มท.๑ มอบนโยบายแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข่าวทั่วไป Friday March 6, 2009 16:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--ปภ. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มอบนโยบายการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมเป็นประธานปล่อยขบวนรถแจกจ่ายน้ำ “มหาดไทยคลายทุกข์ แก้ไขปัญหาภัยแล้ง” ณ เทศบาลตำบลหมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยกำชับให้จังหวัดวางแผนจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ โดยสนับสนุนงบประมาณและวัสดุอุปกรณ์รวมทั้งกำลังคนให้การช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยแล้งในเบื้องต้น นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศประสบปัญหาภัยแล้ง ประชาชนขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคเป็นจำนวนมาก โดยขณะนี้มีพื้นที่ประสบภัยแล้ง ๒๕ จังหวัด ๑๕๗ อำเภอ ๙๕๕ ตำบล ๗,๔๑๙ หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ๗๑๕,๓๓๓ ครัวเรือน ๒,๗๕๓,๐๘๔ คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย ๑๘๑,๐๒๙ ไร่ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๕๑ มีจังหวัดประสบภัยแล้งรวม ๓๔ จังหวัด ๒๐๑ อำเภอ ๑,๑๒๑ ตำบล ๖,๗๒๕ หมู่บ้าน หมู่บ้านที่ประสบภัยแล้งปี ๒๕๕๒ มากกว่าปี ๒๕๕๑ จำนวน ๖๙๔ หมู่บ้าน แสดงให้เห็นว่าปัญหาภัยแล้ง มีแนวโน้มลุกลามขยายวงกว้าง ครอบคลุมพื้นที่หลายหมู่บ้านเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ชาวบ้านในระดับรากหญ้าที่ต้องใช้น้ำในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ทั้งด้านเกษตรกรรม รวมถึงด้านการอุปโภคบริโภคได้รับความเดือดร้อนมากกว่าประชาชนที่อาศัยในเมือง เพื่อเตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาภัยแล้ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งระดับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมประสานจังหวัดบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการตามมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งด้านการจัดหาน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค การจัดหาน้ำเพื่อการเกษตรให้เพียงพอตลอดฤดูแล้ง พร้อมชี้แจงแนวทางการบริหารจัดการน้ำ ให้ประชาชนทราบ เพื่อจะได้วางแผนการใช้น้ำให้สอดคล้องกับนโยบายที่กำหนด และประสานให้ผู้รับเหมาจ้างแรงงานในหมู่บ้าน ที่ประสบภัยแล้งเพื่อป้องกันการอพยพเข้ามาหางานในเมือง รวมถึงวางแผนป้องกันโรคระบาด แผนการปราบปรามโจรผู้ร้าย ตลอดจนให้จังหวัดเตรียมรับมือพายุฤดูร้อน อัคคีภัย และไฟป่าที่มักเกิดเป็นประจำในช่วงฤดูร้อน เพื่อมิให้ประชาชนเดือดร้อนเพิ่มขึ้นอีก สำหรับด้านการบริหารจัดการน้ำ ให้จังหวัดวางแผนจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ เพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ ตามลำดับความสำคัญ ได้แก่ การอุปโภคบริโภคและการประปา การรักษาระบบนิเวศน์ การเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ส่วนการ ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ โดยสนับสนุนงบประมาณและวัสดุอุปกรณ์รวมทั้งกำลังคนให้การช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยแล้งในเบื้องต้น หากเกิน ขีดความสามารถให้ประสานไปยังศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ ระดับจังหวัด ซึ่งมีสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เป็นศูนย์กลางในการบูรณาการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งระดมให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนต่อไป ทั้งนี้ ให้พิจารณานำงบประมาณในอำนาจของผู้ว่าราชการ (งบ ๕๐ ล้านบาท) สำหรับให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเฉพาะหน้า และหากสถานการณ์ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร ให้จังหวัดพิจารณาขอรับการสนับสนุนไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอรับ การสนับสนุนงบกลางให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรโดยตรงต่อไป นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ได้กำชับไปยังศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ของจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมทั้งประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ ระดับจังหวัด โดยสนับสนุนงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ กำลังคน และข้อมูลสถานการณ์ภัย เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการ ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ในส่วนของการใช้จ่ายเงินทดรองราชการตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ขอให้จังหวัดพิจารณาดำเนินการตามความจำเป็นเร่งด่วน และคำนึงถึงประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย หากมีอุปสรรค ให้เสนอข้อมูลมายังกระทรวงมหาดไทย เพื่อจะได้ประสานกระทรวงการคลังในการแก้ไขปัญหาต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ