คลังออกมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านหนี้สินแก่ผู้ประสบอุทกภัย

ข่าวทั่วไป Wednesday December 6, 2006 17:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่มีหนี้สินกับสถาบันการเงิน เปิดเผยถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านหนี้สินแก่ผู้ประสบอุทกภัย โดยมีรายละเอียดแยกตามสถาบันการเงิน ดังนี้
1. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กรณีเสียชีวิตจะจำหน่ายออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญ หากไม่เสียชีวิตแต่ประสบภัยร้ายแรง สำหรับหนี้เงินกู้เดิมจะขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เป็นเวลา 3 ปี และงดคิดดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี (ปีบัญชี 2549-2551) ส่วนการให้เงินกู้ใหม่เพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตจะให้กู้รายละไม่เกิน 30,000 บาท ลดดอกเบี้ยเงินกู้จากอัตราปกติที่เก็บจากเกษตรกร ร้อยละ 3 ต่อปีเป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี สำหรับการกำหนดชำระหนี้เงินกู้ตามความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกรจะลดหย่อนหลักประกันการกู้เงินจากหลักเกณฑ์ปกติ โดยกรณีกู้เงินโดยจำนองอสังหาริมทรัพย์เป็นประกันให้ขยายวงเงินกู้จากที่กู้ได้ไม่เกินครึ่งหนึ่งของวงเงินจดทะเบียนจำนอง เป็นให้กู้ได้ไม่เกินวงเงินจดทะเบียนจำนอง กรณีกู้เงินโดยใช้กลุ่มลูกค้ารับรองรับผิดชอบอย่างลูกหนี้ร่วมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ให้ขยายวงเงินในการประกันจากรายละไม่เกิน 150,000 บาท เป็นไม่เกิน 200,000 บาท
2. ธนาคารออมสิน ลูกค้าสินเชื่อเคหะ สินเชื่อโครงการธนาคารประชาชน และสินเชื่อธุรกิจห้องแถว ให้ความช่วยเหลือโดยปลอดชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย เป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน กรณีมีผลกระทบรุนแรงให้ปลอดชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยได้เป็นเวลา 1 ปี เฉพาะลูกค้าสินเชื่อโครงการธนาคารประชาชน ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 1.00 ต่อเดือน เป็นร้อยละ 0.50 ต่อเดือน สำหรับประชาชนทั่วไป ที่เป็นลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ ให้กู้สินเชื่อบำรุงขวัญ เพื่อนำไปซ่อมแซมทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหาย หรือบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น ในวงเงินกู้สูงสุดไม่เกินรายละ 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ MLR — 1.75 ต่อปี โดยใช้บุคคลค้ำประกัน จนสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2549
3. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จะลดภาระหนี้ที่ผ่อนชำระโดยลดอัตราดอกเบี้ย ให้คงเหลือร้อยละ 1 ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยในช่วง 6 เดือน ผู้กู้ผ่อนชำระเงินงวดเฉพาะดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี และหลังจาก 6 เดือน อัตราดอกเบี้ยและเงินงวดเป็นไปตามสัญญาเดิม สำหรับเงินกู้เพื่อปลูกสร้าง หรือซ่อมแซม หรือปรับปรุงอาคาร หรือไถ่ถอนจำนองและซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคาร จะให้กู้ไม่เกินร้อยละ 100 ของราคาประเมินค่าก่อสร้างอาคาร หรือค่าซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคาร และคิดอัตราดอกเบี้ย ปีแรกในอัตรา MRR-2% ต่อปี หลังจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ยประเภทลอยตัวพิเศษตามประกาศธนาคาร
กรณีอาคารที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ ธนาคารจะพิจารณาปลดภาระหนี้ เฉพาะภาระหนี้ตามยอดหนี้คงเหลือในส่วนของอาคาร โดยผู้กู้ผ่อนชำระหนี้ในส่วนของที่ดินคงเหลือ (ถ้ามี) ในอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาเดิม ทั้งนี้ กำหนดระยะเวลายื่นคำขอกู้สิ้นสุดวันที่ 29 ธันวาคม 2549 ระยะเวลาในการทำนิติกรรมสิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550
4. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย กรณีเป็นสถานประกอบการที่ได้รับความเสียหาย หรือได้รับผลกระทบ และส่งผลต่อการดำเนินกิจการจากเหตุภาวะอุทกภัย วาตภัย และโคลนถล่ม จะพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับลูกค้าทุกราย ทุกชั้นหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน สำหรับการให้สินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการสำหรับลูกค้าของ ธพว. วงเงินรายละไม่เกิน 500,000 บาท ระยะเวลาการกู้ยืมไม่เกิน 3 ปี ระยะเวลาปลอดการชำระคืนเงินต้นไม่เกิน 1 ปี พิจารณาตามความเหมาะสมและความจำเป็นของลูกค้าแต่ละราย อัตราดอกเบี้ย เท่ากับ MLR ต่อปีตลอดอายุสัญญา หลักประกันเป็นไปตามเกณฑ์ของธนาคาร
สำหรับการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SME ที่ไม่ได้เป็นลูกค้าของ ธพว. และสถาบันการเงินอื่น ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของ ธปท. เกี่ยวกับ Soft Loan สนับสนุน SME หรือธนาคารร่วมกับอุตสาหกรรมจังหวัดพิจารณาคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ ในด้านการช่วยเหลือฟื้นฟูธุรกิจต้องมีคุณสมบัติ คือเป็นผู้ที่ต้องปรับปรุง ฟื้นฟู หรือเปลี่ยนธุรกิจใหม่ กรณีเป็นลูกค้า ธพว. ดำเนินการช่วยเหลือ ทุกราย กรณีผู้ประกอบการ SME ที่ไม่ได้เป็นลูกค้าของ ธพว. และของสถาบันการเงินอื่นธนาคารร่วมกับอุตสาหกรรมจังหวัด พิจารณาคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ
5. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สำหรับลูกหนี้เงินกู้ทั่วไปของธนาคาร(ยื่นขอกู้ได้ถึงเดือนมกราคม 2550) ในส่วนลูกหนี้ที่มีต้นเงินคงค้างต่ำกว่า 200,000 บาท หากเสียชีวิตในเหตุการณ์ จะยกหนี้ให้ทั้งหมด ส่วนลูกหนี้ยังมีชีวิตให้ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปอีก 3 ปี มีระยะเวลาปลอดการชำระต้นเงินและดอกเบี้ย 1 ปี และทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ในส่วนลูกหนี้ที่มีต้นเงินตั้งแต่ 200,000 บาทขึ้นไป ให้ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ตามที่เห็นสมควร ปลอดการชำระต้นเงินและดอกเบี้ย 6 เดือน ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ รวมถึงเปิดโครงการลูกหนี้สินเชื่อกรุงไทยธนวัฎบรรเทาอุทกภัย (ยื่นได้ถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2549) ลดอัตราดอกเบี้ยลง ร้อยละ 3 (คิดในอัตรา MRR+0.5 ต่อปี) เป็นระยะเวลา 3 เดือนนับแต่วันที่ลูกค้าทำสัญญากู้เงิน
6. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมแห่งประทศไทย พักการชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันเป็นระยะเวลา 6 เดือน สำหรับลูกค้าที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และถึงกำหนดชำระค่าธรรมเนียมต่ออายุการค้ำประกันตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2549 ถึง 31 กรกฎาคม 2550 สำหรับลูกค้าของ บสย. ที่มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุ 47 จังหวัด ยกเว้นในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก แพร่ น่าน และลำปาง ที่ได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2549 สำหรับกิจการของลูกค้าได้รับผลกระทบโดยตรงจากอุทกภัย ทำให้กิจการได้รับความเสียหายจนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ หรือดำเนินงานได้เพียงบางส่วน โดยพิจารณาความเสียหายที่แท้จริง และให้ความร่วมมือกับสถาบันการเงินที่ลูกค้าได้รับการค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย. ในการผ่อนปรนเรื่องการพักชำระ รวมทั้งการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินต่อไปตามปกติ รวมถึงมาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพิ่ม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นลูกหนี้ NPL เนื่องมาจากเหตุอุทกภัย และจะขอสินเชื่อเพิ่มเติมจากสถาบันการเงินเพื่อใช้ฟื้นฟูกิจการ
7. ธนาคารอิสลาม ให้การช่วยเหลือโดยพักชำระหนี้เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เริ่มชำระในเดือนกุมภาพันธ์ 2550) ลดอัตรากำไรลงจากเดิม และขยายระยะเวลาการชำระ
8. สมาคมธนาคารไทย ประสานงานให้ธนาคารสมาชิกพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เป็นลูกหนี้ของธนาคารสมาชิก โดยจะมีการกำหนดมาตรการช่วยเหลือ เช่น ผ่อนปรนเงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้เงินกู้ ระยะเวลาปลอดการชำระคืนเงินต้น การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การอนุมัติสินเชื่อใหม่เพื่อฟื้นฟูกิจการ ฯลฯ
9. กรมธนารักษ์ ยกเว้นการเก็บค่าเช่าที่ราชพัสดุกรณีผู้เช่าที่ดินราชพัสดุเพื่ออยู่อาศัย อาคารที่พักอาศัยเสียหายบางส่วนเป็นเวลา 1 ปี และกรณีที่พักอาศัยเสียหายทั้งหลัง ยกเว้นการเก็บค่าเช่าเป็นเวลา 2 ปี กรณีผู้เช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อประกอบการเกษตร หากพืชหรือผลผลิตได้รับความเสียหาย ยกเว้นการเก็บค่าเช่า 1 ปี ทั้งนี้ สามารถขอข้อมูลการรับรองความเสียหายจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง กรณีผู้เช่าอาคารราชพัสดุ ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทำให้ผู้เช่าอาคารราชพัสดุไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ เป็นเวลาเกิน 3 วัน ให้ยกเว้นการเรียกเก็บค่าเช่าเป็นเวลา 1 เดือน รวมถึงยกเว้นการคิดเงินเพิ่มตามระเบียบกระทรวงการคลังกรณีผู้เช่าไม่สามารถชำระค่าเช่า ค่าธรรมเนียมหรือเงินอื่นใดที่ต้องชำระภายในกำหนดระยะเวลาโดยเหตุมาจากการเกิดอุทกภัยดังกล่าว ซึ่งถือเป็นเหตุสุดวิสัย
10. กรมสรรพากร มีมาตรการให้ความช่วยเหลือที่ได้ดำเนินการไปแล้วโดยได้ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีรวม 10 ประเภท ในท้องที่ที่เกิดอุทกภัยรวม 14 จังหวัด 85 อำเภอ นอกจากนั้นจะได้เร่งรัดคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย
11. สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ดำเนินการค้ำประกัน และหรืออาวัลการชำระหนี้ของรัฐวิสาหกิจ และหรือสถาบันการเงินภาครัฐ ในวงเงินกู้ที่ ครม. อนุมัติในหลักการให้ดำเนินการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัย ในปี พ.ศ. 2549 ทั้งนี้ ภายใต้หลักเกณฑ์และกรอบวงเงินการค้ำประกันที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับบริหารหนี้สาธารณะประกาศกำหนด(ถ้ามีผลบังคับใช้) และภายใต้มาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548
12. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กลุ่มศิษย์ปัจจุบัน ผ่อนผันให้ส่งหลักฐานการขอกู้ยืมล่าช้าได้โดยไม่มีกำหนดตามความจำเป็น กลุ่มศิษย์เก่าติดต่อขอผ่อนผันการชำระหนี้ได้ครั้งละ 6 เดือน แต่ไม่เกิน 4 ครั้ง โดยกองทุนฯ จะไม่คิดเบี้ยปรับ กลุ่มนักเรียน นักศึกษาชั้น ม 4 และ ปวช. 1 ปีการศึกษา 2549 สามารถติดต่อขอรับทุนเงินให้เปล่าได้ที่สถานศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ ซึ่งเป็นทุนรายเดือนๆ ละ 1,000 บาท จำนวน 12 เดือน กลุ่มผู้ไม่เคยกู้ยืมทั้ง กยศ. และ กรอ. สามารถติดต่อขอกู้ยืมในแบบ กยศ. และ กรอ. ได้ที่กองทุนฯ หรือสถานศึกษาที่เรียนอยู่ โดยจะได้รับการพิจารณาให้กู้ยืมในปีการศึกษา 2550
13. กรมบัญชีกลาง อนุมัติให้ขยายวงเงินทดรองราชการ จาก 50 ล้านบาท เป็น 100 ล้านบาท โดยได้ดำเนินการไปแล้ว 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิจิตร นครสวรรค์ อ่างทอง สิงห์บุรี นนทบุรี สุพรรณบุรี และชัยนาท กรณีที่หน่วยงานจำเป็นต้องขออนุมัติขยายวงเงินทดรองราชการหรือขออนุมัติเบิกจ่ายเงินงบประมาณเป็นกรณีพิเศษ กรมบัญชีกลางจะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จ ภายใน 1 วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับเอกสารข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้อง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ