ปภ. เชียงราย รายงานสถานการณ์วาตภัย

ข่าวทั่วไป Thursday March 26, 2009 16:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--ปภ. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย รายงานสถานการณ์วาตภัยเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๒ มีพื้นที่ประสบวาตภัย ๒ อำเภอ ๓ ตำบล ๓๙ หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน ๑,๐๕๔ ครัวเรือน พืชไร่เสียหาย ๗๕ ไร่ พืชสวนเสียหาย ๗๕ งาน และวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๒ มีพื้นที่ประสบวาตภัย ๑ อำเภอ ๓ ตำบล ๒๔ หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน ๓๗๐ ครัวเรือน สำหรับการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงรายร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ประสบภัย มอบกระเบื้อง ครอบกระเบื้องและสังกะสีให้กับผู้ประสบภัย เพื่อใช้สำหรับซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายแล้ว นายสุเทพ เดชชัยศรี หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา จังหวัดเชียงรายประสบวาตภัยในหลายพื้นที่ โดยวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๒ มีพื้นที่ประสบวาตภัย ๒ อำเภอ ๓ ตำบล ๓๙ หมู่บ้าน ประกอบด้วย อำเภอเมืองเชียงราย ได้แก่ ตำบลดอยลาน ห้วยสัก อำเภอพาน ได้แก่ ตำบลแม่อ้อ ราษฎรเดือดร้อน ๑,๐๕๔ ครัวเรือน พืชไร่เสียหาย ๗๕ ไร่ พืชสวนเสียหาย ๗๕ งาน และวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๒ มีพื้นที่ประสบวาตภัย ๑ อำเภอ ๓ ตำบล ๒๔ หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอพาน ประกอบด้วย ตำบลดอยงาม สันติสุข เวียงห้าว ราษฎรเดือดร้อน ๓๗๐ ครัวเรือน สำหรับการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงรายร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ประสบภัยจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ พร้อมมอบวัสดุอุปกรณ์สำหรับซ่อมแซมบ้านเรือน ดังนี้ กระเบื้อง ๑๔,๕๕๑ แผ่น ครอบกระเบื้อง ๔,๒๑๐แผ่น และสังกะสี ๒,๗๓๔ แผ่น เพื่อให้ผู้ประสบภัยนำไปซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า ในวันที่ ๒๕-๒๗ มีนาคม ๒๕๕๒ อาจเกิดพายุฤดูร้อน ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกในบริเวณประเทศไทยตอนบน จึงขอเตือนให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยระมัดระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน โดยปฏิบัติ ดังนี้ ก่อนเกิดพายุ หมั่นติดตามพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด ดูแลสิ่งปลูกสร้าง บ้านเรือนและต้นไม้บริเวณรอบบ้านให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ตลอดจนจัดเตรียมอุปกรณ์ไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน เช่น ไฟฉาย เทียนไขไม้ขีดไฟ เครื่องปฐมพยาบาล เป็นต้น ส่วนเกษตรกรควรจัดทำที่ค้ำยันต้นไม้ให้แข็งแรง เพื่อป้องกันผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากแรงลม ขณะเกิดพายุ ควรอยู่ในอาคารที่มั่นคงแข็งแรง ไม่ควรหลบพายุใต้ต้นไม้ หรือใกล้ป้ายโฆษณาเพราะเสี่ยงต่อการถูกล้มทับ ไม่ควรสวมใส่เครื่องประดับที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า งดใช้เครื่องมือสื่อสารและเครื่องใช้ไฟฟ้า ในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า หลังเกิดพายุ สำรวจความเสียหายของบ้านเรือน และสิ่งปลูกสร้าง หากพบต้นไม้ใกล้ล้มให้ตัดทิ้ง เพราะต้นไม้อาจหักโค่นล้มทับบ้านเรือนได้รับความเสียหาย ถ้ามีเสาไฟฟ้าล้ม สายไฟฟ้าขาดไม่ควรเข้าใกล้ ให้ทำเครื่องหมายแสดงอันตรายและแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบมาดำเนินการซ่อมแซมแก้ไขโดยด่วน สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อน สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง หรือสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย โทรศัพท์ ๐-๕๓๗๑-๑๔๐๖ เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ