ทีวีไทย ร่วมมือ เอแบค โพลล์ จัดทำเครื่องมือวัดระดับความนิยมการชมรายการ (Rating)

ข่าวทั่วไป Thursday February 26, 2009 16:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--ส.ส.ท ทีวีไทย ร่วมมือ เอแบค โพลล์ จัดทำเครื่องมือวัดระดับความนิยมการชมรายการ (Rating) เชิงคุณภาพ ตั้งเป้า พัฒนาคุณภาพทีวีไทย สนองประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552 องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท) ได้ลงนามสัญญาร่วมกับศูนย์วิจัยเอแบค นวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในการจัดทำโครงการศึกษาและจัดทำเครื่องมือวัดระดับความนิยม (Rating) การชมรายการของสถานี เพื่อรวบรวมข้อมูลมาพัฒนาคุณภาพรายการของสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย นายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. กล่าวว่า “การจัดทำโครงการศึกษาและจัดทำเครื่องมือวัดระดับความนิยม (Rating) ในครั้งนี้ เป้าหมายหลักคือเพื่อให้ได้เครื่องมือซึ่งวัดได้ว่า ผู้ชมมีความรู้สึกและมีความเห็นอย่างไรต่อรายการที่ทีวีไทยออกอากาศและต้องการให้ปรับปรุงอะไร ซึ่งนั่นเป็นหัวใจสำคัญที่สุด ที่จะทำให้ ทีวีไทย ผลิตรายการที่ตอบสนองความต้องการของผู้ชมอย่างแท้จริง สื่อสาธารณะ มีบทบาทและภารกิจที่แตกต่างจากสื่อทั่วไป คือไม่ได้มุ่งให้มีรายได้สูงสุด หรือทำกำไรจากการผลิตรายการ ดังนั้น การสำรวจความเห็นผู้ชม เพื่อตอบคำถามทางการตลาดของกลุ่มธุรกิจผู้ผลิตสินค้า และบริการจึงไม่ใช่เป้าหมายหลักของเรา แต่เราต้องการรู้ว่าทีวีไทย มีส่วนช่วยผลักดัน ขับเคลื่อนสังคมและเป็นประโยชน์ต่อผู้ชมในการนำสาระความรู้และความบันเทิงที่ได้ไปใช้อย่างไร ทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้นอย่างไร เป็นต้น วิธีวิจัยเชิงปริมาณ การวัด rating ที่ดูจำนวนตัวเลข และพฤติกรรมผู้ชมรายการเพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ ผมเชื่อว่าเครื่องมือวิจัยที่เอแบคจะพัฒนาให้สามารถวัดข้อมูลได้ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพซึ่งถือเป็นครั้งแรกๆ ของวงการโทรทัศน์ไทย จะช่วยให้เราได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนารายการของทีวีไทยต่อไปในอนาคต ที่สำคัญ ผมหวังว่าจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเครื่องมือในครั้งนี้ จะทำให้ส.ส.ท.มีเครื่องมือที่ใช้วัดความนิยมรายการในเชิงคุณภาพ มีคุณค่าต่อสังคม และเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างแท้จริง” ดร. นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า “มั่นใจว่านี่เป็นก้าวย่างสำคัญของการวัดความนิยมรายการโทรทัศน์ที่แสดงให้เห็นถึง นวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ของการวัดระดับความนิยมรายการโทรทัศน์ของประเทศไทย เพราะแตกต่างไปจากการวัดระดับความนิยมรายการโทรทัศน์เชิงพาณิชย์ทั่วไปหลายประการ ประการแรก เป็นการวัดระดับความนิยมเชิงคุณภาพของทีวีไทยที่สามารถสะท้อนมิติเชิงปริมาณได้จากการศึกษาวิจัยในโครงการเดียวกัน ประการที่สอง เป็นการนำเทคโนโลยีสื่อสารมาใช้ในนวัตกรรมทางเลือกการวิจัยเชิงสำรวจที่รวดเร็วฉับไว โดยประมาณ 3 ชั่วโมงหลังจบรายการโทรทัศน์นั้นๆ จะทราบจำนวนผู้ชมรายการโทรทัศน์ที่เป็นตัวแทนประชาชนทางสถิติระดับครัวเรือนทั่วประเทศ ภายใต้ระเบียบวิธีวิจัย “เอแบคเรียลไทม์โพลล์” และประการที่สาม เป็นการศึกษาวิจัยระดับความนิยมที่ครอบคลุมทั้งกลุ่มประชาชนทั่วไป และกลุ่มประชากรเป้าหมายที่หายากในระดับพื้นที่ของแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ สำหรับสิ่งที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทีวีไทยจากการวิจัยครั้งนี้ คือ ผลการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณที่เป็นระบบ ถูกต้อง รวดเร็ว มีความเป็นวิชาการตรวจสอบได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์และหลักสถิติ เสนอต่อคณะผู้บริหารทีวีไทย หรือ ส.ส.ท. ประกอบการพิจารณาตัดสินใจกับแหล่งความเป็นจริงอื่นๆ เพื่อปรับปรุงแก้ไขและรักษาไว้ซึ่งคุณภาพที่ดีของการจัดทำรายการโทรทัศน์สาธารณะ ที่มุ่งตอบสนองความนิยมและพฤติกรรมชมรายการโทรทัศน์ของคนส่วนใหญ่และชนกลุ่มน้อยของประเทศ ด้วยการส่งผ่านข้อมูลวิจัยสู่การชี้แนะ นำพาสังคมไทยสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน และความรักความสามัคคีของคนในชาติ” ผอ.ศูนย์วิจัยเอแบคฯ กล่าว ส.ส.ท.ได้ประกาศเชิญชวนหน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมเสนอโครงการวิจัยเพื่อรับคัดเลือก ระหว่างวันที่ 19 พ.ย.- 17 ธ.ค. 2551 มีผู้ส่งผลงานทั้งสิ้น 15 รายทั้งจากสถาบันวิจัยเอกชนและหน่วยงานวิชาการในมหาวิทยาลัยต่างๆ ผ่านกระบวนการคัดเลือกรอบแรก เหลือ 4 ราย คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภายในและภายนอกองค์การได้ตัดสินครั้งสุดท้ายมีมติเป็นเอกฉันท์ คัดเลือกศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ให้ผ่านการพิจารณา เนื่องจากมีประสบการณ์ด้านงานวิจัยและงานวิชาการได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป และนำเสนอวิธีการวิจัยซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของส.ส.ท.ที่มุ่งประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม และดาว์นโหลดข้อมูลที่ www.thaipbs.or.th สอบถามเพิ่มเติม อรณัฐรัฐ ประชาสัมพันธ์ 0-2791-1578

แท็ก นวัตกรรม   ส.ส.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ