นักวิจัย BRT พบ “ปาหนัน” ชนิดใหม่ของโลก คุณค่าที่เหนือกว่าไม้ประดับ

ข่าวทั่วไป Thursday April 16, 2009 09:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 เม.ย.--โครงการบีอาร์ที นักวิจัยบีอาร์ทีพบพืชสกุล “ปาหนัน” ชนิดใหม่ของโลก 3 ชนิด จากที่สำรวจพบในประเทศไทย 20 ชนิด เผยบางชนิดมีฤทธิ์ทางยา เช่น เป็นยาลดไข้ ใช้กันอย่างแพร่หลายในชนพื้นเมืองคาบสมุทรมลายู ล่าสุดมีรายงานพบสารต้านเนื้องอกและเซลล์มะเร็ง ระบุปาหนันชนิดที่พบสารดังกล่าวเป็นชนิดที่พบในเมืองไทย ดร. ยุธยา อยู่เย็น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ร่วมกับ รศ. ดร.วิไลวรรณ อนุสารสุนทร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ดร. ปิยะ เฉลิมกลิ่น ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ศึกษาความหลากหลายของพืชสกุลปาหนัน ซึ่งเป็นพืชในวงศ์เดียวกับกระดังงา ซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายของคนไทยในฐานะไม้ดอกโบราณที่มีกลิ่นหอมเย็น ภายใต้การสนับสนุนของ “โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก” และ “โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการBRT)” โดยจากการสำรวจพืชสกุลดังกล่าว พบว่าในประเทศไทยพบประมาณ 20 ชนิด จากประมาณ 120 ชนิดทั่วโลก “พืชสกุลปาหนันมีศูนย์กลางการกระจายพันธุ์ในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ประเทศไทยลงไปถึงคาบสมุทรมลายู โดยเกาะบอร์เนียวมีความหลากหลายมากที่สุด ประมาณ 30 ชนิด บริเวณคาบสมุทรมาลายูจำนวน 21 ชนิด และเกาะสุมาตราจำนวน 15 ชนิด ในประเทศไทยพบในทุกภาคแต่มีความหลากหลายมากในทางภาคใต้ตอนล่าง โดยทั่วไปมักพบขึ้นอยู่ตามบริเวณพื้นล่างของป่าดิบชื้น หรือป่าดิบเขา ซึ่งจากจำนวนชนิดที่พบ 20 ชนิดถือได้ว่าประเทศไทยมีความหลายหลายของพืชในสกุลปาหนันค่อนข้างสูงเช่นเดียวกัน” ดร.ยุธยา กล่าว ลักษณะโดยทั่วไปของพืชสกุลปาหนันเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กหรือไม้พุ่ม ออกดอกเป็นกระจุกตามลำต้น กิ่งหรือซอกใบ มีทั้งดอกขนาดเล็กเพียง 1 เซนติเมตร เช่น ดอกปาหนันจิ๋ว จนถึงดอกขนาดใหญ่ 6-12 เซนติเมตร เช่น ปาหนันช้าง ดอกมีสีเขียว ครีม เหลือง ชมพู หรือ ส้ม แล้วแต่ชนิด โดยมากมีกลิ่นหอมอ่อนๆ บางชนิดออกดอกตลอดทั้งปี แต่ส่วนมากออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม จากผลการสำรวจพบพืชสกุลปาหนันชนิดใหม่ของโลก 3 ชนิด ได้แก่ Goniothalamus aurantiacus, Goniothalamus maewongensis และ Goniothalamus rongklanus ซึ่งรายงานโดยดร. Richard M. K. Suanders และ ดร. ปิยะ เฉลิมกลิ่น และได้ตีพิมพ์แล้วในวารสาร Botanical Journal of the Linnean Society นอกจากนี้ยังได้ค้นพบพืชสกุลปาหนันชนิดที่ยังไม่เคยมีรายงานว่าเคยพบในประเทศไทย 5 ชนิด คือ ปาหนันจิ๋ว (G. elegans) ปาหนันยักษ์ (G. cheliensis) แสดสยาม (G. repevensis) บุหงาหยิก (G. sawtehii) และ ปาหนันผอม (G. umbrosus) ในแง่ของการใช้ประโยชน์ ดร.ยุธยา กล่าวว่า ชาวพื้นเมืองในท้องที่ต่างๆ แถบคาบสมุทรมลายูมีภูมิปัญญาพื้นบ้านในการนำปาหนันมาใช้เป็นยารักษาโรคในกลุ่มของคนพื้นเมืองในท้องที่ต่างๆ เช่น เป็นยาสำหรับผู้หญิงคลอดบุตร โดยใช้ต้นกิ่งเดียวดอกเดียว ปาหนันผอม และ บุหงาลำเจียก นอกจากนี้ชาวชวายังมีการนำเอารากต้นกิ่งเดียวดอกเดียวมาใช้ในการเป็นยาลดไข้ได้อีกด้วย สำหรับชาวไทยนั้นยังไม่ค่อยมีการใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ นอกจากเป็นไม้ดอกไม้ประดับ เนื่องจากเป็นพรรณไม้ที่มีกลิ่นหอมเย็น ดอกดก มีสีสันสวยงาม ลำต้นมีขนาดไม่ใหญ่จนเกินไป และมีใบเขียวตลอดทั้งปี เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบสวนแบบไทยๆ ที่มีความร่มเย็นของพรรณไม้ รวมทั้งกลิ่นหอมของดอกในยามค่ำคืน ตัวอย่างของชนิดที่เหมาะสมนำมาใช้เป็นไม้ประดับได้แก่ สบันงาป่า ข้าวหลามดง แสดสยาม บุหงาหยิก บุหงาลำเจียก ปาหนันมรกต ปาหนันผอม และส่าเหล้าต้น เป็นต้น นอกจากจะมีประโยชน์ในการนำมาใช้รักษาโรคตามภูมิปัญญาพื้นบ้านแล้ว ปัจจุบันยังมีรายงานการศึกษาในต่างประเทศพบสารออกฤทธิ์ต้านเนื้องอกและเซลล์มะเร็งจากพืชสกุลปาหนันอีกด้วย โดยพืชในสกุลปาหนันที่เคยมีรายงานการศึกษาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพแล้วได้แก่ ปาหนันช้าง (G. giganteus), ปาหนันผอม (G. umbrosus), ปาหนันพรุ (G. malayanus), ปาหนันยักษ์ (G. cheliensis), ปาหนันจิ๋ว (G. elegans) และสบันงาป่า (G. griffithii) ทุกชนิดเป็นชนิดที่พบในเมืองไทย ซึ่งในขณะนี้ ดร.ยุธยา ได้ทำการศึกษาการออกฤทธิ์ในปาหนันหลายชนิด และพบว่าปาหนันบางชนิดมีฤทธิ์ต้านมะเร็งดีมาก ซึ่งจะทำการศึกษาในระดับลึกต่อไป จึงนับได้ว่านอกจากจะมีศักยภาพในด้านการนำมาใช้เป็นไม้ประดับเพื่อความสวยงามแล้ว พืชสกุลปาหนันยังมีศักยภาพในด้านการนำมาใช้รักษาโรคมะเร็งที่ยังรอการค้นคว้าต่อไป พืชสกุลปาหนันจึงเป็นพืชกลุ่มใหม่ที่ควรได้รับความสนใจในการนำมาพัฒนาเชิงเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคตเป็นอย่างยิ่ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ