เตือนภัยแผ่นดินไหวเมืองกรุงสั่นแรงกว่าปกติ 3-4 เท่า เร่งให้ความรู้คนบนตึกสูงหลังพบพฤติกรรมแบบผิดๆ

ข่าวทั่วไป Monday March 9, 2009 13:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--สสส. นักวิจัยสสส. เตือนผู้อาศัยในตึกสูงกรุงเทพฯ เสี่ยงได้รับผลกระทบรุนแรงจากแผ่นดินไหว แต่พบคนไทยยังมีพฤติกรรมผิดในการป้องกันภัย ระบุกรุงเทพฯเหมือนตั้งอยู่บนเจลลี หากเกิดแผ่นดินไหว จะสั่นสะเทือนรุนแรง 3-4 เท่า แนะภาครัฐให้เอาจริง ส่วนผู้บริหารอาคารควรติดป้ายเตือนภัยให้ชัดเจน นายสุระชัย ชูผกา หัวหน้าผู้วิจัยโครงการจัดการความรู้เพื่อการรณรงค์ป้องกันภัยแผ่นดินไหวในอาคารสูง ระยะที่ 1 ซึ่งได้รับการสนับสนุน จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัย พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 62 ที่อาศัยอยู่ในอาคารสูงประเมินตัวเองว่ามีความเสี่ยงต่อภัยแผ่นดินไหว แต่มีถึงร้อยละ 82 มีการเตรียมพร้อมรับมือภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในระดับปานกลางถึงต่ำเท่านั้น ที่สำคัญผู้อาศัย หรือทำงานอยู่บนอาคารสูง มีพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องตามหลักปฏิบัติในการป้องกันภัยจากเหตุแผ่นดินไหว โดยร้อยละ 61.4 เลือกที่จะวิ่งหรือไม่ก็รอดูคนรอบข้าง รวมถึงมีบางส่วนที่จะรีบหนีลงลิฟท์ให้โดยเร็วที่สุด มีเพียงร้อยละ 36.8 เท่านั้น ที่ระบุว่าตัดสินใจมุดใต้โต๊ะ หรือหลบมุมเสา หรือจุดคานสามเหลี่ยมค้ำยันตามหลักการ นายสุระชัย กล่าวต่อไปว่า พฤติกรรมที่ผิดของผู้ประสบภัย เป็นผลส่วนหนึ่งมาจากทัศนคติและประสบการณ์เดิมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอุบัติภัยอื่น กล่าวคือ ประชาชนจะดึงเอาประสบการณ์มาเป็นปัจจัยในการตัดสินใจป้องกันตัวเองจากเหตุแผ่นดินไหว ตัวอย่างเช่น เคยผ่านการซ้อมป้องกันอัคคีภัยในอาคารจึงนำประสบการณ์นั้นมาเป็นความรู้ นั่นคือรีบวิ่งหนีลงบันไดหนีไฟ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิด “เราต้องสร้างองค์ความรู้ใหม่หมด ต่อไปนี้ต้องแยกให้ชัด ว่าหากเกิดไฟไหม้ให้รีบหนี แต่ถ้าเกิดแผ่นดินไหวต้องอยู่กับที่เท่านั้น ถ้าเรายังประพฤติตัวแบบเดิมๆ เมื่อเกิดเหตุขึ้นมาจะเป็นอันตรายมาก” นายสุระชัย กล่าว ผลงานวิจัยชุดนี้ยังได้ศึกษาเรื่องความเสี่ยงเกี่ยวกับเหตุแผ่นดินไหวในประเทศไทยโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีตึกสูงอยู่อย่างหนาแน่น โดยนายสุระชัย ชี้แจงว่า ในเขตกรุงเทพมหานครมีความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุแผ่นดินไหวสูง เพราะอยู่ใกล้รอยเลื่อนที่ยังมีพลังอยู่ อย่างเช่นรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ใกล้จังหวัดกาญจนบุรี หากเกิดแผ่นดินไหวในระดับ 5 ริเตอร์ขึ้นไป จะส่งผลกระทบต่อกรุงเทพมหานครอย่างรุนแรง เนื่องจากที่ตั้งของกรุงเทพมหานครเคยเป็นทะเลมาก่อน เรียกว่า แอ่งกรุงเทพ ทำให้ดินมีสภาพเป็นดินเหนียวอ่อน ซึ่งมีคุณสมบัติขยายแรงสั่นสะเทือนของพื้นดินได้ถึง 3-4 เท่าของระดับปกติ ด้วยเหตุนี้กรุงเทพ จึงเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวมากกว่าภัยธรรมชาติรูปแบบอื่นๆ “เมื่อเกิดแผ่นดินไหว กรุงเทพฯ ทั้งเมืองเหมือนตั้งอยู่บนเจลลี่ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้นมา เมืองทั้งเมืองจะสั่นอย่างรุนแรงกว่าปกติ ถ้าจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหว สมมติอยู่ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี ความรุนแรงขนาด 5 ริกเตอร์ โอกาสที่ตึกสูงในกรุงเทพจะได้รับผลกระทบจึงมีอยู่สูงมาก” หัวหน้าผู้วิจัย กล่าว นายสุระชัย เสนอว่า เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ผู้ที่อยู่ในอาคารสูง ทางผู้บริหารอาคารควรพัฒนาสื่อภายในอาคาร ระบุทางหนีทางรอด และแนวปฏิบัติที่ถูกต้อง อาจเกิดอุบัติภัยต่าง ๆ เช่นไฟไหม้ ควรจะทำอย่างไร และหากเกิดแผ่นดินไหวควรจะมีสัญลักษณ์ชัดเจนและกำชับด้วยว่าแผ่นดินไหวต้องไม่วิ่ง เนื่องจากท่าวิ่งโอกาสที่จะถูกกระจกหรือเศษคอนกรีตตกทับทำให้ได้รับอันตรายได้ ขณะเดียวกันระบบเตือนภัยของภาครัฐจะต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เพราะทุกวันนี้ผู้ที่อยู่อาคารสูงใช้เวลาถึง 20 นาทีกว่าจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แผ่นดินไหวมีขนาดเท่าไหร่ วิธีที่ถูกต้องคือต้องให้ผู้ที่อยู่อาศัยในอาคารสูงทราบข้อมูลในทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 087-605-3559 macha

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ