วว. ประกาศถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในอุตสาหกรรมเลี้ยงไก่เชิงพาณิชย์

ข่าวทั่วไป Wednesday May 6, 2009 13:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 พ.ค.--วว. วว. ประกาศถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในอุตสาหกรรมเลี้ยงไก่เชิงพาณิชย์ ระบุสารสกัดพลูเร่งการเจริญเติบโตสูงสุด ผลิตภัณฑ์ C.E. ป้องกันการติดเชื้อแซลโมแนลลาได้100% สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกาศพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเร่งการเจริญเติบโตและป้องกันการติดเชื้อในอุตสาหกรรมเลี้ยงไก่ หวังเพิ่มศักยภาพการส่งออก เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันผู้ประกอบการไทย ระบุสารสกัดจากพลูมีประสิทธิภาพเร่งการเจริญเติบโตของไก่มีน้ำหนักตัวเฉลี่ย 2,856 กรัม ผลิตภัณฑ์ C.E. ป้องกันการติดเชื้อแซลโมแนลลาได้ 80-100% นายสุรพล วัฒนวงศ์ รักษาการผู้ว่าการ วว. กล่าวชี้แจงว่า วว. พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต “ผลิตภัณฑ์สมุนไพรฆ่าเชื้อเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่” และ “การวิจัยและผลิตภัณฑ์ Competitive Exclusion (C.E.) เพื่อป้องกันการติดเชื้อในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ปีก” ให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจนำไปผลิตในเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย และให้ไก่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ในรูปแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทั้งสองผลิตภัณฑ์ หรือเพียงผลิตภัณฑ์เดียว โดยตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกอบการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก วว. นั้น จะมีนักวิจัยของโครงการให้คำแนะนำปรึกษาตลอดทั้งโครงการ ทั้งนี้ วว. ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก บริษัทสหฟาร์ม จำกัด ในการทดสอบขั้นสุดท้ายของผลิตภัณฑ์ทั้งสองกับไก่ที่อายุการเลี้ยง 49 วัน ในฟาร์มขนาดใหญ่ของบริษัทพบว่า ผลิตภัณฑ์สมุนไพรฆ่าเชื้อเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ ซึ่งมี 2 รูปแบบ คือ สารสกัดที่เตรียมให้อยู่ในรูปผงแห้งใช้ผสมในอาหาร และสารสกัดที่อยู่ในรูปผงแห้งใช้ละลายในน้ำดื่ม ซึ่งพัฒนาจากสมุนไพรไทย 4 ชนิด คือ ตะไคร้ แมงลัก ไพล และพลู นั้น ผลการทดสอบปรากฎว่า ผลิตภัณฑ์จากสารสกัดสมุนไพรพลูมีประสิทธิภาพในการเพิ่มผลการเลี้ยงในไก่เนื้อสูงสุด โดยไก่มีน้ำหนักตัวเฉลี่ย 2,856 กรัม มีอัตราการแลกเนื้ออยู่ที่ 1,968 กรัม อัตราการเจริญเติบโต 58.29 กรัมต่อวัน นอกจากนั้นยังพบว่าเนื้อไก่ที่ได้มีเนื้อสัมผัสที่นุ่มกว่าไก่ที่ไม่ได้เลี้ยงด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากสารสกัดพลู ส่วนผลิตภัณฑ์ Competitive Exclusion เพื่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ หรือผลิตภัณฑ์ C.E. ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มเชื้อที่แยกจากไก่ตามฟาร์มที่เลี้ยงในภาคต่างๆ ของประเทศ ผลการทดสอบเมื่อไก่ได้รับผลิตภัณฑ์เพียง 1 ครั้งเท่านั้น ให้ผลการเลี้ยงดีกว่าไก่ในกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับผลิตภัณฑ์ ในเรื่องอัตราการแลกเนื้อและดัชนีการเลี้ยงโดยการประเมินผลกำไรต่อตัวที่อายุ 49 วัน พบว่า ไก่กลุ่มที่ได้รับผลิตภัณฑ์มีผลกำไรต่อตัวสูงกว่ากลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับผลิตภัณฑ์เท่ากับ 1.65 บาทต่อตัว นอกจากนี้ยังพบว่า ผลิตภัณฑ์สามารถป้องกันลูกไก่ไม่ให้ติดเชื้อแซลโมแนลลาได้ตั้งแต่ 80-100% ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ โดยสามารถป้องกันการติดเชื้อ Salmonella Enteritidis ได้ 100% และป้องกันการติดเชื้อ Salmonella Typhimurium ได้ 80% “ผลการทดสอบขั้นสุดท้ายในระดับฟาร์มขนาดใหญ่ของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เป็นสิ่งยืนยันว่าผลงานวิจัยและพัฒนาของ วว. สามารถนำไปใช้งานได้จริง และเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อลดและป้องกันการติดเชื้อแซลโมแนลลาในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ปีกที่มีประสิทธิภาพ ” นายสุรพล วัฒนวงศ์กล่าว ดร.ภูษิตา วรรณิสสร นักวิชาการ ฝ่ายวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ในฐานะผู้ประสานงานและนักวิจัยหลักในโครงการการวิจัยและผลิตภัณฑ์ C.E. เพื่อป้องกันการติดเชื้อในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ปีก กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลงานวิจัยพัฒนาทั้งสองผลิตภัณฑ์เป็นผลสำเร็จจากการดำเนินงานภายใต้ชุดโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อลดและป้องกันการติดเชื้อแซลโมแนลลา (Salmonella) ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ปีก โดยมีวัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อลดผลกระทบต่อการส่งออกของผู้ประกอบการจากข้อกำหนดต่างๆ ของประเทศคู่ค้า โดยผู้ประกอบการจะได้ไก่เนื้อและไข่ไก่ที่มีคุณภาพทางจุลชีววิทยาตามมาตรฐาน ปราศจากการตกค้างของสารต้องห้าม มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคภายในประเทศ และเหมาะสมแก่การส่งออก “ภายใต้โครงการวิจัยเดียวกันนี้ นอกจากความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของผลิตภัณฑ์ที่กล่าวแล้ว ยังมีการพัฒนาวัคซีนเชื้อเป็นเพื่อป้องกันการติดเชื้อแซลโมแนลลาในไก่เนื้อและไก่ไข่ด้วย ขณะนี้อยู่ในระหว่างทดสอบประสิทธิภาพในการคุ้มโรคต่อไก่ทดลอง ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและในระดับฟาร์มขนาดใหญ่ที่บริษัทสหฟาร์มฯ อย่างไรก็ตาม จากการทดลองโดยความร่วมมือกับกรมปศุสัตว์พบว่า ไก่ที่นำมาทดสอบไม่มีอาการป่วยหรือตาย รวมทั้งไม่มีผลการเพิ่มน้ำหนักตัวของไก่ ซึ่งแสดงว่าผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ วว. จะมีการขยายผลการใช้ผลิตภัณฑ์สู่การศึกษาต่อสัตว์เศรษฐกิจชนิดอื่นต่อไป...” หัวหน้าโครงการวิจัยกล่าว ดร.ศิริเพ็ญ จริเกษม นักวิชาการ ฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ในฐานะหัวหน้าโครงการผลิตภัณฑ์สมุนไพรฆ่าเชื้อเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับสมุนไพรไทยที่นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ว่า การนำสมุนไพรไทยมาใช้ในการกระตุ้นการเจริญเติบโตในไก่ จะสามารถช่วยลดการใช้ยาเป็นสารเร่งการเจริญเติบโตที่จะเป็นปัญหาในการกีดกันทางการค้าได้ โดยส่วนใหญ่สมุนไพรฟ้าทะลายโจรจะได้รับความนิยมนำมาใช้ในการเลี้ยงไก่มากกว่า ซึ่งมีสรรพคุณช่วยเร่งการเจริญเติบโตเช่นเดียวกับสมุนไพรที่ วว. นำมาทดสอบ คือ แมงลัก ไพล ตะไคร้ และพลู อย่างไรก็ตามจากการสกัดสารสำคัญของสมุนไพรต่างๆ โดยวิธีเฉพาะของ วว. พบว่า สารสกัดจากพลูซึ่ง วว. มีการควบคุมสารสำคัญจะมีปริมาณสารที่ช่วยเร่งการเจริญเติบโตได้สูงสุด และยังยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชั่นได้ดี ซึ่งส่งผลให้ไก่มีสุขภาพดี แข็งแรง ผู้สนใจเข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตฯ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ ฝ่ายวิทยาศาสตร์ชีวภาพ วว. (ดร.ภูษิตา วรรณิสสร ) โทร. 02 5779058-9 โทรสาร. 0 2577 9009 หรือที่ E-mail : bhusita@tistr.or.th ในวันและเวลาราชการ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ