“ศ.ระพี สาคริก” แนะเยาวชนรับไม้ต่อภูมิปัญญาไทยด้านการเกษตร ในงานแถลงข่าวเวทีระพีเสวนา ครั้งที่ 2 “จากวันนั้นถึงวันนี้ ฤาสิ้นไร้ผู้สืบสาน?”

ข่าวทั่วไป Thursday April 16, 2009 13:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 เม.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล แถลงข่าวเวทีระพีเสวนา ครั้งที่ 2 “จากวันนั้นถึงวันนี้ ฤาสิ้นไร้ผู้สืบสาน?” ศ.ระพี แนะเยาวชนไทยต้องสืบสานภูมิปัญญาไทยด้านการเกษตร เชื่อการเกษตรคือยามเฝ้าแผ่นดิน ยิ่งเศรษฐกิจแย่ คนไทยยิ่งต้องหวงแหนแผ่นดินและให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาดั้งเดิม ด้านประยงค์ รณรงค์ ชี้เด็กรุ่นใหม่ติดค่านิยมทำงานหรู —เย็นสบายในออฟฟิศ ไม่สนใจอาชีพพ่อแม่ มั่นใจจากประสบการณ์ส่วนตัว อาชีพการเกษตรเป็นอาชีพที่มีศักดิ์ศรี พึ่งพาตนเองได้ และไม่ต้องเป็นลูกจ้างใคร ขณะที่บัณฑิตคืนถิ่น -นักปฏิบัติจากเมืองคอนเผยขอเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ น้อมรับภูมิปัญญาไทย พร้อมแบ่งปันเยาวชนบ้านเกิดร่วมสืบสาน ศ.ระพี สาคริก ราษฎรอาวุโสและปูชณียาจารย์ด้านการเกษตร กล่าวในงานแถลงข่าว โครงการระพีเสวนา: การเรียนรู้เพื่อความเป็นไทย ครั้งที่ 2 ภูมิปัญญาวิถีชีวิตไทยไท “จากวันนั้นถึงวันนี้ ฤาสิ้นไร้ผู้สืบสาน?” ว่า “จากสถานการณ์ปัจจุบัน ปากท้องถือเป็นเรื่องสำคัญมาก จึงต้องให้ความสำคัญกับอาชีพการเกษตร ซึ่งถือเป็นยามเฝ้าแผ่นดินเช่นเดียวกับทหาร ทว่าปัจจุบันตกอยู่ในภาวะอ่อนแอ จึงอยากฝากให้คนไทยมีความรู้สึกหวงแหนแผ่นดิน ไม่ขายที่ดินแก่ผู้ใด หลังจากที่ผ่านมาคนไทยมักถูกสบประมาทว่าพอเห็นเงินก็ตาโต จึงเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข ซึ่งต้องอาศัยความเข้มแข็ง ไม่ให้ใครมาล่อหลอกได้ พร้อมกันนี้อยากฝากให้เยาวชนไทยหันมาเรียนรู้ภูมิปัญญาด้านการเกษตรของไทย ซึ่งที่ผ่านมาถูกดูถูกและละเลยแล้วกลับไปให้ความสำคัญกับความรู้วิชาการที่ได้ศึกษามาจากต่างประเทศจนลืมรากฐานภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษสืบสานต่อกันมา” นายประยงค์ รณรงค์ ปราชญ์ชาวบ้านจากตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซประจำปี 2547 จากผลงานการเป็นผู้นำชักชวนให้ชาวบ้านรู้จักการเรียนรู้และพึ่งพาตนเองตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวว่า หลังจากที่คนไทยประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ ทำให้มีผู้หันกลับมาประกอบอาชีพการเกษตรมากขึ้น โดยพ่อแม่ที่เป็นเกษตรกรก็เห็นความสำคัญที่จะให้ลูกหลานรับช่วงต่อ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะเยาวชนรุ่นใหม่มักต้องการสร้างอาชีพใหม่ ได้ใช้ชีวิตที่มีความโก้หรู ทำงานในสำนักงานที่มีความสะดวกสบายมากกว่าการประกอบอาชีพเกษตรกรรมตามพ่อแม่ อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์ของตัวเองพบว่า อาชีพเกษตรกรรมเป็นอีกอาชีพที่มีศักดิ์ศรีไม่ต่างจากอาชีพใดๆ นอกจากนั้นหากเกษตรกรมีการศึกษา สามารถวางแผน และดำเนินการอย่างรอบคอบรัดกุม เกษตรกรก็สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจเองได้ ไม่ต้องเป็นลูกจ้างของนายทุน อีกทั้งยังมีเงินเก็บสำหรับบั้นปลายชีวิตไม่ต่างจากอาชีพรับราชการ และยังมีเวลาใช้ชีวิตที่เหลือทำประโยชน์แก่สังคมเพื่อสนองคุณแผ่นดินได้อีกด้วย ส่วน นายสมพร ทองเพิ่ม บัณฑิตคืนถิ่นวัย 28 ปี แกนนำเยาวชนในโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ดำเนินการโดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ฯ กล่าวว่า ปัจจุบันเขาเป็นเจ้าของสวนกล้วยหอมและแปลงผักผลไม้รวมกันกว่า 20 ไร่ ในอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยยึดหลักว่า “ทำได้ ต้องขายเป็น” โดยการตัดวงจรพ่อค้าคนกลาง ทำให้มีรายได้พออยู่พอกินและขายกล้วยหอมที่มีคุณภาพถึงมือผู้บริโภคได้ด้วยตัวเอง ซึ่งนอกจากเขาจะสร้างอาชีพและมีรายได้จนสามารถเลี้ยงตนเองได้อย่างมั่นคงแล้ว เขายังได้ช่วยเหลือวัยรุ่นในเขตอำเภอทุ่งสงให้มีอาชีพและรายได้เช่นเดียวกับเขา ผ่านการถ่ายทอดความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติจริงของตนเองในด้านเกษตรและการบริหารจัดการด้านการตลาดแบบครบวงจร จนเวลานี้มีเยาวชนในพื้นที่ที่มีความตั้งใจจริงดำเนินรอยตาม จนมีแปลงเกษตรเป็นของตัวเอง ทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะรับไม้ต่อภูมิปัญญาไทยในด้านการเกษตรซึ่งเป็นการเรียนรู้เพื่อความเป็นไทอย่างแท้จริง เพราะเกิดจากแรงบันดาลใจ จินตนาการ และจิตสำนึกแห่งการเรียนรู้อย่างอิสระผ่านกระบวนการสร้างความรู้ด้วยตนเองผ่านการลงมือปฏิบัติในสวนเกษตรซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ของเขา เนื่องจากเป็นองค์ความรู้ที่มีคุณค่า หาไม่ได้จากในห้องเรียน โดยอยากมีส่วนร่วมในการประคับประคองมรดกชิ้นนี้ของบรรพบุรุษ ทำให้อาชีพการเกษตรเป็นอาชีพที่มีศักดิ์ศรี เกิดความภาคภูมิใจ ซึ่งไม่จำเป็นต้องขวนขวายหาจากภายนอก ทั้งนี้ การจัดเวทีความรู้ โครงการระพีเสวนา :การเรียนรู้เพื่อความเป็นไทย ครั้งที่ 2 ภูมิปัญญาวิถีชีวิตไทยไท “จากวันนั้นถึงวันนี้ ฤาสิ้นไร้ผู้สืบสาน?” จะมีขึ้นในวันที่ 3 พฤษภาคม 2552 ระหว่างเวลา 08.00-16.30 น. ณ หอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ โดยมีองค์กรภาคีร่วมจัดคือ มูลนิธิระพี-กัลยา สาคริก สถาบันอาศรมศิลป์ ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ไฮไลต์ของงานประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษโดย ศ.ระพี สาคริก และ ศ.เสน่ห์ จามริก จากนั้นจึงเป็น การจุดประกายความคิดและประสบการณ์บนวิถีเกษตรกรรมพึ่งตนเอง โดย สมณะเสียงศีล ชาตวโร กลุ่มสันติอโศก ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ เจ้าของสวนธรรมเกษตร, รวมถึง การถ่ายทอดประสบการณ์ของผู้นำเกษตรกรรมพึ่งตนเอง โดยนายชัยพร พรหมพันธุ์ เกษตรกรดีเด่นจากสาขาอาชีพทำนาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประจำปี 2538 และนายธงไชย คงคาลัย ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้เกษตรสมดุล สวนธงไชย —ไร่ทักสม ก่อนจะมีการพักรับประทานอาหารกลางวันตามอัธยาศัยจากครัวธรรมชาติ และการชมนิทรรศการมีชีวิต ซึ่งเป็นผลงานความสำเร็จและความภาคภูมิใจของปราชญ์และแกนนำเยาวชนที่สะท้อนให้เห็นรากเหง้าของภูมิปัญญาไทย ต่อจากนั้น ในช่วงบ่ายจะมี เวทีสืบสานภูมิปัญญาวิถีชีวิตไทยไท: จากปราชญ์ถึงเยาวชน โดยครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ นายประยงค์ รณรงค์ เจ้าของรางวัลแมกไซไซประจำปี 2547 และนายสมพร ทองเพิ่ม บัณฑิตคืนถิ่นผู้ปราวณาตนเป็นผู้สืบสานต่อภูมิปัญญาด้านการเกษตรของไทย จากนั้นจะมี การเปิดเวทีสะท้อนความคิดเห็นโดยนายโชคดี ปรโลกานนท์ เจ้าของสวนลุงโชค และนางศิริพร โชติชัชวาลย์กุล เจ้าของสวนฝากดิน ก่อนจะมีการกล่าวปิดเวทีอย่างเป็นทางการโดยอาจารย์อำนวย จั่นเงิน รองประธานมูลนิธิระพี —กัลยา สาคริก สำหรับผู้สนใจร่วมงานสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ประสานงานเครือข่าย : โครงการระพีเสวนา หมายเลขโทรศัพท์ 0-2870-7512-3 ต่อ 110 หรือที่อีเมล rapeesewana_news@hotmail.com ติดต่อฝ่ายสื่อสารสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจล สมเกียรติ พุทธิจรุงวงศ์ 086-547-2884 หรืออีเมล scbf_somkeait@scb.co.th หรือติดตามความเคลื่อนไหวและดาวน์โหลดข่าวสารพร้อมภาพได้ที่เว็บไซต์ของมูลนิธิ www.scbfoundation.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ