จุฬาฯร่วมสมาคมถ่ายภาพฯ จัดงาน PIX 2009 โชว์เทคโนโลยีพิมพ์ภาพครั้งแรกของไทย

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday April 1, 2009 14:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 เม.ย.--คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ จุฬาฯเตรียมเปิดงาน Photo Imaging Expo 2009 ชมกล้องส่วนพระองค์ฯ และภาพถ่ายยุคแรกของสยาม ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางภาพถ่ายและเทคโนโลยีทางการพิมพ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมป์ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพในพระอุปถัมป์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ และภาคเอกชน ร่วมกันจัดงาน Photo Imaging Expo 2009 ระหว่างวันที่ 1-5 เมษายน พ.ศ.2552 ณ รอยัลพารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน รศ.ดร.อรัญ หาญสืบสาย หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางภาพถ่าย และเทคโนโลยีทางการพิมพ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า งาน Photo Imaging Expo 2009 จัดขึ้นภายใต้เนื้อหาที่สำคัญ คือ “ภาพถ่าย การพิมพ์ แห่งสยาม สู่นวัตกรรมล้ำยุค เพื่อพิชิตโจทย์เศรษฐกิจปัจจุบัน” นับเป็นการแสดงจัดนิทรรศการเทคโนโลยีทางภาพที่ยิ่งใหญ่งานหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งเทคโนโลยีทางภาพ หรือ Imaging Technology เป็นศาสตร์ที่บูรณาการความรู้ ทั้งการถ่ายภาพ การจัดการและประมวลผลข้อมูลภาพ การออกแบบ การแสดงผลในรูปสื่อต่าง ๆ และสิ่งพิมพ์ เข้าด้วยกัน โดยปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดจัดงานด้าน Photo & Imaging ตั้งแต่กระบวนการนำข้อมูลเข้าจนถึงส่งข้อมูลออกอย่างครบวงจร ดังนั้น คณะผู้จัดงานจึงได้ร่วมมือกันจัดงานนี้ขึ้น “กิจกรรมภายในงานจะมีการแสดงนิทรรศการ ภาพถ่ายส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การจัดแสดงเทคโนโลยีทันสมัยที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพและการพิมพ์ดิจิทัลอย่างครบวงจร เป็นงานแรกของประเทศไทย อีกทั้งเพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีทางภาพแห่งเอเชีย ภายในงานได้เชิญผู้ผลิตกล้องถ่ายรูปและเครื่องพิมพ์ดิจิทัลจากนานาประเทศ มาร่วมจัดแสดงและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ที่สำคัญคือ ส่วนงานจัดแสดงกล้องตรีเนตร หรือกล้องสามมิติ ซึ่งเป็นกล้องส่วนพระองค์ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5) กล้องส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) และกล้อง ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อน รวมทั้งการจัดแสดงภาพถ่ายสยามในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งหาชมได้ยากและนำมาจัดแสดงให้เห็นเป็นครั้งแรกเช่นกัน”รศ.ดร.อรัญ กล่าวและเพิ่มเติมว่า นอกการการจัดแสดงสิ่งของที่หาชมได้ยากแล้ว ยังมีการจัดสัมมนาในหัวข้อ “ความก้าวหน้าและแนวโน้มของสื่อนววัตร” (new media) และพิเศษสำหรับช่างภาพมืออาชีพและมือสมัครเล่นยังจะได้ทดลองถ่ายภาพนางแบบในชุดไทยโบราณเพื่อทดสอบฝีมือในงานอีกด้วย สำหรับผู้สนใจ สามารถเข้าร่วมงานได้ตามวัน เวลาและสถานที่ข้างต้น โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางภาพถ่ายและเทคโนโลยีทางการพิมพ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ โทร 02-218-5581-2 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-218-5013 คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ