iTAP หนุน เอกชน ต่อยอด ‘แชลแลคขาว’ ยกระดับผลิตภัณฑ์สารเคลือบจากธรรมชาติเทียบชั้นสากล

ข่าวทั่วไป Wednesday April 8, 2009 11:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 เม.ย.--สวทช. “ครั่ง” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Laccifer lacca Kerr และมีชื่อสามัญว่า Lac เป็นแมลงชนิดหนึ่งมีขนาดเล็กมาก ลำตัวมีสีแดง อาศัยอยู่บนต้นไม้ โดยเฉพาะต้นจามจุรี ต้นก้ามปู หรือ ต้นฉำฉา ครั่งทำรังเป็นยางแข็ง หรือที่เรียกว่าชัน ซึ่งเป็นสารที่แมลงครั่งขับออกมาห่อหุ้มตัวเพื่อป้องกันตัวเองจากศัตรู นิยมเลี้ยงกันมากในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคอีสาน เพื่อป้อนโรงงานทำให้การเลี้ยงครั่งเป็นอาชีพที่สามารถทำรายได้เสริมให้กับเกษตรกรในชนบทได้ไม่น้อย ปีละหลายร้อยล้านบาท เนื่องจากครั่งมีประโยชน์ต่อมนุษย์อย่างมากมาย เช่น “ตัวครั่ง” ใช้ทำสีสำหรับย้อมผ้า ย้อมไหม หรือย้อมหนังสัตว์ “รังครั่ง” ยังมีประโยชน์ใช้ทำสิ่งของได้หลายอย่าง ใช้เคลือบผ้าพันสายไฟฟ้า หรือ เคลือบเม็ดยาให้มันและป้องกันความชื้น หรือ ใช้ทำสีผสมอาหาร นอกจากนี้ยังใช้เป็นส่วนประกอบในยาแผนโบราณเพื่อรักษาโรคบางชนิด ประโยชน์ที่สำคัญของครั่ง คือ ใช้ทำแชลแลคสำหรับทาไม้ให้เงาสวยงามทนทาน “ครั่ง” จึงยังเป็นที่ต้องการของหลายประเทศ แต่มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่สามารถผลิตครั่งส่งออกได้ โดยประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่ส่งออก “ครั่ง” ได้เป็นอันดับ 1 ใน 2 ของโลกรองจากประเทศอินเดีย โดยส่วนที่นิยมนำมาใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรม คือ สีจากครั่ง ที่ได้จากการสกัดน้ำล้างครั่ง นำไปใช้ทำสีย้อมผ้า ย้อมขนสัตว์ หรือใช้เป็นสีผสมอาหาร และเนื้อครั่ง หรือ ครั่งเม็ด ( Seed Lac) นำไปผลิตเป็น “แชลแลค” ถือเป็นพลาสติกจากธรรมชาติที่สุด ( Nature plastics ) แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ แชลแลคธรรมดา แชลแลคขาวหรือ แชลแลคฟอกสี และแชลแลคปรุงแต่ง ปัจจุบันมีการนำเอาแชลแลคมาใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมหมึกพิมพ์ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับวัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้า และ อุตสาหกรรมยาง นอกจากประโยชน์ดังกล่าว ยังมีการนำเอาแชคแลคมาใช้อย่างอื่นอีก เช่น ใช้เคลือบผิวผลไม้ ทำให้เหี่ยวช้าลงกว่าปกติ ใช้เคลือบลูกกวาด ยาเม็ด ใช้ในการผลิตน้ำยาล้างฟิล์มถ่ายรูป เป็นส่วนประกอบการในสารฆ่าเชื้อราสำหรับหนังสือ สารฆ่าแมลง หรือ ยาทาเล็บ เป็นต้น นายอนุศิษฎ์ ภูวเศรษฐ กรรมการบริหาร บริษัท ครีเอเชีย มิลล์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายครั่งเม็ดและสีแดงจากครั่งส่งออกรายใหญ่ของไทย กล่าวว่า บริษัทฯ เริ่มดำเนินธุรกิจในปี 2517 ด้วยการผลิตครั่งเม็ด ต่อมาในปี 2519 ผลิตสีแดงจากครั่ง และปี 2540 ได้ร่วมทุนกับคู่ค้าจากประเทศเยอรมันในนาม บริษัท EXECLACS จำกัด จัดตั้งโรงงานผลิต “แชลแลคขาว” หรือ แชลแลคฟอกสีจากครั่งเม็ด เป็นเกรดที่ใช้สำหรับอาหารและยาเพียงแห่งเดียวของไทยส่งออกจำหน่ายทั่วโลก “ ในประเทศไทยมีโรงงานผลิตครั่งเม็ดอยู่ 7 ราย ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ 5 ราย และภาคอีสาน 2 ราย ขณะที่โรงงานผลิตแชลแลคขาวมีอยู่เพียง 3 — 4 ราย แต่ส่วนใหญ่เป็นการผลิตแชลแลคขาวเกรดที่นำไปใช้กับงานไม้ ขณะที่การผลิตแชลแลคขาวเกรดที่ใช้ได้กับอาหารและยามีเพียงบริษัท ครีเอเชียมิลล์ จำกัดเพียงรายเดียวเท่านั้น โดยสินค้าที่บริษัทผลิตจะเน้นส่งออกต่างประเทศ นำไปแปรรูปเป็นสารหรือน้ำยาสำหรับเคลือบยาเม็ด ขนมหวาน อาหารหรือแว็กซ์ผิวผลไม้ต่างๆตลอดจนใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ส่งกลับมาขายให้กับอุตสาหกรรมในบ้านเรา ” นายอนุศิษฎ์ กล่าว ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตครั่งที่ใหญ่ที่สุด มีคุณภาพดีที่สุด จึงจุดประกายให้บริษัทฯ กลับมามองถึงความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยบริษัทได้เข้ารับการสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เครือข่ายภาคเหนือ ใน “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์แชลแลคขาวพร้อมใช้สำหรับเคลือบผิวเม็ดยาและอาหารประเภทคอนเฟคชั่นนารี่” เมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา โดยทางโครงการ iTAP ได้จัดส่งนายนพดล เหลืองภิรมย์ นักวิจัยอิสระ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชกรรม เข้ามาเป็นที่ปรึกษา เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์แชลแลคขาวพร้อมใช้ในรูปแบบของอิมัลชัน และสารละลายเข้มข้นเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ สำหรับเคลือบผิวเม็ดยาและอาหารประเภทคอนเฟคชั่นนารี่ และพัฒนาคุณสมบัติต่างๆ เบื้องต้นของแชลแลคขาวซึ่งเป็นวัตถุดิบเริ่มต้นให้เข้าสู่มาตรฐาน USP เนื่องจากแชลแลคเป็นพลาสติกธรรมชาติ( Natural plastics )ที่มีคุณสมบัติทางเคมีเฉพาะ เช่น สี ความเปราะ และไม่คงตัวเมื่อถูก oxidized ได้ง่าย ดังนั้น การใช้ประโยชน์จากแชลแลคจึงต้องมีการพัฒนาคุณภาพของสารเคลือบที่ใช้วัตถุดิบที่มาจากแชลแลค และการพัฒนาเทคโนโลยีในการเคลือบโดยใช้แชลแลค จึงจะสามารถใช้ประโยชน์จากแชลแลคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฉะนั้นการพัฒนาคุณภาพแชลแลคจึงต้องสามารถแก้ปัญหาคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีของแชลแลค นายอนุศิษฎ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า “ ในการแปรรูปจากแชลแลคขาวเกรดที่ใช้กับอาหารและยา เป็นสารหรือน้ำยาสำหรับเคลือบหรือแว็กซ์ผลไม้นั้นต้องมี know how เฉพาะ จึงอาศัยองค์ความรู้จากผู้เชียวชาญที่ทางโครงการ iTAP จัดหาเข้ามาทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์แชลแลคขาวของบริษัท เพื่อต่อยอดเป็นสารเคลือบเม็ดยาและอาหารประเภทคอนเฟคชั่นนารี่ หรือ ลูกกวาด ” สำหรับประโยชน์ที่บริษัทได้รับจากโครงการนี้ สามารถพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์แชลแลคขาวพร้อมใช้สำหรับการเคลือบเม็ดยาในรูปแบบผงแห้งสำเร็จรูป รูปแบบ Water base และรูปแบบ Solvent base และผลิตภัณฑ์แชลแลคขาวพร้อมใช้สำหรับเคลือบอาหารประเภทคอนเฟคชั่นนารี่ รูปแบบ Modified Solvent base ข้อดีของการ Modified แชลแลคขาว จะทำให้มีอายุการใช้งานได้ยาวนานขึ้น และสะดวกในการเก็บรักษาโดยไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ในห้องเย็น สามารถทนต่อสภาพอุณหภูมิปกติได้ ช่วยขจัดข้อจำกัดทางธรรมชาติของการใช้แชลแลคขาวจากเดิมที่ไม่สามารถทนต่ออากาศร้อนได้จะเกิดการเกาะตัวติดกันเป็นก้อนทำให้ความนิยมลดลงและหันไปใช้สารเคลือบสังเคราะห์ที่มีราคาสูงแทน อาทิ EUDRAGIT แต่แชลแลคนั้น ถือเป็นพลาสติกทางธรรมชาติที่ดีที่สุด และปลอดภัยที่สุด เพราะเป็นผลผลิตที่ได้จากแมลงครั่ง ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวใช้ระยะเวลาในการวิจัยและพัฒนาประมาณ 6 เดือน ปัจจุบัน บริษัทฯ ถือเป็นผู้ผลิตแชลแลคขาวพร้อมใช้สำหรับเคลือบผิวเม็ดยาและอาหาร รวมถึงเครื่องสำอาง เพียงรายเดียวของไทย ซึ่งหลังการพัฒนาผลิตภัณฑ์บริษัทฯ เตรียมออกแชลแลคขาวพร้อมใช้ฯ ออกสู่ตลาดในประเทศ เพื่อให้อุตสาหกรรมของไทยได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพสูงตามมาตรฐาน USP ปลอดภัย และราคาถูกกว่าไม่แพ้สินค้านำเข้าราคาแพงจากต่างประเทศ ก่อนจะขยายสู่ตลาดต่างประเทศต่อไป อย่างไรก็ดี แม้ว่าจากสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจโลก อาจส่งผลกระทบต่อยอดขายที่ลดลงจากการสั่งซื้อของลูกค้าในต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา แต่นายอนุศิษฎ์ก็ไม่คิดจะถอดใจ และเห็นว่าบริษัทไม่ควรหยุดนิ่งที่จะพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งๆขึ้น เพราะกระแสความนิยมผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติยังมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมสูงขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยการดำเนินธุรกิจบริษัทจะค่อยเป็นค่อยไปไม่เร่งรีบเพื่อรอจังหวะ สำหรับผลประกอบการปีที่ผ่านมา ยอดขายแชลแลคขาวเกรดที่ใช้กับอาหารและยาประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ยอดขายครั่งเม็ดลดลงมาเหลือประมาณ 30 ล้านบาทต่อปี ผู้สนใจผลิตภัณฑ์แชลแลคขาว , แชลแลคขาวพร้อมใช้ฯ , เม็ดครั่ง และสีแดงจากครั่ง สามารถติดต่อได้ที่ คุณอนุศิษฎ์ ภูวเศรษฐ บริษัท ครีเอเชียมิลล์ จำกัด เลขที่ 284 บ้านต้า หมู่ที่ 10 ต. ชมพู อ.เมือง จ.ลำปาง 52100 โทรศัพท์. 054-250-606-7 แฟ็กซ์ 054-325-082 หรือที่เว็บไซต์ www.shellacthailand.com สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้ารับการช่วยเหลือและสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP.) สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สวทช. สำนักงานกลาง (กทม.) โทร. 0-2564-8000 หรือ สวทช. เครือข่าย ภาคเหนือ โทร. 053-226-264 หรือ ที่เว็บไซต์ www.nstda.or.th และ www.nn.nstda.or.th ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ iTAP (สวทช.) คุณนก โทร. 0-2270-1350-4 ต่อ 115 มือถือ 081-421-8133

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ