พม. จัดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตเด็กต่างวัฒนธรรม ๒ ภูมิภาคใต้ - อีสาน

ข่าวทั่วไป Monday May 4, 2009 15:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--พม. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตเด็กต่างวัฒนธรรม ปี ๒๕๕๒ นำ ๖๐ เยาวชน จากจังหวัดยะลา ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตชาวอีสาน กับ ๖๐ ครอบครัว ตัวแทนเมืองดอกบัว ระหว่างวันที่ ๓ — ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ที่ อ.วารินชำราบ และ อ.อุดมเดช จ.อุบลราชธานี วันนี้ (๔ พ.ค.๒๕๕๒) เวลา ๑๗.๐๐ น. ที่โรงแรมอุบลบุรี รีสอร์ท จ.อุบลราชธานี นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตเด็กต่างวัฒนธรรม ปี ๒๕๕๒ ว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ ได้จัดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตเด็กต่างวัฒนธรรม ปี ๒๕๕๒ ภายใต้แผนพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน ตระหนักในคุณค่าของวัฒนธรรม และมีทักษะชีวิตท่ามกลางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ภาคภูมิใจในความเป็นไทย อันจะนำมาซึ่งความรักชาติ และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยมีเด็ก เยาวชน ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลาย จำนวน ๖๐ คน จากจังหวัดยะลา เดินทางมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องของศิลปวัฒนธรรมอีสาน การทำงานเป็นทีม ทัศนศึกษาสถานที่ประวัติศาสตร์ พร้อมทั้งพักกับครอบครัวรับรอง ที่ ต.คำน้ำแซบ อ.วารินชำราบ และ ต.เมืองเดช อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี เพื่อศึกษาวิถีชีวิตประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ระหว่างวันที่ ๓ — ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒ นายอิสสระ กล่าวต่อว่า โครงการนี้ จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก เยาวชน เพื่อเกิดทักษะชีวิต สามารถคิด ตัดสินใจ แก้ปัญหาและปรับตัวให้มีพฤติกรรมที่ถูกต้อง แก้ปัญหา สถานการณ์ต่างๆ เพื่อการดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม โดยการให้เด็ก เยาวชนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของตัวเด็ก ครอบครัว ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องเปิดใจ ยอมรับ และเรียนรู้ในสิ่งที่แตกต่าง ทั้งเรื่องของอาหาร ภาษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ด้วย “ความตระหนักในคุณค่าของวัฒนธรรมไทย และความเป็นไทย จะนำมาซึ่งความรักชาติ และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ท่ามกลางความแตกต่าง นอกจากนี้ การรู้เท่าทันสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก็จะเป็นการสร้างโอกาสอันดีที่จะได้ศึกษาเรียนรู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์สำหรับการดำเนินชีวิตในสังคมที่มีความหลากหลายต่อไป” นายอิสสระ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ