดเช่นเดียวกับปี 2547
นายสุทธิชัย จิตรวาณิช รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จำนวน 456 บริษัท (จาก470 บริษัท) ได้นำส่งงบการเงินสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2548 มายังตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ สำหรับปี 2548 มีกำไรสุทธิรวม 537,386 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากปี 2547 ที่มีกำไรสุทธิรวม 474,053 ล้านบาทโดยมีบริษัทจดทะเบียนที่มีกำไรสุทธิ 393 บริษัท และ 63 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ
สำหรับบริษัททั้งหมด ในกลุ่ม SET100 มีกำไรสุทธิ 411,807 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 76 ของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 ต้นทุนขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 27 และมีกำไรขั้นต้นร้อยละ 23
ส่วนบริษัททั้งหมดในกลุ่ม SET50 มีกำไรสุทธิ 380,906 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 71 ของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 ยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ต้นทุนขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 และมีกำไรขั้นต้นร้อยละ 24
กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกำไรสุทธิสูงสุด 3 อันดับแรกคือ กลุ่มทรัพยากร กลุ่มธุรกิจการเงิน และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง
ส่วนบริษัทที่มีกำไรสูงสุด 5 อันดับแรกคือ บมจ. ปตท. (PTT) บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) บมจ. ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และบมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC)
ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม (Industry Group) ไม่รวมบริษัทที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูการดำเนินงานหรือหมวด REHABCO จำนวนรวม 426 บริษัท มียอดขายเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมและทุกหมวดธุรกิจยกเว้นหมวดกระดาษและวัสดุการพิมพ์ โดยมีกำไรสุทธิ 465,781 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 87 ของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนรวม
ผลประกอบการรายกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเรียงตามกำไรสุทธิมีรายละเอียดดังนี้
1. กลุ่มทรัพยากร ประกอบด้วยหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค 16 บริษัท และหมวดเหมืองแร่ 1 บริษัท มีกำไรสุทธิ 150,393 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 เนื่องจากหมวดพลังงานและสาธารณูปโภคมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 39 โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นคงที่ประมาณร้อยละ 16 จากสถานการณ์การใช้ปิโตรเลียมโดยรวมของประเทศยังคงสูงขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นรวมทั้งราคาปิโตรเคมีที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
2. กลุ่มธุรกิจการเงิน ประกอบด้วยหมวดธนาคาร หมวดเงินทุนหลักทรัพย์ และหมวดประกันภัยและประกันชีวิต 68 บริษัท มีกำไรสุทธิ 108,786 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16
ธนาคารพาณิชย์ 14 แห่ง มีกำไรสุทธิรวม 95,387 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2547 มีกำไรสุทธิ 82,757 ล้านบาท เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 โดยมียอดเงินให้สินเชื่อและดอกเบี้ยขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 และเงินรับฝากและเงินกู้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ในขณะที่ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญปรับตัวลดลงร้อยละ 20
ธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ (ไม่รวมบริษัทที่ประกอบธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่ง) 20 บริษัท มีกำไรสุทธิ 6,357 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ที่มีกำไรสุทธิ 4,480 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 42 โดยหากไม่รวมรายการตัดจำหน่ายต้นทุนเงินลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งในปี 2547 มูลค่า 4,460 ล้านบาท ในงวดปี 2548 หมวดธุรกิจนี้ จะมีกำไรสุทธิลดลง 2,583 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 29 โดยกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์มีกำไร 2,575 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 5,169 ล้านบาท เนื่องจากรายได้ค่านายหน้าจากธุรกิจหลักทรัพย์ลดลงร้อยละ 24 เป็นผลจากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ลดลงตามภาวะตลาด
บริษัทประกันภัย 18 แห่ง และประกันชีวิต 1 แห่ง มีกำไรสุทธิรวม 3,399 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,885 ล้านบาท เนื่องจากมีเบี้ยประกันรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 และกำไรจากการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 85
3. กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ประกอบด้วยหมวดวัสดุก่อสร้างและตกแต่ง 37 บริษัท และหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 50 บริษัท มีกำไรสุทธิ 65,289 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 35 เป็นผลจากราคาของวัสดุก่อสร้างและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 ทำให้ส่วนต่างของราคาขายกับต้นทุนลดต่ำลงโดยเฉพาะธุรกิจเหล็ก อย่างไรก็ตามยังคงมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 15
4. กลุ่มบริการ ประกอบด้วย 6 หมวดธุรกิจรวม 80 บริษัท มีกำไรสุทธิ 48,854 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10 จากปี 2547 เนื่องจากต้นทุนขายของกลุ่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 โดยอัตรากำไรขั้นต้นลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 23 เหลือร้อยละ 21 ซึ่งโดยส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น โดยเฉพาะบริษัทในหมวดขนส่งและโลจิสติกส์และหมวดพาณิชย์
5. กลุ่มเทคโนโลยี ประกอบด้วยหมวดสื่อสาร หมวดชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์รวม 45 บริษัท มีกำไรสุทธิ 36,197 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 20 จากปี 2547 โดยมีกำไรสุทธิลดลงในทุกหมวดอุตสาหกรรมยกเว้นหมวดชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงทางด้านราคาของกลุ่มอุตสาหกรรมและการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจจากการปรับตัวของราคาน้ำมันส่งผลให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น
6. กลุ่มวัตถุดิบและสินค้าอุตสาหกรรม 51 บริษัท มีกำไรสุทธิ 33,354 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4 โดยส่วนใหญ่ลดลงจากหมวดยานยนต์และหมวดบรรจุภัณฑ์ เนื่องจากผู้บริโภคชะลอการบริโภคตามภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยอันเนื่องมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
7. กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ประกอบด้วยหมวดอาหารและเครื่องดื่ม 22 บริษัท และหมวดธุรกิจการเกษตร 20 บริษัท มีกำไรสุทธิ 16,394 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 60 ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของบริษัทในหมวดอุตสาหกรรมเกษตร เนื่องจากการขายสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มและสามารถส่งออกได้ในปริมาณที่มากขึ้น
8. กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค 36 บริษัท มีกำไรสุทธิ 6,514 ล้านบาท โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นลดลงจากร้อยละ 22 เหลือร้อยละ 20 ในขณะที่มีการเติบโตของยอดขายประมาณร้อยละ 3
ด้านผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในหมวด REHABCO ได้นำส่งงบการเงิน 30 บริษัท (คิดเป็นร้อยละ 77 ของบริษัทในหมวด REHABCO ทั้งหมด 39 แห่ง) ในจำนวนนี้ มีบริษัทที่มีผลกำไรสุทธิ 18 บริษัท และขาดทุนสุทธิ 12 บริษัท มีกำไรสุทธิรวม 71,605 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 11,668 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5 เท่า เนื่องจากมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้สูงถึง 46,999 ล้านบาท หากไม่รวมกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ กำไรสุทธิจะเท่ากับ 24,606 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 10,665 ล้านบาทในปี 2548 และ 2547 ตามลำดับหรือเพิ่มขึ้น 3 เท่า
ณ 31 ธันวาคม 2548 หนี้คงค้างของบริษัทในหมวด REHABCO มีมูลค่ารวม 139,570 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 41 หรือ 97,219 ล้านบาท จาก 236,789 ล้านบาทในงวดเดียวกันของปีก่อน
สถานะการฟื้นฟูกิจการของบริษัทในหมวด REHABCO ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2548 - 2 มี.ค. 2549 สรุป ได้ดังนี้
- บริษัทที่ย้ายเข้าหมวด REHABCO เพิ่มขึ้น 6 บริษัท คือ บมจ. เซอร์คิทอีเลคโทรนิคส์อินดัสตรีส์ (CIRKIT) บมจ. ไดโดมอน กรุ๊ป (DAIDO) บมจ. พันธุ์สุกรไทย-เดนมาร์ค (D-MARK) บมจ. นครหลวงเส้นใยสังเคราะห์ (HTX) บมจ. นิวพลัสนิตติ้ง (NPK) และบมจ. ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล (POMPUI)
- บริษัทที่ย้ายกลับหมวดปกติ 9 บริษัท คือ บมจ. นครไทยสตริปมิล (NSM) บมจ. เค.ซี. พร็อพเพอร์ตี้ (KC) บมจ. ที.ซี.เจ. เอเซีย (TCJ) บมจ. เพาเวอร์-พี (POWER) บมจ. วินโคสท์ อินดัสเทรียล พาร์ค (WIN) บมจ. บางกอกแร้นช์ (RANCH) บมจ. เอเวอร์แลนด์ (EVER) บมจ. อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วิศวการ (IFEC) และบมจ. ปรีชากรุ๊ป (PRECHA)
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร
ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 — 2036
กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร. 0-2229 — 2037
ณัฐพร บุญประภา โทร. 0-2229 — 2049
วรรษมน เสาวคนธ์เสถียร โทร. 0-2229-2797--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ