แถลงข่าวเรื่อง การถอนสารกำมะถัน(SULFUR) ออกจากบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย

ข่าวทั่วไป Thursday February 19, 2009 16:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--ส.อ.ท. กรณีที่ได้มีข่าวที่กระทรวงอุตสาหกรรมทำการถอนสารกำมะถัน (SULFUR) ออกจากบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย ทั้งที่คดีอยู่ในระหว่างการสอบสวนของ DSI และกรมศุลกากร ตลอดจนมีการเสนอความคิดเห็นและข้อมูลข่าวสาร ซึ่งสร้างความสับสนให้กับสาธารณะชนนั้น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ขอเรียนชี้แจง ดังนี้ 1. กำมะถัน มีทั้งแบบละลายน้ำและไม่ละลายน้ำ โดยกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย ควบคุมเฉพาะกำมะถันชนิดละลายน้ำที่จะนำไปใช้ในการเกษตรเพื่อป้องกันเชื้อราตั้งแต่ ปี 2538 2. ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา, อินเดีย, อินโดนีเซีย, จีน ฯลฯ ไม่ได้ขึ้นบัญชีสินค้ากำมะถันเป็นวัตถุอันตราย จึงไม่ต้องขออนุญาตในการนำเข้าแต่อย่างใด 3. กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศกระทรวง เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 5) ปี 2549 ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2549 โดยกำหนดให้กำมะถัน ที่ใช้ในอุตสาหกรรม(ทั้งแบบละลายน้ำและไม่ละลายน้ำ) เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 จึงทำให้ผู้นำเข้า, ผู้ส่งออก และผู้มีไว้ครอบครอง ต้องยื่นจดทะเบียนและขออนุญาตนำเข้าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4. ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ประกาศฉบับที่ 5 มีผลบังคับใช้ ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมทั้งหลาย ยังคงนำเข้ากำมะถันอย่างสม่ำเสมอ โดยกำมะถันที่นำเข้ามาได้รับยกเว้นอากรขาเข้า(ภาษี 0 %) จึงไม่มีเหตุจูงใจสำหรับผู้ประกอบการในการหลีกเลี่ยงการแจ้งขออนุญาตนำเข้า ตลอดจนผู้ประกอบได้ผ่านขั้นตอนตามพิธีการศุลกากรอย่างที่เคยปฎิบัติเป็นเวลามากกว่า 2 ปี ซึ่งกรมศุลกากรยังคงให้การนำเข้า โดยไม่มีการทักท้วงแต่ประการใด 5. ในเดือนกันยายน 2551 (กว่า 2 ปี หลังประกาศมีผลบังคับใช้)ทางเจ้าหน้าที่ DSI และกรมศุลกากรจึงเริ่มทำการตรวจค้น และยึดเอกสารจากสถานประกอบการ โดยกล่าวหาว่าผู้ประกอบการนำเข้าสินค้ามาอย่างผิดกฏหมายและมีโทษปรับสูงสุด 4 เท่าของมูลค่าสินค้า คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณหมื่นล้านบาท โดยเจ้าหน้าที่จะได้รับส่วนแบ่งสินบนนำจับ ร้อยละ 40 ของมูลค่าปรับหมื่นล้านบาทดังกล่าว หากผู้ประกอบถูกดำเนินคดีจนถึงที่สุด และต้องชำระค่าปรับจำนวนดังกล่าว จะทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการ อาจต้องปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่น บรรยากาศการลงทุน และภาพลักษณ์ของประเทศชาติ 6. หลังจากที่ทางกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ทราบถึงผลกระทบและความเดือดร้อนอันเกิดจากความไม่ชัดเจนของประกาศฉบับที่ 5 จึงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น โดยมีหนังสือชี้แจงไปยังหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องว่ากำมะถันที่ใช้ในอุตสาหกรรม ที่ถือเป็นวัตถุอันตรายต้องมีคุณสมบัติเป็นของแข็ง(ไม่ละลายน้ำ) และมีความเข้มข้นมากกว่า 80 % เท่านั้น ไม่ใช่กำมะถันทุกประเภท แต่ปัญหาดังกล่าวยังไม่คลี่คลาย และเพื่อเป็นการแก้ปัญหาให้ถูกต้องสมตามเจตนารมย์ที่ต้องการควบคุมเฉพาะกำมะถันที่ละลายน้ำ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงถอนกำมะถันที่ใช้ในอุตสาหกรรม ออกจากบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2552 ลงวันที่ 29 มกราคม 2552 7. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ร่วมแก้ไขปัญหาอย่างเป็นธรรมและถูกต้องโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ และเพื่อให้ประชาชนหรือผู้สนใจทั่วไป ไม่เกิดความสับสนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ทาง ส.อ.ท.จึงขอเสนอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมเสนอข้อคิดเห็นผ่านเวทีสาธารณะมากกว่าการให้ข่าวเพียงด้านเดียว ทางสภาอุตสาหกรรมขอขอบพระคุณกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เข้าใจและตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหาข้างต้นของผู้ประกอบการ และได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศ โดยพยายามแก้ไขปัญหาให้ลุล่วง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ