บัวหลวงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2550 ขยายตัวร้อยละ 3 —4 ลดลงจากร้อยละ 4.3 ในปี 2549

ข่าวทั่วไป Wednesday September 13, 2006 17:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--ธ.กรุงเทพ
เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2548 จากราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ประกอบกับปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2549 ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงต่อเนื่องในปี 2549 สำหรับปี 2550 แม้ว่าราคาน้ำมันมีทิศทางที่จะมีเสถียรภาพมากขึ้นและความสับสนทางการเมืองมีแนวโน้มที่จะคลี่คลายลงจากการเลือกตั้ง แต่จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจภายนอกประเทศโดยเฉพาะเศรษฐกิจหลักของโลกได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นที่มีทิศทางที่จะชะลอตัวลงอย่างชัดเจนจากนโยบายการเงินการคลังที่รัดตัวในกรณีญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป ส่วนในกรณีประเทศสหรัฐฯ ฟองสบู่ที่อยู่อาศัยที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2545 ได้เข้าสู่ภาวะขาลงอย่างชัดเจน ซึ่งอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดไว้ตั้งแต่ต้น จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลักของโลกทำให้ประเมินได้ว่าการส่งออกที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2549 จะมีทิศทางที่ชะลอตัวลงในปี 2550 ลงตามและทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2550 จะมีอัตราการขยายตัวที่ลดลงจากปี 2549
เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูงในหลายด้านเช่นราคาน้ำมันและปัญหาทางการเมืองของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย และความไม่ชัดเจนทางการเมืองในประเทศไทย ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จึงวิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจปี 2550 ไว้ 2 กรณี คือ
กรณีพื้นฐาน (Base Case) ซึ่งเป็นกรณีที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด ในกรณีนี้แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงแต่ยังคงขยายตัวค่อนข้างดีที่ร้อยละ 4.0 ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 4.9 ในปี 2549 การที่เศรษฐกิจโลกยังคงขยายตัวค่อนข้างดีเนื่องจากมีสมมติฐานว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯแม้ว่าจะชะลอตัวลงแต่ยังคงขยายตัวได้ในระดับค่อนข้างสูงที่ร้อยละ 2.7 จากการที่สาขาที่อยู่อาศัยชะลอตัวลงอย่างช้าๆ (Soft Landing) ในขณะที่เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นขยายตัวลดลงไม่มากนักจากปี 2549 ตลอดจนเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกและอินเดีย ยังคงขยายตัวค่อนข้างสูง สถานการณ์ของเศรษฐกิจดังกล่าวจะทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 สำหรับปัญหาการเมืองในประเทศ ในกรณีนี้สมมติว่า สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในต้นปี 2550 และมีการใช้จ่ายงบประมาณลงทุนตามปกติตั้งแต่กลางไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 เป็นต้นไป
กรณีที่เศรษฐกิจทรุดตัวลงมากกว่าที่คาดไว้ (Pessimistic Case) ในกรณีนี้สมมติว่าเกิดการแตกของฟองสบู่ที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯค่อนข้างรุนแรงส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวลงมากโดยขยายตัวเพียงร้อยละ 1 ส่งผลต่อเนื่องให้เศรษฐกิจหลักอื่นๆได้แก่สหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและจีนชะลอตัวลง แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงมากแต่ก็น่าจะส่งผลดีที่ทำให้ราคาน้ำมันลดลงในระดับหนึ่งและส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ประเมินว่าในกรณีพื้นฐานเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในปี 2550 ประมาณร้อยละ 3 — 4 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2544 การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพียงร้อยละ 4.2 และ 3.3 ตามลำดับ ลดลงจากร้อยละ 5.0 และ 3.7 ในปี 2549 ปัญหาการเมืองและการล่าช้าในการจัดทำงบประมาณทำให้การลงทุนและการบริโภคภาครัฐขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 2 สำหรับด้านต่างประเทศ การส่งออกและนำเข้าคาดว่าจะชะลอตัวลง โดยขยายตัวร้อยละ 9.8 และ 8.7 ตามลำดับ ลดลงจากที่คาดไว้ว่าจะขยายตัวร้อยละ 13.4 และ 8.9 ในปี 2549 ตามลำดับ แม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงแต่เศรษฐกิจจะมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยดุลการค้าขาดดุลลดลงเหลือ 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 0.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากที่คาดว่าจะขาดดุล 4.5 และเกินดุล 0.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯตามลำดับในปี 2549 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อลดลงจากร้อยละ 4.7 ในปี 2549 เหลือร้อยละ 2.5 — 3.5 ใกล้เคียงกับปี 2547
ในกรณีที่เศรษฐกิจทรุดตัวลงมากกว่าที่คาดไว้นั้น เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2 — 3 โดยการบริโภคและการลงทุนขยายตัวเพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ 3 และ 2.3 ตามลำดับ ในขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะหดตัวลงร้อยละ 1.5 การส่งออกขยายตัวในอัตราต่ำมากที่ร้อยละ 0.5 ขณะที่การนำเข้าหดตัวลงร้อยละ 0.8 ทำให้ดุลการค้าขาดดุลเพียง 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุล 2.1 พันล้านดอลลาร์ และอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.5 — 2.5

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ