การใช้สิทธิเบิกเงินสวัสดิการรักษาพยาบาล

ข่าวทั่วไป Thursday December 21, 2006 17:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--กรมบัญชีกลาง
กรมบัญชีกลางชี้แจงการเบิกเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลของผู้มีสิทธิ และบุคคลในครอบครัว ในระบบจ่ายตรง พร้อมทั้งเสนอแนวทางแก้ไขประเด็นสิทธิซ้ำซ้อน เพื่อให้เลือกใช้สิทธิได้
นายปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามที่กรมบัญชีกลางได้มีการพัฒนาระบบจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลให้แก่ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ผู้รับเบี้ยหวัด/บำนาญ และบุคคลในครอบครัวนั้น ก็เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัว เมื่อไปรักษาพยาบาลก็ไม่ต้องจ่ายเงินไปก่อน โดยสถานพยาบาลจะขอเบิกจากกรมบัญชีกลางเอง ซึ่งเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายได้อย่างมาก สำหรับขั้นตอนและวิธีการนั้นจะต้องบันทึกข้อมูลต่างๆ เข้าในระบบเพื่อเป็นฐานข้อมูลของส่วนราชการ และเป็นข้อมูลของสถานพยาบาลด้วย ว่ามีผู้ป่วยที่สามารถใช้สิทธิเบิกเงินสวัสดิการจากทางราชการจำนวนเท่าใด และมีค่าใช้จ่ายเป็นเงินค่ารักษาเท่าใด เพื่อจะได้ขอเบิกเงินจากกรมบัญชีกลางต่อไป ซึ่งขั้นตอนการลงทะเบียนก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร เพียงแต่นำบัตรประจำตัวข้าราชการ บัตรประชาชน และบัตรผู้ป่วย ไปติดต่อลงทะเบียนที่สถานพยาบาลที่รักษาอยู่เป็นประจำ หากเป็นบุคคลในครอบครัวของผู้มีสิทธิ ก็นำสำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการเจ้าของสิทธิเป็นหลักฐานในการลงทะเบียนด้วย โดยข้าราชการเจ้าของสิทธิไม่จำเป็นต้องไปด้วย ซึ่งกรมบัญชีกลางได้แจ้งเวียนแนวทางปฏิบัติให้แก่หน่วยงานและสถานพยาบาลทราบไปแล้ว
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวต่อว่า ในส่วนของสิทธิที่ปรากฏว่ามีการซ้ำซ้อนกันนั้น ขอเรียนชี้แจงให้ทราบก่อนว่า ตามเจตนารมณ์ของการจัดสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลตามกฎหมายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2523 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การช่วยเหลือ อำนวยประโยชน์เมื่อมีการเจ็บป่วย บรรเทาความเดือดร้อนบางส่วนตามฐานะงบประมาณแผ่นดิน และเงื่อนไขสำคัญจะต้องคำนึงถึงภาระงบประมาณ ที่จะต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศแต่ละยุคสมัย ซึ่งตามมาตรา 9 ของพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกำหนดว่า กรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการตามกฎหมาย หรือบุคคลในครอบครัวมีสิทธิหรือได้รับเงิน
ค่ารักษาพยาบาล จากหน่วยงานอื่นแล้ว ผู้นั้นไม่มีสิทธิรับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เว้นแต่ค่ารักษาพยาบาล ที่ได้รับนั้นต่ำกว่า ก็ให้ มีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการเฉพาะส่วนที่ขาดอยู่ ซึ่งเป็นหลักการให้ความช่วยเหลือที่มีเงื่อนไขมิให้ได้รับสิทธิซ้ำซ้อน และในการเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล กำหนดไว้ชัดเจนว่า ต้องไม่มีสิทธิได้รับเงิน ค่ารักษาพยาบาลจากรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของส่วนราชการ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือจากหน่วยงานอื่น ทั้งนี้ “หน่วยงานอื่น” หมายถึง หน่วยงานอื่นซึ่งมิใช่เฉพาะหน่วยงานของส่วนราชการ เช่น รัฐวิสาหกิจ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล หน่วยงานธุรกิจของเอกชนโดยทั่วไป เป็นต้น ซึ่งข้าราชการผู้ใช้สิทธิจะรับรองข้อเท็จจริงด้วยตนเอง
ดังนั้น หากข้าราชการมีสิทธิประกันสังคมจากหน่วยงานอื่นแต่มิได้แจ้ง ผู้ตรวจสอบสิทธิการเบิกจ่าย ก็ไม่ทราบและไม่ระงับสิทธิการเบิกจ่าย ต่อมาได้มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลขึ้น ทำให้สามารถตรวจสอบได้ว่า มีสิทธิได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลจากหน่วยงานอื่น จึงได้ระงับสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาฯ นี้ แต่มิได้หมายความว่าจะหมดสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล เพียงแต่ต้องไปใช้สิทธิจากหน่วยงานอื่นก่อน และหากมี ส่วนขาดที่เบิกไม่ได้จึงนำมาเบิกตามพระราชกฤษฎีกาฯ นี้ จะเห็นได้ว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ดำเนินงานมานานแล้ว
อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้มีการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. .... ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในประเด็นของสิทธิซ้ำซ้อน โดยให้ผู้นั้นเลือกว่าจะใช้สิทธิจากหน่วยงานอื่นหรือตามพระราชกฤษฎีกานี้ และกระทรวงการคลังจะเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจาก หน่วยงานอื่น เมื่อผู้มีสิทธิเลือกใช้สิทธิตามพระราชกฤษฎีกานี้ ซึ่งการพิจารณากฎหมายดังกล่าวจะต้องหารือร่วมกับสำนักงานประกันสังคม ซึ่งอาจจะต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นใหม่ทั้งในเรื่องระบบและผู้มีสิทธิ แต่ในระหว่างที่การแก้ไขพระราชกฤษฎีกาฯ ยังไม่แล้วเสร็จ ก็จะนำหลักเกณฑ์ที่กำหนดร่วมกันมาพิจารณา และดำเนินการต่อไปเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น และจะได้แจ้งให้ทราบต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ