กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--ทีวีไทย
เมื่อวานนี้(๑๑ ก.พ. ๒๕๕๒) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ได้เปิดแถลงข่าวการจัดทำข้อบังคับจริยธรรมวิชาชีพซึ่งเผยแพร่และมีผลบังคับใช้แล้ว เพื่อเป็นกลไก กำกับดูแลตรวจสอบและเป็นแนวทางการทำงานของพนักงานทุกระดับในส.ส.ท. พร้อมจัดการเสวนา เรื่อง “ สื่อไทยกับจริยธรรมวิชาชีพ” ขึ้น โดยมีนายแพทย์ ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นองค์ปาฐก หัวข้อ “จริยธรรมจะทำให้สื่อเปลี่ยนไปอย่างไร”
นายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. กล่าวว่า ข้อบังคับจริยธรรมวิชาชีพ ส.ส.ท.นี้ ประกอบด้วยเนื้อหา ๓ ส่วน ได้แก่ ข้อบังคับส.ส.ท. ว่าด้วยจริยธรรมของ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ข้อบังคับ ส.ส.ท.ว่าด้วยจริยธรรมของวิชาชีพเกี่ยวกับการผลิตและการเผยแพร่รายการ และแนวทางปฏิบัติ เพื่อธำรงจริยธรรมวิชาชีพการผลิต การจัดหา และการเผยแพร่รายการ ซึ่งทั้งหมด จะเป็นกลไกสำคัญเพื่อใช้เป็นแนวทางกำกับดูแลการทำงานของ พนักงานส.ส.ท.ในทุกระดับและผู้ผลิตรายการจากภายนอกให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพอย่างเคร่งครัดโดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ ประโยชน์ของสังคมส่วนรวม
“เนื้อหาหลักๆ ครอบคลุมสิ่งที่พนักงานทุกคนในองค์การตั้งแต่ฝ่ายบริหาร จนกระทั่งฝ่ายปฏิบัติ จะต้องคำนึงถึงและปฏิบัติตาม เพื่อให้ผลงานที่ปรากฏสู่หน้าจอทั้งหมดเป็นรายการคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นข่าว รายการสาระหรือบันเทิง เน้นความถูกต้องของข้อเท็จจริง รายงานอย่างสมดุล เป็นธรรม เป็นกลาง และรอบด้าน เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความแตกต่างและหลากหลาย จุดยืนของส.ส.ท. ชัดเจนเรื่องความเป็นอิสระในการทำงาน ไม่ตกอยู่ภายใต้การกดดันไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มทุนใดๆ ดังนั้นจึงต้องโปร่งใสในการทำงานทุกขั้นตอนและพร้อมรับการตรวจสอบจากทุกภาคส่วนในสังคม ”
สำหรับผู้ที่ต้องการแจ้งข้อมูลข่าวสาร ทั้งติชมรายการ และร้องเรียน สามารถติดต่อได้ที่ โทรศัพท์ 02-791-1113 อีเมล [email protected] และไปรษณีย์ ตู้ปณ. 59 ปณฝ. เสนานิคม กทม. 10902
สำหรับการเสวนาในวันนี้ นอกจากจะมีปาฐกถาโดย น.พ.ประเวศ วะสีแล้ว ยังมีการเสวนาในหัวข้อ“ สื่อไทยกับจริยธรรมวิชาชีพ” โดยมีวิทยากรร่วมด้วย อาทิ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานสภาผู้ชมผู้ฟังรายการ นายมานิจ สุขสมจิต ที่ปรึกษาคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ รศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.พิรงรอง รามสูต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายปรีดา เตียสุวรรณ์ ที่ปรึกษาเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ดำเนินรายการโดย ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ บรรณาธิการบริหาร ทีวีไทย
ดาว์นโหลด ข้อบังคับจริยธรรม ได้ที่ www.thaipbs.or.th หัวข้อ เกี่ยวกับ ทีวีไทย
การปาฐกถาของนายแพทย์ ประเวศ วะสี ในหัวข้อ “จริยธรรมจะทำให้สื่อเปลี่ยนไปอย่างไร” กล่าวโดยสรุป คือ ประเทศไทยกำลังติดขัดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ มองเห็นแต่ความแตกแยก เราไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ สังคมไทยเป็นสังคมแห่งอำนาจ เราต้องใช้สื่อในการปรับให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งปัญญา การสื่อสารที่ดีจะช่วยสร้างปัญญาให้เกิดได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นสื่อจึงมีส่วนสำคัญในการผลักดัน นอกจากนี้สังคมไทยยังมีความเหนื่อยชาทางปัญญา ต้องสร้างให้เกิดการเรียนรู้ ตื่นตัวทางปัญญาทั้งชาติ คนฉลาดต้องได้ข้อมูลข่าวสารตามความเป็นจริง และรู้จักนำมาคิดไตร่ตรองด้วยเหตุผล สื่อก็เช่นกันควรเป็นผู้มีความรู้ มีปัญญา ไม่ใช่นำเสนอข่าวโดยไม่มีข้อมูลและที่มา
ดังนั้นควรมีการพัฒนาผู้สื่อ โดยเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกบุคลากรที่มีสติและปัญญา เป็นผู้ที่รอบรู้ เพราะสื่อมวลชนมีความสำคัญกับคนจำนวนมากในประเทศ เราต้องสร้างจิตสำนึกใหม่ จริยธรรมจะง่ายขึ้นเพราะคนมีจิตสำนึกมากขึ้น ถ้าเรามีจริยธรรมในผู้สื่อ ระบบการศึกษา พลังของชาติและปัญญาจะช่วยสร้างสรรค์ประเทศของเรา จริยธรรมคือความถูกต้อง ถ้าไม่มีจริยธรรมจะทำอะไรก็ไปไม่รอด ดังนั้น ขอสนับสนุนจริยธรรมของสื่อมวลชนไทย เพื่อสร้างปัญญาให้คนในประเทศและสันติสุขของคนไทยทั้งปวง
และจากการเสวนาในหัวข้อ“ สื่อไทยกับจริยธรรมวิชาชีพ” สรุปได้คือ
นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานสภาผู้ชมผู้ฟังรายการ สรุปสาระสำคัญได้คือ
สื่อต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ตามหลักจริยธรรมที่ได้มาจากประชาชนวางกรอบว่าใครจะต้องทำอะไรบ้าง เรื่องจริยธรรมที่ดีอาจจะไม่ได้ทำได้ในเร็ววัน แต่ก็ควรจะต้องดำเนินการ สื่อควรมีขอบเขต เพราะสื่อสามารถใช้ทางสร้างสรรค์ มีพลังมากสามารถสร้างประโยชน์ได้อย่างอเนกอนันต์ ในขณะเดียวกันถ้าไม่ระวังก็สามารถสร้างความเสียหาย เพราะสื่อมีอิทธิพลถ้าไม่สร้างสรรค์ก็อาจจะเห็นผลกระทบที่ตามมา การมีจริยธรรมคือ การมีความดีกำกับ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานไหนล้วนแล้วแต่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม การที่ต้องมีความรับผิดชอบ หมายถึง ทำตัวให้มีคุณค่าของสังคม ทำสิ่งที่ดีงามสร้างสมวัฒนธรรมของความดีจิตสำนึกสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกัน เป็นพลังความดีในอนาคตต่อไป สรุปโดยทั่วไป สื่อควรจะพิสูจน์ สำรวจ เห็นเป็นข้อมูลประจักษ์ว่า สื่อโดยทั่วไปควรมีความรับผิดชอบต่อสังคม สร้างส่วนดี และไม่ควรสร้างความเสียหายต่อไป
คุณมานิจ สุขสมจิตร ที่ปรึกษาคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
สื่อที่ดี ควรมีจริยธรรมเป็นตัวกำกับ จริยธรรมแห่งวิชาชีพ ไม่ว่าจะอาชีพไหน ๆ ที่สามารถตรึงการกระทำของคนในวิชาชีพนั้น เพราะการมีกรอบจริยธรรมเป็นเรื่องที่ดี สังคมมักจะวิพากวิจารณ์สื่อ หลาย ๆ คนชอบพูดว่า การนำเสนอข่าว “ข่าวร้ายลงฟรี ถ้าข่าวดีเสียเงิน” ซึ่งความจริงแล้ว สื่อไม่จำเป็นจะต้องเป็นอย่างนั้น ในการนำเสนอข่าวหรือไม่นำเสนอข่าว การรับผลประโยชน์โดยมิชอบ มีคำพูดอยู่คำหนึ่งว่า “การที่จะเขียนบทความให้ดีทำข่าวให้ดี ไม่สำคัญเท่ากับการรักษาจริยธรรมที่ดี” การมีจริยธรรมเป็นตัวกำกับความดี
การมีจริยธรรมที่ดีก็ไม่ใช่จะเป็นตัวหนังสือที่อยู่ในคัมภีร์เท่านั้น ต้องปฏิบัติเป็นไปตามหลักจริยธรรมที่วางไว้ตามนี้
นอกจากนี้ต้องให้คนทำสื่อ มองอะไรในทางที่ดี นอกจากกรอบจริยธรรม ต้องส่งเสริมความมีคุณธรรมของคนทำสื่อ และไม่เห็นด้วยที่มองว่าสื่อเป็นฐานันดรที่ 4 เพราะทุกคนมีสถานะเท่าเทียมกัน แตกต่างกันเพียงหน้าที่เท่านั้น อีกทั้งคนทำสื่อต้องเคารพกฎหมาย เช่นไม่ควรนำภาพเด็กที่กระทำผิดมาเผยแพร่ แต่ปัจจุบันก็ยังมีการเผยแพร่ ทั้งนี้เนื่องจากโทษที่ได้รับไม่รุนแรง ทำให้สื่อส่วนใหญ่ละเมิดไม่เคารพ รวมทั้งสื่อควรเน้นให้ความรู้ที่ถูกต้องกับเยาวชนด้วย
รศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปสาระสำคัญได้คือ
จริยธรรมวิชาชีพเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะสื่อที่เรียกร้องความเป็นอิสระ ดังนั้นความเป็นอิสระต้องควบคู่ไปกับการกำกับดูแลตนเอง ในบางครั้งต้องถามว่าเราตั้งจริยธรรมให้กับสังคม แต่สังคมต้องการจริยธรรมเหล่านี้มากน้อยเพียงใด เช่น เราต้องการปกป้องเขาจากสิ่งลามก แต่ผู้หญิงบางคนก็ต้องการแสดงออกโดยการแต่งกาย หรือถ่ายภาพหวือหวา ดังนั้นเราต้องดูว่าเรายัดเยียดจริยธรรมให้เขาหรือไม่ สื่อในประเทศเรามีอิทธิพลอย่างมากไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน แต่บางครั้งเราเอาประเทศเพื่อนบ้านมาล้อเลียนเป็นตัวตลก เพื่อให้เห็นความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ว่าจะต้องอยู่เหนือกว่าคนอื่น ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด การริเริ่มงานในวันนี้ ถือเป็นประวัติศาสตร์ร่วมกัน แต่จะทำอย่างไรให้จริยธรรมเป็นรูปธรรมมากขึ้น เกิดการตระหนักและเกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน รวมถึงการสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นกับภาคสื่ออื่นๆ ในสังคมไทยด้วย
ดร.พิรงรอง รามสูต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปสาระสำคัญได้คือ
จริยธรรมในวิชาชีพนั้นมีในหลักสูตรการเรียนการสอน แต่เมื่อสำเร็จการศึกษา เมื่อไปประกอบอาชีพจริงมักจะไม่ปฏิบัติตามกรอบ ระเบียบของจริยธรรม
ทำไมจริยธรรมถึงมีความสำคัญมาก
1) ปรากฎการณ์ที่เกิดสื่อมีลักษณะทับลอย (ครึ่งหนึ่ง) คือสื่อน้ำเน่า เล้าอารมณ์ คือไม่มีจรรยาบรรณ เน้นยอดขาย เน้นอารมณ์ หรือการเล่าข่าว เพื่อให้บริโภคข่าวได้ง่ายขึ้น การใส่ความรู้สึกส่วนตัวเข้าไป แต่อาจขาดความถูกต้องครบถ้วน
2) ปรากฎการณ์สื่ออยู่ในโครงสร้างความเป็นเจ้าของ ดังนั้นควรมีความเป็นมืออาชีพ ระหว่างความเป็นเจ้าของกับห้องข่าว และการมีกรอบจรรยาบรรณจะช่วยเป็นกรอบคุ้มกันตนเองได้อย่างดี
3) ปรากฎการณ์ใช้สื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองเช่น PTV , ASTV , หรือ DTV
4) Online ทำให้การสื่อสารกว้างขึ้น บล็อคต่าง ๆ ทำให้การสื่อสารชัดเจน และ web board ต่างๆ เพื่อการเมืองหรือเพื่ออะไรก็ตาม ซึ่งทั้งหลายเหล่านี้จรรยาบรรณเป็นสิ่งสำคัญ
5) เสรีภาพของสื่อมวลชน เช่นการล่วงละเมิดแบบข้ามชาติ ควรมีการฟ้อง ECHR (สิทธิมนุษยชนยุโรป) แต่ต้องมีการทำตามจริยธรรมที่ถูกต้องแล้วถึงจะฟ้องร้องกันได้
ดังนั้นเมื่อสื่อได้รับความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ซึ่งไม่มีธุรกิจใดๆ ได้รับความคุ้มครองเช่นนี้ เมื่อได้รับสิทธิ์แล้ว ก็ต้องใช้สิทธิ์อย่างถูกต้องด้วย นอกจากนี้ควรเน้นกลไกการบังคับใช้จริยธรรมดังกล่าว แต่โดยภาพรวมการบังคับให้สื่อปฏิบัติตามจริยธรรมเป็นสิ่งที่ยาก เพราะไม่มีบทลงโทษเป็นกฎหมายจึงยากที่จะควบคุม ดังนั้นเมื่อ ส.ส.ท. มีข้อบังคับและจรรยาบรรณวิชาชีพก็ควรต้องประชาสัมพันธ์ให้รู้ถึงช่องทางร้องเรียนมากยิ่งขึ้น
นายปรีดา เตียสุวรรณ์ ที่ปรึกษาเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สรุปสาระสำคัญได้คือ
ถ้ามองในแง่นักธุรกิจที่มองสื่อ ก็คือ มีความต้องการให้สื่อมีรายได้ที่มากขึ้น เพื่อให้สื่อสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง และจะทำให้มุ่งรักษาจริยธรรมกันมากขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ควรไรสื่อก็ควรมีความรับผิดชอบ สื่อส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับคนรวย และถ่ายทอดให้เห็นว่าคนรวยคือคนดี บางครั้งเราเลือกคนรวยเข้ามาทำงานเพื่อประเทศชาติ เพราะจะได้ไม่หาผลประโยชน์อีก แต่กลับยิ่งเข้ามาสร้างฐานอำนาจให้กับตัวเองมากขึ้น แต่สื่อควรสะท้อนให้เห็นว่าคนรวยควรจะต้องสร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับสังคมมากกว่ามาตักตวงผลประโยชน์ ดั่งเช่นนักธุรกิจที่ทำประโยชน์เพื่อสังคมที่แท้จริงอย่าง Bill Gates และ Warren Buffett
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
อรณัฐรัฐ (ปุ๊กกี้) ทีวีไทย
02-791-1578 , 081-901-0555