ภัยร้ายจาก “อารมณ์” แปรปรวนสองขั้ว

ข่าวทั่วไป Friday February 13, 2009 14:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.พ.--มายแบรนด์ เอเจนซี่ โดย นพ.โกวิทย์ นพพร จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไบโพล่าร์ โรงพยาบาลมนารมย์ ในยุคแห่งการสื่อสารข้อมูลข่าวสารนี้ เชื่อว่าน้อยคนจะไม่เคยได้ยินคำว่าไบโพล่าร์ และคงมีหลายคนที่รู้จักโรคนี้ดีพอควร บทความสั้นๆ นี้จะขอทำหน้าที่เป็นบทโหมโรงสำหรับท่านที่ยังไม่รู้จัก ตลอดจนอาจตอบคำถามบางประการที่มีในใจของท่านที่พอจะรู้จักบ้างแล้ว ไบโพล่าร์ มาจากคำว่า “bi” แปลว่าสอง และ “polar” ที่แปลว่า ขั้ว รวมแล้วก็แปลว่าโรคสองขั้ว และสิ่งที่ถูกแบ่งเป็นสองขั้วก็คือ อารมณ์ คำที่ใช้เป็นทางการในภาษาไทยคือ “โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว” ซึ่งฟังแล้วให้ความรู้สึกว่าคนที่เป็นนี้มีอารมณ์คุ้มดีคุ้มร้าย ประเดี๋ยวดูดี อีกประเดี๋ยวก็กลายเป็นยายแม่มด แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ถ้าเช่นนั้นอารมณ์แปรปรวนสองขั้วมีลักษณะเป็นอย่างใร ...... ขอทำความเข้าใจกันก่อนว่า คำว่า อารมณ์ นั้น เราหมายถึงพื้นอารมณ์ซึ่งมีอยู่สองแบบคือ สุขารมณ์ และ ทุกขารมณ์ สุขารมณ์ได้แก่ อารมณ์สดชื่น รู้สึกสุข มองโลกในแง่ดี ซึ่งตรงข้ามกับทุกขารมณ์ พื้นอารมณ์ทั้งสองแบบนี้เชื่อว่าทุกท่านรู้จักดี โดยปกติพื้นอารมณ์เราไมได้ราบเรียบเหมือนแผ่นกระจก แต่มันกระเพื่อมขึ้นลงเหมือนระลอกคลื่นบนผิวน้ำ เราจึงรู้สึกสุขบ้างทุกข์บ้างตามภาวะแวดล้อม แต่การขึ้นลงของอารมณ์มีพิกัดที่เรายอมรับว่าเป็นพิกัดปกติอยู่ คนที่เป็นโรคคือคนที่อารมณ์ขึ้นลงเกินพิกัดปกติมาก และนานเกินกว่าจะอธิบายด้วยเหตุจากสภาวะที่มากระทบ ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าอาการที่สำคัญของโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้วคือ มีความรู้สึกสุขมาก หรือ ทุกข์มากเกินไป นานเกินไป เช่น นานเป็นอาทิตย์ๆ หรือ เป็นเดือนๆ โดยไม่มีเหตุผลจนมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนคนนั้น หรือบุคคลรอบข้าง อารมณ์สุขถึงขั้นที่เราเรียกว่า “คึก” หรือทุกข์ขั้นที่เรียกว่า “เศร้า” นั้น อาจเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นคนละช่วงเวลากัน คนที่เป็นโรคจะมีอาการคึก อาการเศร้า และช่วงเวลาที่มีอารมณ์ปกติสลับกันไปมา ถ้ามีช่วงปกติสั้นก็แปลว่าคนคนนั้นมีการกำเริบของโรคถี่กว่าคนที่มีอารมณ์ปกติอยู่ได้นาน ในระยะคึก ผู้ป่วยมีอารมณ์ดีมาก พูดเก่ง คุยเก่ง แต่มักคุยไม่จบเรื่องเพราะความคิดวิ่งเร็วเกินไป มักคิดว่าตนเองมีความสามารถเหนือคนอื่น อารมณ์ที่ดีก็กลายเป็นฉุนเฉียว ก้าวร้าว เพราะถูกขัดใจ ผู้ป่วยหลายคนใช้เงินเก่ง ช้อปกระหน่ำ เล่นการพนัน หรือแม้แต่หาการหาเรื่องชกต่อย บ้าพลัง ซึ่งอาจจะถูกทำร้ายร่างกาย พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนแต่นำความวิบัติมาสู่ชีวิตได้ ในทางกลับกัน ระยะเศร้าจะมีลักษณะต่างๆ ตรงข้ามกับระยะคึก ผู้ป่วยรู้สึกไม่สดชื่น เศร้า ท้อแท้ ความคิดไม่แล่น ไม่อยากทำอะไร บางครั้งก็ฉุนเฉียวหงุดหงิด เพราะมีแต่ความรู้สึกลบกับชีวิต หนักๆ เข้าก็คิดอยากตาย จนถึงขั้นฆ่าตัวตาย แต่สิ่งที่เหมือนกันระหว่างคึกกับเศร้า คือ นอนไม่หลับอย่างมาก ซึ่งมักเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์ หรือติดยาเสพติดในเวลาต่อมา โดยพื้นฐานแล้วอารมณ์ของคนปกติทั่วไปนั้นจะมีอาการเศร้าเนื่องจากได้รับผลกระทบจางด้านจิตใจ หรือการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปนั้น โดยปกติแล้วจะมีระยะเวลา 1-6 เดือน ถ้าหากเกินกว่านั้นถือว่าเข้าข่ายผิดปกติ ซึ่งบุคคลรอบข้างหรือใกล้ชิดควรหมั่นสังเกตอาการของคนในครอบครัว สาเหตุของโรค โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้วไมได้มีอาการชัดๆแบบนี้ทุกคน แถมยังไม่มีการทดสอบห้องปฏิบัติการมาช่วย บางครั้งจึงทำให้วินิจฉัยยากมาก แต่ยังโชคดีที่ปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์ได้ทำให้โรคนี้เป็นโรคที่สามารถบำบัดให้กลับเป็นปกติได้ การสังเกตอาการแต่เนิ่นๆ และยอมรับการรักษาอย่างจริงจังจากผู้ป่วยและคนใกล้ชิดจัดเป็นหัวใจสำคัญของการรักษาโรคนี้ สาเหตุของโรคไบโพล่าร์แท้จริงแล้วเกิดจากความผิดปกติทางสมองเนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี โดยสารเคมีที่เป็นตัวควบคุมเกี่ยวกับเรื่องของอารมณ์มีความเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจจะถ่ายทอดได้จากพันธุกรรม ส่วนเรื่องของปัจจัยภายนอกทางด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆนั้นจะเป็นตัวเร่งทำให้ภาวะของโรคเกิดและเห็นได้เร็วขึ้น เช่น ภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เพราะทำให้เกิดความเครียดทำให้อาการของโรคปรากฏออกมา การป้องกันรักษา สำหรับวิธีการป้องกันและรักษานั้นในปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ เพราะต้นตอของโรครู้ได้ชัดว่าเกิดจากปัจจัยทางชีววิทยาทางด้านสารเคมีในสมอง เมื่อทราบว่าสารเคมีตัวไหนขาดหรือมีมากเกินไปแพทย์ก็จะแก้ไขตรงจุดโดยให้ยาไปควบคุมสารเคมีตัวนั้นกับผู้ป่วย นอกจากนั้นก็อาศัยวิธีการรักษาด้วยการใช้กิจกรรมบำบัด โดยแพทย์จะให้ความมั่นใจกับผู้ป่วยว่าถ้าหากมีวินัยในการรักษาและทานยาอย่างสม่ำเสมอก็จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ในบางรายที่มีอาการหนักก็อาจจะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เป็นพิเศษ ทั้งนี้ควรหมั่นสำรวจตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่ามีความเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์หรือไม่ ถ้าเกิดไม่แน่ใจว่าบุคคลในครอบครัว ญาติ เพื่อนร่วมงาน คนใกล้ชิด หรือตัวท่านเองมีความผิดปกติที่จะเข้าข่ายเป็นโรคไบโพล่าร์หรือไม่ ก็สามารถเข้ารับฟังการบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อ “อารมณ์สองขั้ว รู้ก่อนแก้ไขได้” โดย นพ.โกวิทย์ นพพร จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคไบโพล่าร์ ในวันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องประชุมโรงพยาบาลมนารมย์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร 02-725-9595 มายแบรนด์ เอเจนซี่ เบอร์โทรศัพท์ : 028643900

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ