‘animation says Hi!’ ปูพื้นฐานวัยใส ก้าวจากโลกจินตนาการ ทะยานสู่โลก ‘แอนิเมเตอร์’ มืออาชีพ

ข่าวทั่วไป Tuesday February 22, 2005 11:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--กันตนา กรุ๊ป
“หลายคนคงเคยได้ยิน เวลามีใครเล่าอะไรเกินจริงไปสักหน่อย มักจะมีเสียงพูดตามมาว่า พูดเป็นหนังการ์ตูนไปได้ เพราะหนังการ์ตูนหรือที่เรียกเต็มๆ ว่า ภาพยนตร์แอนิเมชั่น เป็นสื่อที่สามารถสร้างจินตนาการได้อย่างอิสระ จนพูดได้ว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ในโลกแห่งแอนิเมชั่น” นี่เป็นบทความส่วนหนึ่งในหนังสือเรื่อง animation says Hi! “สวัสดีแอนิเมชั่น” ของบริษัท กันตนา พับลิชชิ่ง จำกัด ที่เขียนโดย จรูญพร ปรปักษ์ประลัย ครีเอทีฟ และผู้เขียนบทให้กับแอนิเมชั่นซีรี่ส์ชุด “ซน 100%” และเป็นหนึ่งในทีมเขียนบทสุดยอดภาพยนตร์แอนิเมชั่น 3 — D เรื่อง “ก้านกล้วย” ควบด้วยตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนกันตนา แอนิเมชั่น สคูล
ทุกวันนี้ กระแสภาพยนตร์แอนิเมชั่นกำลังมาแรง เยาวชนไทย และบรรดาวัยรุ่นไทยหลายต่อหลายคนต่างก็ให้ความสนใจและอยากจะกระโดดเข้ามาทำแอนิเมชั่น ใฝ่ฝันอยากเป็นแอนิเมเตอร์มืออาชีพกันเป็นแถว แต่ปัญหาคือจะเริ่มอย่างไรดี ซึ่งทุกคำถามที่แอนิเมเตอร์ทุกคนต้องรู้อย่าง ทำยังไงให้ไอเดียเกิด? ทรีตเมนต์แบบไหนที่ฮอลลีวู้ดยอมรับ? สร้างตัวละครอย่างไรให้คนจดจำ? บทแอนิเมชั่นที่ดีมีองค์ประกอบอย่างไร? ใช้ภาพแบบใดให้แทนคำพูด? วางภาพอย่างไรให้มีศิลปะ? เสียงกับแอนิเมชั่นสัมพันธ์กันอย่างไร? อะไรคือบาร์ชีต เอ็กซ์ชีต? แรงดึงดูด ความยืดหยุ่น เกี่ยวข้องอย่างไรกับแอนิเมชั่น? Story reel คืออะไร? เครื่องมือแอนิเมเตอร์ที่ดีมีอะไรบ้าง? และอีกหลายๆ คำถามนั้น มีคำตอบไว้แล้วในหนังสือ animation says Hi! “สวัสดีแอนิเมชั่น”
น้องๆ หลายคนถามว่า ทำไมภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องหนึ่ง ถึงต้องใช้เวลาตั้งสามสี่ปี เหตุผลง่ายๆ คือ ความยากของการทำแอนิเมชั่น เพราะหลักการของการทำแอนิเมชั่น คือ การนำภาพมาเรียงต่อกันทีละภาพ โดยใน 1 วินาทีต้องใช้ภาพถึง 24 ภาพ ดังนั้น ภาพยนตร์ความยาวเรื่องละ 80 นาที ต้องใช้ภาพเป็นแสนๆ ภาพ ซึ่งนี่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างภาพเคลื่อนไหวเท่านั้น แต่ขั้นตอนการทำงานแอนิเมชั่น มีมากกว่านั้น หากไล่เรียงตามลำดับแล้ว เส้นทางการทำงานจะเริ่มตั้งแต่ “ปิ๊งไอเดีย” โดยจะเราต้องมีเรื่องที่เหมาะสมกับงานแอนิเมชั่น ซึ่งสามารถค้นคว้ามาจากเรื่องที่เราได้อ่านได้ฟังมา หรือ คิดขึ้นมาด้วยมันสมองของเราเอง อาจเริ่มจากสร้างตัวละครขึ้นมา จากนั้นจึงกำหนดสถานการณ์ให้ตัวละครต้องเจอะเจอ
หลังจากเราได้ไอเดียแล้ว ก็ต้องขยายไอเดียนั้น ให้กลายเป็น “บทดีๆ” สำหรับงานแอนิเมชั่น โดยบทนั้นจะต้องอธิบายอย่างละเอียด เขียนเนื้อหาใส่ไว้ให้ครบถ้วน จุดเด่นของบทสำหรับงานแอนิเมชั่น คือ อิสระที่คิดฝันไปได้ไกลชนิดไร้ขีดจำกัด ซึ่งเมื่อได้บทแล้ว ขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่ง คือ “แปรบท เป็นภาพ” โดยการวาดสตอรีย์บอร์ด เพื่อให้เป็นแนวทางสำหรับการดำเนินเรื่อง ซึ่งสิ่งที่ควรจำคือ งานแอนิเมชั่นเป็นการเล่าเรื่องด้วยภาพ อย่าเล่าเรื่องโดยใช้คำพูดของตัวละครเป็นหลัก แต่ให้ใช้การเคลื่อนไหวของตัวละคร และ “ออกแบบให้โดดเด่น” เนื่องจากภาพจะเป็นสิ่งแรกที่ดึงดูดความสนใจของคนดู เพราะฉะนั้น ต้องมีความแปลกใหม่ สวยงาม และมีแนวทางที่โดดเด่นเป็นของตัวเอง ก่อนจะถึงขั้นตอนการสร้างภาพเคลื่อนไหว เราจะต้องบันทึกเสียงตัวละครและตัดต่อเสียงก่อนทุกครั้ง เนื่องจากเสียงของนักแสดงจะเป็นตัวกำหนดการเคลื่อนไหว และเป็นแนวทางในการทำงานของแอนิเมเตอร์ จากนั้นจะเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลามากที่สุด คือ “การสร้างภาพเคลื่อนไหว”ซึ่งมีกฎที่สำคัญคือ ต้องใช้ภาพ 24 ภาพต่อการเคลื่อนไหว 1 วินาที โดยเราต้องรู้จักออกแบบการเคลื่อนไหวให้ดูสนุกสนานและน่าสนใจ ทั้งนี้ เมื่อเราได้ภาพทั้งหมดแล้วจึงนำมาตัดต่อ จนเป็นงานภาพ ที่สามารถเล่าเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบได้อย่างลื่นไหล ให้ความสนุกสนาน เร้าอารมณ์และมีพลังที่จะนำไปสู่แนวคิดหลักของเรื่อง จากนั้นจึงเพิ่มเติมในส่วนของเสียง ทั้งเสียงบรรยากาศ เสียงเอฟเฟ็กส์ต่างๆ รวมทั้งเสียงดนตรี จนงานทั้งหมดเสร็จเรียบร้อย สมบูรณ์แบบทั้งภาพและเสียง
หนังสือ animation says Hi! “สวัสดีแอนิเมชั่น” ของบริษัท กันตนา พับลิชชิ่ง จำกัด มีเคล็ดลับที่เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสรรค์ ผลงานแอนิเมชั่นชั้นเยี่ยม รวมถึงรายละเอียดในแต่ละขั้นตอนที่ลึกลงไปอีกมากมายที่เยาวชนไทยสามารถเรียนรู้ เพื่อปูพื้นฐานความรู้ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งหากใครสนใจสามารถหาซื้อตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไปได้แล้วตั้งแต่วันนี้ หรือสั่งจองได้ที่ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) โทรศัพท์ 0 2739 8000, โทรสาร 0 2739 8356-9
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ : พยุงจิตร โกโสภา
โทรศัพท์ 0 2274 4961-2, 0 2691 6302-4
สามารถคลิกดูภาพได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ