ไทยส่งออกภารตะ “ ได้ดุลการค้ากว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ”

ข่าวทั่วไป Thursday March 26, 2009 13:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--คต. นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ(คต.) เปิดเผยว่า ภาวะการค้าระหว่างไทยกับอินเดีย ในปี 2551 (ม.ค.- ธ.ค.) มีมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 6,040.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 19 โดยไทยส่งออกมูลค่า 3,394.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้ามูลค่า 2,646.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าอินเดีย 747.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับสิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA ไทย-อินเดีย มีสินค้าที่อยู่ในกลุ่มเร่งลดภาษี (Early Harvest) จำนวน 82 รายการ ที่ได้รับสิทธิฯ และปัจจุบันสินค้าในกลุ่มนี้มีอัตราภาษี FTA เป็น 0 ทั้งหมด มาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2549 ซึ่งในปี 2551 กรมการค้าต่างประเทศได้ออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Form FTA) เพื่อนำไปลดภาษีขาเข้าประเทศอินเดีย จำนวน 11,122 ฉบับ มีมูลค่า 417.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งการใช้สิทธิฯ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 84 ของการส่งออกภายใต้ FTA (มูลค่า 498.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกและได้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีของประเทศอินเดีย ได้แก่ โพลิคาร์บอเนต อะลูมิเนียมเจือ เครื่องปรับอากาศ เครื่องเพชรพลอยทำด้วยโลหะมีค่า และเครื่องรับโทรทัศน์สี เป็นต้น สินค้านำเข้าจากอินเดียที่สำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป กระปุกเกียร์ ของทำด้วยเหล็ก และส่วนประกอบเครื่องเพชรพลอยทำด้วยโลหะมีค่า เป็นต้น อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลจากการที่ไทยทำข้อตกลง FTA กับอินเดียเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้ไทยมีแนวโน้มได้ดุลการค้าจากอินเดียมาโดยตลอดซึ่งเป็นผลดีต่อการค้าของไทย อย่างไรก็ตามยังมีสินค้าที่น่าสนใจซึ่งไทยมีศักยภาพในการส่งออกสูงแต่ยังมีการใช้สิทธิน้อย หรือบางรายการก็ไม่ได้ ใช้สิทธิฯ ได้แก่ โพลิคาร์บอเนต ของอื่นๆ ทำด้วยลวดเหล็กหรือลวดเหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์เหล็ก และ รัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ เป็นต้น ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศได้มีการประชาสัมพันธ์ จัดสัมมนาทั้งในกรุงเทพฯ/ต่างจังหวัด และส่งเสริมให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก และผู้นำเข้าของไทยให้มาใช้สิทธิอย่างต่อเนื่องในสินค้าที่ไทยได้ประโยชน์จาก FTA ไทย-อินเดีย ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ WWW.dft.go.th หรือ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ สายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ โทร. 1385 หรือ สำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า โทร. 0 2547 4872, 0 2547 4817

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ