“อาร์เอส”จัดทัพเพลงครั้งใหญ่ ชูกลยุทธ์ “Lean Music Strategy”

ข่าวบันเทิง Monday March 23, 2009 14:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--อาร์เอสอาร์เอส ” เดินหน้าปรับแผนธุรกิจเพลงซึ่งเป็นธุรกิจหลัก (Core Business) ของบริษัท ฯ ครั้งใหญ่ ชูกลยุทธ์ “ Lean Music Strategy ” ตัดสิ่งที่ไม่ทำรายได้และเลือกบริหารเฉพาะ เซกเม้นท์ที่มีมูลค่าเชิงธุรกิจที่แข็งแรงอย่างกลุ่ม “ทีน” และ “พรีทีน” รวมถึง กลุ่ม “ ร็อควัยโจ๋” เพื่อยืนหยัดสู้ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ มั่นใจธุรกิจเพลงทำรายได้รวมกว่า 1 พันล้านบาทในปี 2552 ลาดพร้าว - นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS เปิดเผยว่าบริษัทฯยังคงให้ความสำคัญกับธุรกิจเพลง ซึ่งถือได้ว่าเป็นธุรกิจต้นน้ำที่สร้างรายได้หลักให้กับบริษัทฯ อีกทั้งยังสามารถต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่นในเครืออาร์เอสเพื่อสร้างรายได้ และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างสูงสุด โดยยังคงมุ่งที่จะขับเคลื่อนด้วยโมเดลทางการตลาดแบบ “ Music Segment Champion ” กับ 7 กลุ่มแนวเพลง คือ กลุ่ม Teen Community นำเสนอผ่านแบรนด์กามิกาเซ่ , กลุ่ม Digital Pop Idol นำเสนอผ่านแบรนด์อาร์เอส,กลุ่ม Uni Club นำเสนอผ่านแบรนด์ เพลนตี้ มิวสิค (Plenty Music) , กลุ่ม Rock Society นำเสนอผ่านแบรนด์ 9Richter , กลุ่ม Easy Listening นำเสนอผ่านแบรนด์ เมลโล โทน (Mellow Tone) กลุ่ม Raggae and Sga นำเสนอผ่านแบรนด์ แรกเก้ วิลเลจ (Raggae Village), และกลุ่ม Modern Local Country นำเสนอผ่านแบรนด์ลูกทุ่งอาร์สยาม พร้อมแบ่งเซกเม้นท์คนฟังกลุ่มเป้าหมายในเชิงลึกและแนวเพลงอย่างชัดเจน แต่เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงหดตัว บวกกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป อาร์เอสจึงเดินหน้าปรับแผนธุรกิจเพลงครั้งใหญ่ เพื่อให้สอดรับกับภาวะปัจจุบัน พร้อมกับการวางแผนธุรกิจเพลงให้เดินหน้าอย่างชัดเจนและรัดกุมมากยิ่งขึ้น ด้วย กลยุทธ์ “Lean Music Strategy” ที่ตัดสิ่งที่ไม่ทำรายได้และมุ่งโฟกัสไปยังเซกเม้นท์ที่มีมูลค่าทางธุรกิจที่แข็งแรง คือกลุ่มวัยรุ่น (Teen Community) โดยมีศิลปินค่ายกามิกาเซ่ (Kamikaze) อาทิ โฟร์-มด , เฟย์ ฟาง แก้ว , เค-โอติก (K-Otic) , ขนมจีน, มิล่า , พายุ ฯลฯ รวมถึงกลุ่มดนตรีเพลงร็อควัยโจ๋ (Local Pop Rock) ที่กำลังเป็นที่นิยมและแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ วงไอน้ำ , Dr.Fu คู่ขนานไปกับการต่อยอดธุรกิจเพลงด้วยการพัฒนาคอนเท้นต์ ให้ตรงใจกลุ่มผู้ฟังมากที่สุด และการกำหนดยุทธ์ศาสตร์ใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยช่องทางดิจิตอลเป็นหลัก ด้วยการปล่อยซิงเกิ้ลเพลงใหม่ออกมาชิมลางให้ผู้ฟังติดหู พร้อมกับให้ได้ดาว์นโหลดเพลงใหม่ไปฟังก่อนวางแผงอีกด้วย โดยยอดการดาวน์โหลดคอนเท้นต์ ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ สามารถทำรายได้เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ โดยเพลงที่มียอดการดาวน์โหลดติดชาร์ท 5 อันดับแรกของเดือนที่ผ่านมา ประกอบด้วย อันดับ 1 เพลง “รักสามเศร้า” ของ วงพริกไทย อันดับ2 “ แฟนใหม่” ของ วง เค-โอติก (K-Otic) อันดับ 3 เพลง “ ใหม่ๆก็รัก” ของ วงพริกไทย อันดับ 4 เพลง “ ใจเหลือเหลือ” ของ วง Dr.Fu และอันดับ 5 คือเพลง “ มีสิทธิ์แค่คิดถึง” ของ วง ไอน้ำ ซึ่งสามารถตอกย้ำความสำเร็จของศิลปินได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ บริษัทฯก็ยังมีการวางแผนการตลาดในระยะยาวของศิลปินแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจน โดยต้องรู้ว่าศิลปินกลุ่มนี้เป็นตัวแทนของผู้บริโภคกลุ่มใด Value ของพวกเขาอยู่ที่ไหน อะไรคือจุดเด่นของการขาย (Unique Selling Point) และตำแหน่งทางการตลาด (Positioning) ของพวกเขาคืออะไร เมื่อทราบทุกอย่างแล้วก็ต้องชัดเจนในแนวทางการตลาด จึงเป็นการทำงานที่เป็นการวางแผนระยะยาว รวมถึงพัฒนารูปแบบการต่อยอดทางธุรกิจและสร้างให้ศิลปินมีรายได้ที่ยั่งยืนจากชื่อเสียงและผลงานความสามารถของตนเองในหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้ศิลปินในค่ายได้แสดงความสามารถตามที่ถนัดและเหมาะสม อาทิ การแสดงละคร, เล่นหนัง ,พิธีกร , การรับหน้าที่เป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับสินค้าต่างๆ ซึ่งทางอาร์เอสเปิดกว้างอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังมีบริษัทในเครืออาร์เอส ที่ดำเนินธุรกิจบันเทิงครบวงจร ทั้งธุรกิจวิทยุ , ภาพยนตร์ , รายการและละครทีวี หรือแม้กระทั่งเว็บไซต์ ชีซ่าดอทคอม ( www.zheza.com) ที่ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 2 ล้านคน โดยทั้งหมดนี้จะเป็นเครื่องมือหลักที่สำคัญ ในการโปรโมทศิลปินให้เข้าถึงกลุ่ม Mass ได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งในนำเสนอและรองรับกิจกรรมต่างๆที่จะมีมากขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะกลุ่มทีน ( Teen) และกลุ่มพรี-ทีน ( Pre-Teen) สำหรับภาพรวมและแนวโน้มของธุรกิจเพลงในปีนี้ยังคงอยู่ในภาวะที่ชะลอตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ คู่ขนานไปกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และปัญหากระแสแผ่นผี ซีดีเถื่อนที่ยังหาทางแก้ไขไม่ได้ แต่ยังคงเชื่อมั่นว่าธุรกิจ ดิจิตอลคอนเทนต์ หรือ บริการผ่านช่องทางอันหลากหลายของโทรศัพท์มือถือ ยังมีแนวโน้มดี เพราะเติบโตไปตามฐานผู้ใช้โทรศัพท์มือถือรวมถึงความสามารถในการให้บริการที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมาถึงของระบบ 3G ยิ่งจะส่งเสริมให้ผลงานเพลงในรูปแบบต่างๆเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น ส่งผลให้รายได้ในส่วนของธุรกิจดิจิตอลของอาร์เอส สามารถเข้ามาเติมเต็มรายได้ในส่วนของยอดขาย CD และ DVD ( Physical Product) ที่มีแนวโน้มลดลงได้เป็นอย่างมาก “ การแข่งขันของธุรกิจเพลงในปีนี้ต้องยอมรับว่า มีความยากลำบากกว่าปีก่อนๆ และยิ่งไปกว่านั้นธุรกิจเพลงเป็นธุรกิจที่มีความตื่นตัวและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเพราะฉะนั้นการนำเสนอโปรดักส์จึงต้องการความแปลกใหม่ ไม่ซ้ำซากจำเจ เจาะกลุ่มผู้ฟังให้ได้ อีกทั้งการวางกลยุทธ์ให้สอดรับกับยุคสมัยก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน การวางกลยุทธ์ใหม่ในครั้งนี้บริษัทฯได้ปรับกลยุทธ์ และกำหนดทิศทางของธุรกิจเพลงให้สอดคล้องกับการเติบโตของช่องทางดิจิตอลมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง” นายสุรชัยกล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ