ก.พลังงาน เผยตัวเลขนำเข้าน้ำมันดิบปี 49 ลดลง 5% เทียบกับ ปี 48

ข่าวบันเทิง Thursday February 23, 2006 13:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--สนพ.
ก.พลังงาน เผยตัวเลขนำเข้าน้ำมันดิบปี 49 ลดลง 5% เทียบกับ ปี 48 สะท้อนนโยบายประหยัดพลังงานได้ผลแต่ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันประหยัดต่อเนื่อง ด้านนักวิชาการพลังงาน ชี้ นำเข้าน้ำมันไม่ใช่ปัจจัยหลักในการขาดดุลการค้าของประเทศ
นายเมตตา บันเทิงสุข ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของประเทศไทยในเดือนมกราคม 2549 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (เดือนมกราคม 2548) ลดลง 5% จากวันละ 844 พันบาร์เรล เหลือวันละ 802 พันบาร์เรล แต่จากวิกฤตราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม ปีที่ผ่านมาเพิ่มสูงถึง 50% จาก 41.93 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 62.70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในปีนี้ และเป็นผลให้มูลค่าการนำเข้าสูงขึ้น
ทั้งนี้ ปริมาณการนำเข้าน้ำมันในประเทศไทย ถือว่าลดลงจากเดิมเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการประหยัดการนำเข้าพลังงาน ซึ่งนอกจากการนำเข้าน้ำมันดิบจะลดลงแล้ว การนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปก็ยังลดลงถึง 29.9% เหลือเพียง 3.8 ล้านลิตรต่อวัน นอกจากนี้ยอดการใช้น้ำมันดีเซล และเบนซินของประชาชนก็ได้ปรับตัวลดลง โดยมีปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลอยู่ที่ระดับ 50.4 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 9.4% และปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินออกเทน 95 และเบนซินออกเทน 91 อยู่ที่ระดับ 16.1 ล้านลิตรต่อวัน หรือลดลง 17.1%
ด้านนายเทียนไชย จงพีร์เพียร นักวิชาการด้านพลังงาน กล่าวว่า จากยอดนำเข้าที่สูงขึ้นของประเทศไทย จนทำให้ประสบภาวะขาดดุลการค้านั้น ปัจจัยสำคัญไม่ใช่มีเพียงแค่การนำเข้าพลังงาน โดถยเฉพาะน้ำมันที่แม้จะการนำเข้าลดลง แต่ราคาก็ได้เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 40-50% หากเทียบกับปี 2548 ที่ ผ่านมา โดยมูลเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นนั้น ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย การนำเข้าสินค้าทุน ประเภทอื่น ๆ อาทิ การนำเครื่องจักร เครื่องมืออุตสาหกรรม รถยนต์ รวมทั้งสินค้าฟุ่มเฟือยอื่น ๆ อาทิ เครื่องสำอาง เครื่องประดับ ประเภททองคำ เป็นต้น
ส่วนสถานการณ์และแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกนั้น ยังมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น อันเนื่องจากสาเหตุความสงบในตะวันออกกลาง การก่อการร้ายในประเทศไนจีเรีย รวมทั้งกำลังการผลิต (Supply) ที่ค่อนข้างจำกัด จากปัญหาโรงกลั่นน้ำมันที่ไม่มีการก่อสร้างขึ้นใหม่ รวมทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเอเชียยังมีแนวโน้มที่จะเติบโต และมีความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
อนึ่ง สัดส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าของไทยในปี 2548 พบว่า สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าอันดับหนึ่ง 42% คือ วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง เช่น ธัญพืชและอาหารสัตว์ สัตว์น้ำแปรรูป กระดาษ เป็นต้น อันดับสอง 27% คือ การนำเข้าสินค้าทุน เช่น เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและชิ้นส่วนที่ใช้ในอุตสาหกรรม เป็นต้น และอันดับสาม คือ การนำเข้าน้ำมันดิบ โดยการนำเข้าน้ำมันดิบเมื่อปี 2548 ก็ได้ลดลงจากปี 2547 ซึ่งมีสัดส่วนมูลค่านำเข้าอยู่ที่ระดับ 14%--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ