ปภ. ประสาน ๔๐ จังหวัดเสี่ยงรับมือพายุฤดูร้อน ๗ - ๑๐ มี.ค. นี้

ข่าวทั่วไป Thursday March 5, 2009 17:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--ปภ. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แจ้งเตือนประชาชนระมัดระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนในช่วงวันที่ ๗-๑๐ มีนาคม ๒๕๕๒ โดยประสาน ๔๐ จังหวัดพื้นที่เสี่ยงพายุฤดูร้อน ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด ๒๔ ชั่วโมงพร้อมจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องจักรในการสนับสนุนให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมทั้งสั่งกำชับให้มิสเตอร์เตือนภัยในพื้นที่เฝ้าระวัง และแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมรับมือพายุฤดูร้อนในช่วงดังกล่าว นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า ในวันที่ ๗-๑๐ มีนาคม ๒๕๕๒ จะมีความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุม ทำให้เกิดการหมุนเวียนของอากาศแปรปรวนขึ้นอย่างรวดเร็วและฉับพลัน อาจส่งผลให้เกิดพายุฤดูร้อนได้ โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ลมกระโชกแรงเพิ่มขึ้น และอาจมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่ โดยจังหวัดที่อาจได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวนในระยะนี้ ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี สระแก้ว นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร หนองคาย เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม มุกดาหาร พิจิตร นครสวรรค์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และพะเยา จึงขอให้จังหวัดศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว แจ้งเตือนเกษตรกรและประชาชนถึงสภาวะอากาศแปรปรวนที่อาจทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง รวมถึงระมัดระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิต ทรัพย์สิน บ้านเรือนของประชาชน รวมถึงพืชผลทางการเกษตรในระยะ ๓-๔ วันนี้ (วันที่ ๗-๑๐ มีนาคม ๒๕๕๒) ผ่านทางวิทยุกระจายเสียงประจำท้องถิ่น เสียงตามสาย หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน และเครือข่ายวิทยุสมัครเล่นในพื้นที่อย่างรวดเร็วและครอบคลุมทุกพื้นที่ ตลอดจนกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด ๒๔ ชั่วโมง จัดเตรียมเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ไว้ให้พร้อมเพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งสั่งกำชับให้มิสเตอร์เตือนภัยที่ประจำอยู่ในหมู่บ้านเสี่ยงภัยเฝ้าระวังและแจ้งเตือนสถานการณ์ภัย เพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อนที่อาจเกิดขึ้นในช่วงดังกล่าว นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า เพื่อเตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อนในช่วงดังกล่าว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยยังได้ประสานจังหวัดให้กำชับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของป้ายโฆษณา หากพบว่าไม่ปลอดภัย หรือติดตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด ส่วนประชาชนขอให้หมั่นติดตามพยากรณ์อากาศและระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากพายุฤดูร้อน โดยดูแลบริเวณที่พักอาศัยและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงแข็งแรง ตลอดจนตัดต้นไม้หรือกิ่งไม้ที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพราะอาจหักโค่นมาทับบ้านเรือนได้ ตลอดจนหลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมต่างๆ กลางแจ้ง อยู่ให้ห่างจากวัตถุที่เป็นสื่อนำไฟฟ้าทุกชนิด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า ส่วนเกษตรกรให้ดูแลและจัดทำที่ค้ำยันต้นไม้ให้แข็งแรง เพื่อป้องกันผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วนสาธารณภัย ๑๗๘๔ ได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 022432200 กรมป้องกันฯ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ