ทียูเอฟ เดินหน้ากลยุทธ์ 3 wins + 1 จับมือฟาร์มเลี้ยงกุ้ง ทำคอนแทร็กซ์ ฟาร์มมิ่ง 10,000 ตัน มูลค่า 1,200 ล้านบาท

ข่าวทั่วไป Thursday May 7, 2009 16:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ ทียูเอฟ ผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งและบรรจุกระป๋องรายใหญ่ร่วมกับพันธมิตรบริษัท ห้องเย็นมารีนโกล์ด จำกัด จับมือฟาร์มเลี้ยงกุ้งทั่วทุกภูมิภาค 185 ราย ทำคอนแทร็กซ์ฟาร์มมิ่ง รับประกันราคากุ้ง 10,000 ตัน เชื่อมั่นในนโยบาย 3 win + 1 ทุกฝ่ายพึงพอใจ พร้อมมั่นใจธุรกิจกุ้งของบริษัทปีนี้จะเติบโต 15 % นายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มผลิตภัณฑ์กุ้ง บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือทียูเอฟ เผยถึงแนวคิดการทำคอนแทร็กซ์ ฟาร์มมิ่งนี้ว่า “กลยุทธ์ 3 wins + 1” ซึ่งหมายถึง ความพึงพอใจที่ทั้ง 3 ฝ่ายจะได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน และ 3 ฝ่ายที่ว่านี้ก็คือ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง โรงงานหรือผู้ประกอบการอาหารทะเลแปรรูป และผู้ซื้อต่างประเทศ ส่วนที่บวกอีก 1 นั้น ก็คือ ประเทศไทยหรือฝ่ายรัฐบาล ที่ได้รับประโยชน์ในครั้งนี้ด้วย ซึ่งจากแนวคิดที่ว่านี้ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งมีความสนใจและเข้าร่วมโครงการประกันราคากับบริษัทเป็นจำนวน 185 รายในทั่วทุกภาคจังหวัดของประเทศไทย โดยปริมาณกุ้งที่รับจำนำในครั้งนี้มีจำนวนถึง 10,000 ตัน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเป็นประวัติการณ์อย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน สำหรับ win แรก ที่ว่านี้คือ เกษตรกร การทำคอนแทร็กซ์ ฟาร์มมิ่งนี้ จะช่วยทำให้เกษตรกรมีผลกำไรจากการขายกุ้ง เกษตรจะรู้ว่าควรจะผลิตกุ้งไซส์ไหนออกมา เพื่อป้อนให้กับโรงงาน และยังเป็นเครื่องรับประกันว่า กุ้งไซส์ที่ผลิตออกมาจะมีผู้รับซื้อ ปกติเกษตรกรจะรู้ต้นทุนการเลี้ยงกุ้งของตนเองอยู่ ดังนั้นการประกันราคาในครั้งนี้ บริษัทมั่นใจว่า เกษตรกรจะได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่ ช่วยลดความเสี่ยงในด้านตลาดและราคาในช่วงผลผลิตออกมามาก win ตัวที่สอง หมายถึง บริษัทหรือโรงงาน โดยจะช่วยให้ต้นทุนวัตถุดิบไม่แกว่งตัว บริหารจัดการด้านต้นทุนง่ายขึ้น มีวัตถุดิบส่งตรงเข้าสู่โรงงานอย่างสม่ำเสมอ และสามารถควบคุมคุณภาพวัตถุดิบ ความสดและความปลอดภัยต่อผู้บริโภคได้ตามที่ลูกค้าต่างประเทศต้องการ ช่วยให้บริษัทขยายตลาดและเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ส่วน win ที่สาม หมายถึง ผู้ซื้อต่างประเทศ สิ่งที่ผู้ซื้อจะได้จากกลยุทธ์นี้ ก็คือ สินค้าถูกส่งมอบตรงตามเวลาได้กุ้งที่ดี มีคุณภาพสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปสู่แหล่งที่มาได้อย่างชัดเจน สร้างความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค และสำหรับ win + 1 ของคอนแทร็กซ์ ฟาร์มมิ่งนี้ ก็คือ การมีส่วนช่วยรัฐบาลแบ่งเบาภาระในเรื่องของการรับจำนำราคากุ้ง ในช่วงที่ผลผลิตกุ้งมีออกมาสู่ตลาดมากเกินไป เพราะการเปิดรับจำนำราคากุ้งของรัฐบาลอาจจะต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก และเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น สำหรับแนวคิดนี้จะทำให้ราคากุ้งมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยบริษัทมั่นใจว่า การทำคอนแทร็กซ์ ฟามร์มิ่งนี้ จะช่วยลดความเสี่ยงของทุกฝ่าย ไม่ต้องกังวลว่ากุ้งออกมามากจะไม่มีที่ขาย เนื่องจากมีตลาดที่รองรับได้ทั้งราคาและปริมาณ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ทุกฝ่ายสามารถเติบโตอยู่ในธุรกิจได้ อย่างยั่งยืนร่วมกัน นอกจากนี้นายฤทธิรงค์ กล่าวต่อว่า คอนแทร็กซ์ ฟาร์มมิ่งนี้ เลือกทำในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะเราทำในช่วงเดือน พฤษภาคม — ธันวาคม 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตกุ้งออกมาสู่ตลาดมาก และอันที่จริงแล้วเป็นช่วงที่สามารถหาซื้อวัตถุดิบได้ในราคาที่ถูก แต่บริษัทก็ยังดำเนินโครงการนี้ นั่นก็เพราะต้องการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งของไทย ทั้งนี้บริษัทเชื่อมั่นว่า การที่บริษัทจะเติบโตได้นั่น เกษตรกรเป็นบุคคลสำคัญในความสำเร็จของบริษัท การกำหนดราคาที่เหมาะให้กับเกษตรกรจะเป็นการช่วยให้เกษตรกรสามารถอยู่ได้ และในขณะเดียวกันราคาที่กำหนดขึ้นมานั้น ก็ต้องทำให้บริษัทสามารถแข่งขันในตลาดได้ ด้วยวิธีคิดของบริษัทที่ว่า “ เกษตรกรซึ่งเป็นผู้ผลิตต้องอยู่ได้ก่อนบริษัทถึงจะอยู่ได้ เป็นการอยู่ร่วมกัน” ที่ผ่านมาบริษัทและกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้มีการพูดคุยกันมาตลอดถึงโครงการดังกล่าว และอยากทำให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมาจริงๆ เพราะจะเป็นสัญญาณที่ดีระหว่างความร่วมมือกันด้านอุตสาหกรรมกุ้งที่เริ่มต้นตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และเพื่อย้ำความมั่นใจให้กับลูกค้าต่างประเทศในเรื่องคุณภาพ และความปลอดภัยของสินค้าที่จะสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปถึงแหล่งที่มาได้ บริษัทอยากให้โครงการนี้ เป็นโครงการนำร่อง และอยากเห็นผู้ประกอบการและห้องเย็นรายอื่นๆ ที่มีศักยภาพร่วมมือกันทำโครงการนี้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งของไทย ปัจจุบันเกษตกรผู้เลี้ยงกุ้งกำลังประสบปัญหาวิกฤตราคากุ้ง คาดว่าตั้งแต่มิถุนายนจะมีผลผลิตออกมามากขึ้น ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น และปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่ทั่วโลกกำลังเผชิญในขณะนี้ ก็มีผลให้การบริโภคกุ้งในร้านอาหารหรือภัตตาคารชะลอตัวลง แต่ในทางกลับกันผู้บริโภคหันไปปรุงอาหาร รับประทานเองกันที่บ้านมากขึ้น ทำให้กุ้งที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า หรือซุปเปอร์มาร์เก็ตจำพวก Retailer ยังมีปริมาณการซื้อที่ต่อเนื่อง ทำให้แนวโน้มสินค้ากุ้งมีการเติบโตที่ดี แต่อย่างไรก็ดี ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐบาล ภาคเอกชน และภาคเกษตรกรต้องร่วมมือกันเพื่อแก้วิกฤตให้ผ่านพ้นไปให้ได้ และจะทำให้การส่งออกกุ้งของไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน นายฤทธิรงค์กล่าวทิ้งท้าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ แผนกสื่อสารองค์กร บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ โทร. 022-980024 ต่อ 675 — 678 www.thaiuniongroup.com

แท็ก ประกัน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ