ดัชนีอุตฯ ม.ค. ปรับตัวขึ้นรับศักราชใหม่..!! ผู้ประกอบการแนะรัฐเร่งฟื้นความเชื่อมั่นกระตุ้นกำลังซื้อ

ข่าวทั่วไป Thursday February 19, 2009 13:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนมกราคม 2552 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,301 ตัวอย่าง ครอบคลุม 39 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ ว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 64.1 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนธันวาคม 2551 ที่ระดับ 62.9 เป็นผลมาจากภาวะการเมืองในประเทศที่คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐบาลในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา อีกทั้งผลดีจากการปรับขึ้นของเงินเดือนและโบนัสประจำปีของสถานประกอบการต่างๆ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มมีทิศทางดีขึ้น ทำให้มียอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เริ่มกลับเข้ามา ส่งผลให้ปริมาณการผลิต และผลประกอบการจึงปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 74.5 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2551 ที่อยู่ในระดับ 71.9 เนื่องจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเริ่มมีความเชื่อมั่นในนโยบายและมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และสถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ยังเป็นระดับที่ต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (2551) ที่อยู่ในระดับ 102.6 แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อเศรษฐกิจในอนาคตทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนปัญหาการเมืองในอนาคต ด้านดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามขนาดของกิจการ พบว่า อุตสาหกรรมขนาดย่อม และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยสาเหตุสำคัญมาจากปัญหาการเมืองที่เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้มียอดคำสั่งซื้อ ยอดขายทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศเริ่มกลับมาฟื้นตัว ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดกลาง พบว่า มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการที่ลดลง ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามรายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ภาคกลาง และภาคใต้ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากลูกค้าทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศเริ่มมีความเชื่อมั่นและกลับมาสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากตลาดต่างประเทศที่เริ่มกลับเข้ามา ส่วนภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับตัวลดลงโดยได้รับผลกระทบจากยอดคำสั่งซื้อที่ลดลง เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มฤดูกาลเพาะปลูก ส่งผลให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายลง ขณะที่ภาคตะวันออก ปรับตัวลดลง เนื่องจากอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก จึงทำให้ยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจําแนกตามการส?งออก พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศอยู่ในลักษณะทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนที่ผ่านมา ขณะที่กลุ่มที่เน้นตลาดส่งออก ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากมียอดคำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศที่เริ่มกลับมาอีกครั้ง ทั้งนี้ สภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ พบว่า อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อัตราแลกเปลี่ยน และสถานการณ์ทางการเมือง เริ่มมีสัญญาณเชิงบวกต่อการดำเนินกิจการมากขึ้น ส่วนภาวะเศรษฐกิจโลกนั้น ยังคงสร้างความกังวลต่อกิจการอย่างต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยด้านราคาน้ำมัน เริ่มส่งสัญญาณเชิงลบต่อการดำเนินกิจการ ในส่วนของข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต่อภาครัฐ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ต้องการให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมานั้น เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย การลงทุน และฟื้นความเชื่อมั่นในระดับต่อไป และมีความเห็นสอดคล้องกันว่าภาครัฐควร สร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมือง เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศในการลงทุน สนับสนุนให้สถาบันการเงินพิจารณาปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้น เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องของกิจการ สนับสนุนมาตรการทางภาษี เช่น การลดอัตราภาษีนำเข้าวัตถุดิบ การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และมาตรการอื่นๆ เช่น การลดเงินสมทบของประกันสังคม เป็นต้น ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ โดยระดับที่ 33-35 บาท ยังคงส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมส่งออก มีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือสวัสดิการต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพของแรงงาน ตลอดจนหามาตรการป้องกันและแก้ไขแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ช่วยควบคุมดูแลเรื่องราคาน้ำมัน และราคาวัตถุดิบไม่ให้สูงเกินไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โทร. 0-2345-1017 โทรสาร 0-2345-1296-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ