ศิลปิน: เขม

ข่าวบันเทิง Friday April 24, 2009 15:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 เม.ย.-- ศิลปิน: เขม อัลบั้ม: Space Station (สเปซ สเตชั่น) ความเป็นมา: - เขม (เขมวิช ภังคานนท์) เป็น โปรดิวเซอร์/นักร้อง/นักแต่งเพลง ที่เคยออกอัลบั้มมาแล้ว 2 ชุด ชุดแรกชื่อ Insomnia Lullabies (“อินซอมเนีย ลัลลาบายส์”) - ชุดที่สอง cu@dnOfTheWorld (“ซียูแอท ดิ เอ็น ออฟ เดอะ เวิรลด์”) ได้รับรางวัล คม ชัด ลึก อวอร์ด 3 รางวัล ในปี 2551 ในสาขา “ศิลปินชายเดี่ยวยอดเยี่ยม” “อัลบั้มยอดเยี่ยม” และ “เพลงบรรเลงยอดเยี่ยม” - ก่อนที่จะมาทำงานดนตรี เขมเป็น ที่ปรึกษากฎหมายให้บริษัทหลักทรัพย์อเมริกัน ที่โตเกียวและกรุงเทพฯ - ก่อนหน้านั้น เป็นนักข่าว และ พนักงานธนาคาร เขมจบปริญญาตรีรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับปริญญากฎหมาย Juris Doctor จากสหรัฐอเมริกา - ปัจจุบันเขมเป็นทนายความ (สมาชิกสภาทนายความรัฐนิวยอร์ก) และนักวิชาการด้านกฎหมายสินเชื่อ - นอกจากการทำงานในอัลบั้มนี้ ในปีที่แล้ว เขมมีงานด้านอื่นๆ เช่น เขียนบทความวิชาการ เรื่องกฎหมายสินเชื่อ ในวารสารกฎหมาย ประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นวิทยากรรับเชิญให้ มหาวิทยาลัยในประเทศเกาหลี เป็นต้น เกี่ยวกับอัลบั้มใหม่ Space Station (“สเปซ สเตชั่น”): - กำหนดวางจำหน่ายในเดือนพฤษภาคม เพลงโปรโมทชื่อเพลง “มีแต่วันนี้” - จุดเด่นของอัลบั้ม: เป็นพ็อพที่มีส่วนผสมของดนตรีหลากหลาย ทั้งในแง่ของแนว (แจ็ซ เทคโนร็อค ดนตรีคลาสสิค) และในแง่ของการเรียบเรียงดนตรี เช่น ใช้เครื่องดนตรีตะวันออก(ขิม, ชามิเซ็ง) บรรเลงผสม กับเครื่องดนตรีตะวันตก เป็นต้น (แฟนเพลงคนหนึ่งให้นิยามแนวของเขมว่า “สเปซร็อค”) - บันทึกเสียงโดยได้รับความร่วมมือจากนักดนตรีชั้นแนวหน้ามากมาย อาทิเช่น วงแจ๊ซแม้นศรี ฆ้อง มงคล(โยคี เพลย์บอย), ปั๊ม อพาร์ทเมนท์คุณป้า, เอ๊าะ สกายคิกเรนเจอร์, เลสเตอร์ เอสเตบัน (อดีตมือกลอง หิน เหล็ก ไฟ, ปัจจุบันปรมาจารย์กลองแจ๊ซ), ก้อ กรู๊ฟไรเดอร์ และคณาจารย์จาก ม.ศิลปากร ม.รังสิต และ ม.มหิดล - มาสเตอร์ของอัลบั้ม ทำที่อเมริกาโดยซาวนด์เอ็นจิเนียร์ชื่อดัง เกร็ก คาลบี้ ซึ่งนอกจากจะเคยร่วมงาน กันในชุดที่สองของเขม ยังเป็นซาวนด์เอ็นจิเนียร์ให้ บรู๊ซ สปริงสทีน ไมค์ สเติร์น เจมส์ เทเลอร์ ไบรอัน อีโน ฯ - มีทั้งหมด 10 เพลง โดยเขมแต่งเนื้อร้องและทำนอง 9 เพลง ส่วนอีกเพลง เป็นเพลง ที่ประพันธ์ทำนองโดยหลวงสุขุมนัยประดิษฐ และเรียบเรียงโดยเขมเป็นแบบแจ๊ซ - เป็นคอนเซ็บท์อัลบั้ม คือเพลงทุกเพลงมีเนื้อหาที่เชื่อมโยงกันตลอดอัลบั้ม เนื้อหาเกี่ยวกับ “ความรู้สึกแปลกที่แปลกเวลา” ซึ่งอาจจะเกิดจากความเสียดาย/เสียใจ เหมือนถูกขังในอดีต จนละเลยปัจจุบัน ความตั้งใจคือ เพื่อปลอบโยนคนฟังที่ยังฝังใจกับความรู้สึกนี้ แรงบันดาลใจคือ หนังสือและหนังแนวไซไฟ/สยองขวัญ (sci-fi/horror) อาทิเช่น หนังสือของอาจาร์ยเหม เวชกร หนังเรื่องThe Shining, Blade Runner, Underworld, Interview with the Vampire เป็นต้น เขมกับแต่ละเพลงในอัลบั้ม Space Station 1. วังวนเวลา (Time Maze) ในบางอารมณ์ เราคงเคยรู้สึกเหมือนเดินวนไปวนมาในเขาวงกต หลงทางในอดีต อะไรอย่างนี้ แล้วรู้สึกว่าเมื่อไหร่จะออกจากตรงนี้ไปได้ซักที แขกพิเศษกีตาร์โปร่งโดย ฆ้อง มงคล (โยคี เพลย์บอย) 2. แม่น้ำร้อยสาย (100 Rivers, One Blade) เป็นเพลงบรรเลงแจ๊ซ ที่เขมได้รับเกียรติจาก แม้นศรี วงดนตรีแจ๊ซชั้นนำของไทย ที่ประกอบด้วยเหล่าอาจาร์ยจาก ม.ศิลปากร มาบรรเลงร่วมกัน โดยบรรยากาศจะออกแนวซามูไร(นิดๆ) 3. มีแต่วันนี้ (Endgame) เป็นเพลงร็อคในสไตล์ของเขม (สเปซร็อค?) โดยมี ก้อ กรู๊ฟ ไรเดอร์ มาเล่น bass กระแทกอารมณ์ เข้ากับเนื้อหาที่เกี่ยวกับ การตัดสินใจจะทำอะไรโดยไม่แคร์ต่ออุปสรรค 4. คนจากอดีต/อนาคต (Visitors from the Past/Future) ในความคาดหวังและความเสียดาย ถ้าวันหนึ่ง เรามีโอกาสได้คุยกับ ตัวเองในอดีต(ความหวัง) และ ตัวเองในอนาคต(ความกังวลและความเสียดาย) บรรยากาศอาจจะคล้ายๆเพลงนี้ เพลงเหงา(ที่ไม่เศร้า) 5. a place ในวันที่เหนื่อยล้า เสียงของความหวังและกำลังใจว่าในโลกนี้น่าจะต้องมีที่ให้เรายืนอยู่ น่าจะมีเสียงเหมือนเพลงนี้ เป็นเพลงบรรเลงเครื่องดนตรี 2 ชิ้น เขมเล่นเปียโน อาจารย์เต้ ศักดิ์พล จาก ม.มหิดล เล่นขิม 6. ในความมืด (Dark Matter) เป็นเพลงโปรเกสสีฟร็อค ยาวประมาณ 7 นาที ทำนองและเนื้อหาบรรยายถึง มุมมืดในใจคน และความรู้สึกที่ว่า เราจะจมอยู่ในความมืดไปทำไม ในเมื่อทุกครั้งที่เราหายใจอยู่ในความมืด เวลาก็เดินผ่านไป เร็วบ้าง ช้าบ้าง เพลงนี้อาจารย์ Lester Esteban (อดีตมือกลอง หิน เหล็ก ไฟ, เดอะซัน) โชว์ลวดลายการหวดกลอง ทั้งในแบบเฮฟวี่ เมทัล และแบบช้าๆแต่หนักแน่น 7. ความหลัง…กักขัง (Terminal Sadness) เพลงบัลลาดช้าๆ ที่สรุปเนื้อหาของอัลบั้มนี้ ถ้าใครที่กำลังฟังเพลงนี้อยู่ อยากให้คิดว่า มีคนเข้าใจความรู้สึกนี้นะ ถ้าวันเวลาไม่รักษาใจ ระหว่างที่ถูกกักขังในความหลัง ก็จะมีเพลงนี้อยู่เป็นเพื่อน 8. ใจต่อใจ (Hey There) ใครจะรู้ว่าเวลาจะพัดพาเราไปที่ไหน ความรู้สึกดีตอนเรามีใครซักคนที่เป็นเพื่อน สามารถเปิดใจกับเขา ในเวลาที่เราเป็นทุกข์ เราก็คงไม่น่าจะทุกข์มาก เพลงนี้ เอ๊าะ สกายคิกเรนเจอร์ (ซึ่งเป็นขาประจำในอัลบั้มของเขม และเล่นอยู่หลายเพลงในอัลบั้มนี้) และ อาจารย์ Lester ดวล Bass และ กลอง solo กันสนุกมาก ส่วนเขมเล่นชามิเซ็ง (เครื่องดีดสามสายของญี่ปุ่น) 9. ความลับระหว่างเรา (Secrets Between Us) สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างคนสองคน จะดีแค่ไหน จะจริงแค่ไหน เห็นตรงกันหรือเปล่าก็ไม่รู้ จะยังไงก็ตาม ก็คงเป็นความลับระหว่างคนสองคน เพลงนี้ เขมร้องและเล่นกีตาร์โปร่งคู่กับ ปั๊มพ์ อพารท์เมนท์คุณป้า 10. สิ้นรัก สิ้นสุข เป็นเพลงไทยสากลเก่า ที่คุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ ประพันธ์ทำนองไว้ เขมไปได้ยินจากหนังเรื่อง เปนชู้กับผี และคิดว่าทำนองทั้งเพราะทั้งเศร้า เหมาะกับการนำมาเรียบเรียง เป็นเพลงบรรเลงปิดอัลบั้ม เมื่อได้รับอนุญาตจากทายาทของคุณหลวงฯ เขมจึงนำเพลงนี้มาบรรเลง กับวงแจ๊ซชั้นนำของไทย อีกวงหนึ่ง คือวงทรีโอของ ด.ร. เด่น อยู่ประเสริฐ และ คณาจารย์วิทยาลัยดนตรี ม.รังสิต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ