มาตรฐาน BRC ระบบคุณภาพสำหรับธุรกิจค้าปลีกอาหาร

ข่าวทั่วไป Thursday March 5, 2009 12:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--คต. นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาคเอกชนในต่างประเทศได้ กำหนดมาตรฐานใหม่ๆ ซึ่งเริ่มมีความสำคัญและเข้ามามีบทบาทในการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะมาตรฐาน BRC (British Retail Consortium) ซึ่งกำหนดขึ้นโดยกลุ่มผู้ค้าปลีกในอังกฤษ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ได้รวมกลุ่มกันพัฒนามาตรฐาน BRC สำหรับผู้ค้าปลีกเพื่อใช้บริหารจัดการห่วงโซ่การส่งมอบอาหาร (Food Supply Chain) มาตรฐาน BRC เป็นมาตรฐานที่เข้ากันได้ดีกับระบบมาตรฐานสากลอื่นๆ ที่นำมาใช้อยู่แล้วในภาคอุตสาหกรรม เช่น หลักวิธีปฏิบัติที่ดีในการผลิต (Good Manufacturing Practice: GMP) ระบบวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (Hazard Analysis and Critical Control Point : HACCP) มาตรฐานระบบ SQF 2000 (Safe Quality Food) และ ISO 9000 เป็นต้น โดยประเด็นหลักตามข้อกำหนดของมาตรฐาน BRC ประกอบด้วย 6 เรื่องหลักคือ 1. ระบบวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหาร HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point) ได้แก่ ดำเนินการวิเคราะห์อันตราย หาจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม กำหนดค่าวิกฤต กำหนดระบบเพื่อตรวจติดตามการควบคุมจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม กำหนดวิธีการแก้ไข เมื่อตรวจพบว่าจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมเฉพาะจุดใดจุดหนึ่งไม่อยู่ภายใต้การควบคุม กำหนดวิธีการตรวจสอบเพื่อยืนยันประสิทธิภาพการดำเนินงานของระบบ HACCP กำหนดวิธีการจัดเก็บเอกสารและบันทึกข้อมูล 2. ระบบบริหารคุณภาพ (Quality Management System) ได้แก่ นโยบายและคู่มือคุณภาพ โครงสร้างองค์กร ความรับผิดชอบ ผู้มีอำนาจจัดการ การควบคุมเอกสาร ระเบียบวิธีการปฏิบัติงาน การจัดเก็บบันทึกข้อกำหนดผลิตภัณฑ์ การตรวจติดตามภายใน การปฏิบัติการแก้ไข และการประเมินผู้ส่งมอบ 3. มาตรฐานสภาพแวดล้อมโรงงาน (Factory Environment Standards) ได้แก่ ทำเลที่ตั้ง แผนผังและแผนภูมิการผลิต โครงสร้างอาคารโรงงาน เครื่องมือ เครื่องใช้ การบำรุงรักษา สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับพนักงาน ความสะอาดสุขลักษณะ และการขนส่ง 4. การควบคุมผลิตภัณฑ์ (Product Control) ได้แก่ การวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ การคัดแยก การหมุนเวียนสินค้า การตรวจจับโลหะและสิ่งแปลกปลอม และการควบคุมผลิตภัณฑ์ 5. การควบคุมกระบวนการผลิต (Process Control) ได้แก่ การควบคุมอุณหภูมิ เวลา ปริมาณ เครื่องมือ เครื่องใช้ และการตรวจสอบกระบวนการผลิต การสอบเทียบ และการจัดการกับข้อกำหนดพิเศษ 6. บุคคลากร (Personal) ได้แก่ สุขลักษณะส่วนบุคคลในเรื่องการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบ การแปรรูป การบรรจุ การจัดเก็บ การดูแลการเจ็บป่วย อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และผู้ประกอบอาหาร การปฏิบัติตนเมื่อเข้าสู่พื้นที่ประกอบอาหาร ทั้งนี้ รวมถึงผู้เยี่ยมชมโรงงาน และการฝึกอบรม อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่าปัจจุบัน ผู้นำเข้าที่อังกฤษได้แจ้งให้ผู้ผลิตของไทยรับทราบข้อมูล BRC เพื่อปรับตัวและเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการตามข้อกำหนด BRC แล้ว ทั้งนี้ ไทยส่งออกสินค้าอาหารและเกษตรไปสหภาพยุโรปมีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 69,282 ล้านบาท (2549-2551) ในปี 2551 มีมูลค่าส่งออกทั้งสิ้น 83,146 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ18 ที่มา: กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ