SET Note ระบุผลการศึกษาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อค่าพีอีในตลาดทุนไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday April 5, 2006 14:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--ตลาดหลักทรัพย์
สายงานวิจัยฯ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุปัจจัยที่ส่งผลดีต่อการเพิ่มของค่าพีอีของหลักทรัพย์บริษัทจดทะเบียน ได้แก่พื้นฐานที่ดีของบริษัทจดทะเบียนที่สะท้อนออกมาเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผล สภาพคล่องของหลักทรัพย์ ขนาดของบริษัทจดทะเบียน ในขณะที่ความเสี่ยงของราคาหุ้น (ค่าเบต้า) ที่เคลื่อนไหวต่างจากภาวะรวมของตลาดก็จะส่งผลให้ค่าพีอีลดลง เผยตลาดหุ้นไทยจะสามารถเพิ่มมูลค่าตลาดตามเป้าหมายของแผนแม่บทตลาดทุนไทยต้องเน้นเพิ่มค่าพีอี
ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สายงานวิจัยและข้อมูลสารสนเทศ ได้จัดทำ SET Note ฉบับที่ 3 ประจำปี 2549 เพื่อนำเสนอรายงานผลการศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (Price-Earnings Ratio: P/E ratio) ในตลาดหลักทรัพย์ของไทยพบว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าพีอี ได้แก่ อัตราการจ่ายเงินปันผลที่ดี ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อค่าพีอีสูงสุด รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ สภาพคล่องของหลักทรัพย์ ขนาดของบริษัทจดทะเบียน และความเสี่ยงของราคาหุ้น (ค่าเบต้า) ที่อาจเคลื่อนไหวไม่สอดคล้องกับภาวะรวมของตลาด
“จากการศึกษาข้อมูลบริษัทจดทะเบียนรายบริษัทกว่า 400 บริษัทในเชิงเศรษฐมิติ จากข้อมูลในช่วงไตรมาส 3 ปี 2548 พบว่าบริษัทที่มีอัตราการจ่ายเงินปันผลมากกว่าอัตราเฉลี่ยของบริษัทอื่นๆ ในช่วงเดียวกันร้อยละ 20 มักมีค่าพีอีที่สูงกว่าระดับเฉลี่ยกว่า 1.4 เท่า หรือหากบริษัทมีนโยบายขยายขนาดของบริษัทให้ใหญ่ขึ้น เช่น การควบรวมกิจการ ก็จะทำให้ค่าพีอีเพิ่มขึ้นจากระดับเฉลี่ยได้ ทั้งนี้ หากสามารถเพิ่มขนาดของบริษัทขึ้นมากกว่า 2 เท่าของระดับเฉลี่ยก็จะสามารถเพิ่มค่าพีอีได้กว่า 0.6 เท่า ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเป็นปัจจัยที่บริษัทสามารถกำหนดได้จากนโยบายของบริษัทเอง” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว
นอกจากปัจจัยดังกล่าวแล้ว สภาพของหลักทรัพย์ก็เป็นปัจจัยต่อค่าพีอีเช่นกัน โดยพบว่าค่าความเสี่ยงจากราคาหลักทรัพย์ (ค่าเบต้า) ที่เคลื่อนไหวไม่สอดคล้องกับภาวะตลาด และสภาพคล่องของการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทนั้นๆ ส่งผลต่อค่าพีอีอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ หากสามารถลดค่าความเสี่ยงจากราคาที่ผันผวนลง 0.01 จุด หรือหากสภาพคล่องของการซื้อขายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 20 ก็จะทำให้ค่าพีอีเพิ่มขึ้น 0.07 และ 0.25 เท่าตามลำดับ
ปัจจุบันค่าพีอีโดยเฉลี่ยของตลาดตราสารทุนอยู่ที่ 9 เท่า ซึ่งถือว่ายังต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และเมื่อเปรียบเทียบค่าพีอีรายกลุ่มอุตสาหกรรมระหว่างตลาดหลักทรัพย์ไทยและของประเทศเพื่อนบ้านทั้งสิงคโปร์ ฮ่องกง และมาเลเซียแล้วพบว่าค่าพีอีของกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของตลาดทุนไทยยังอยู่ในระดับต่ำแทบทุกกลุ่มโดย
เฉพาะกลุ่มการเงินซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนสูงในตลาดทุนต่าง ๆ รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์ไทย ทั้งนี้ ค่าพีอีของกลุ่มการเงินในตลาดหลักทรัพย์ของไทยถือว่าต่ำที่สุดและมีค่าน้อยกว่าของตลาดอื่น ๆ เกือบเท่าตัว
การเพิ่มขึ้นของค่าพีอีนอกจากจะส่งผลโดยตรงต่อบริษัทแล้ว ยังส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์รวมตามราคาตลาด (market capitalization) ของตลาดทุนไทยเพิ่มขึ้นส่งผลให้ตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะมีผลต่อการเพิ่มพีอีของตลาดได้แก่ การเพิ่มขึ้นของผลประกอบการของบริษัท การเพิ่มขึ้นของหลักทรัพย์จดทะเบียนใหม่ และการเพิ่มขึ้นของค่าพีอี โดยการเพิ่มค่าพีอีจะมีความเป็นไปได้มากที่สุดในการเพิ่มมูลค่าตลาด
หากพิจารณาการเพิ่มขึ้นของ market capitalization ของตลาดตราสารทุนของไทยในช่วงปี 2545-2548 ที่ผ่านมาจะพบว่าปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ขนาดของตลาดตราสารทุนไทยเพิ่มขึ้นเกือบครึ่ง (ร้อยละ 45) มาจากค่าพีอีที่เพิ่มขึ้นและอีกเกือบครึ่งมาจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนของไทย
ผู้ช่วยผู้จัดการกล่าวด้วยว่า หากพิจารณาปัจจัยการเพิ่มของขนาดตลาดตราสารทุนในประเทศเอเชียอื่น ๆ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ และไต้หวันในช่วงปี 2543-2546 ก็พบเช่นกันว่าการเพิ่มขึ้นของขนาดตลาดมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าพีอีเป็นสำคัญ แม้ว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนจะไม่เป็นที่น่าพอใจ
“ยกตัวอย่างเช่น หากเราสามารถเพิ่มค่าพีอีในกลุ่มการเงินของเราจากปัจจุบันที่ 9 เท่าให้ใกล้เคียงกับมาเลเซียที่ 15 เท่าเราจะสามารถเพิ่มมูลค่าของ market capitalization ของตลาดทุนไทยอีกกว่า 6 แสนล้านบาทซึ่งคิดเป็นร้อยละ 12 ของมูลค่าในปัจจุบัน
ปัจจุบันมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมของตลาดไทยมีมูลค่าประมาณ 5.2 ล้านล้านบาท (ณ 3 เมษายน 2549) ดังนั้น หากต้องการเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมของตลาดไทยกว่า 2 เท่าให้มีมูลค่า 10 ล้านล้านบาทเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการเพิ่มบทบาทของตลาดทุนให้เทียบเคียงกับระบบธนาคารพาณิชย์ตามแนวทางของแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับที่ 2 ซึ่งประกาศใช้เป็นระยะเวลา 5 ปี (2549-2553) ตลาดทุนไทยจำเป็นต้องเน้นการเพิ่มค่าพีอีของตลาดเป็นสำคัญ” ผู้ช่วยผู้จัดการกล่าวสรุป
ผู้สนใจติดตาม SET Note ได้เพิ่มเติมที่
http://www.set.or.th/th/products_services/research/files/setnote3_2006.pdf
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร
ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 — 2036 / กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร. 0-2229 — 2037/
ณัฐพร บุญประภา โทร. 0-2229 — 2049 / วรรษมน เสาวคนธ์เสถียร โทร. 0-2229-2797

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ