กรุงเทพฯ--19 พ.ค.--กทม.
มหกรรมสินค้าถูก ผูกรอยยิ้ม จัดมาแล้ว 3 ครั้ง เงินสะพัดกว่า 60 ล้านบาท เล็งจัดอย่างต่อเนื่องให้ถึงปลายปี 52 และให้เพิ่มการขายผักปลอดสารพิษมากขึ้น หลังพบว่าการจัดที่กลุ่มเขตประชาชนตอบรับด้วยดีทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ทั้งในเรื่องยอดจำหน่ายและการประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จัก เป็นการส่งเสริมการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน ประชาชนสามารถซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในราคาประหยัด
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แจ้งรายงานการดำเนินการมหกรรมสินค้าถูกผูกรอยยิ้มภายหลังประชุมผู้บริหาร กทม. ซึ่ง กทม.จัดมาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 20-22 มี.ค.52 ที่สนามหลวง เงินสะพัด 50 ล้านบาท ครั้งที่ 2 วันที่ 1-3 พ.ค.52 ที่ ตลาดธนบุรี (สนามหลวง2) เขตทวีวัฒนา และครั้งที่ 3 วันที่ 16-18 พฤษภาคม 2552 ณ สนามการกีฬาแห่งประเทศไทย เขตบางกะปิ เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในราคาประหยัด จากผู้ผลิตโดยตรง เป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายและบรรเทาความเดืดร้อนของประชาชนในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ โดยการจัดทั้งสามครั้งมีเงินสะพัดกว่า 60 ล้านบาท
กิจกรรมในงานในครั้งที่ 2 และ 3 ประกอบด้วยจำหน่ายสินค้าราคาประหยัด กิจกรรมตลาดนัดอาหารอร่อยชวนชิมจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน ฝึกอาชีพแก่ประชาชนที่มาเที่ยวชมงาน บริการซ่อมรถจักรยานยนต์และตัดผมฟรี บริการให้คำปรึกษาด้านการเงิน และการออมแก่ผู้สนใจ และบริการตรวจสุขภาพฟรีแก่ประชาชนทั่วไป
สำหรับการจัดงานครั้งที่ 2 ที่กลุ่มกรุงธนเหนือ ประกอบด้วยเขตบางพลัด ธนบุรี บางกอกใหญ่ บางกอกน้อย จอมทอง คลองสาน ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา เมื่อวันที่ 1-3 พ.ค.52 ณ ตลาดธนบุรี (สนามหลวง2) เขตทวีวัฒนา โดยมี ผู้ว่าฯ กทม.เปิดงานในวันเสาร์ที่ 2 พ.ค.52 เวลา 16.30 น. ผลการจัดงาน พบว่ายอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค 3,643,300 บาท ยอดจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน 536,348 บาท รวม 4,179,648 บาท
การจัดงานครั้งที่ 3 ที่กลุ่มกรุงเทพตะวันออก ประกอบด้วย เขตคลองสามวา หนองจอก คันนายาว มีนบุรี บึงกุ่ม สะพานสูง บางกะปิ ลาดกระบัง เมื่อวันที่ 16-18 พฤษภาคม 2552 ณ สนามการกีฬาแห่งประเทศไทย เขตบางกะปิ โดยมีนางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธานเปิดงาน ผลการจัดงาน พบว่ายอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค 5,348,000 บาท ยอดจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน 328,000 บาท รวม 5,676,000 บาท
จากการประเมินประชาชนต้องการให้จัดกิจกรรมเช่นนี้อีกในโอกาสต่อไป เนื่องจากเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนจะได้มีโอกาสซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีคุณภาพและราคาประหยัดจากผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายโดยตรง ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี มีประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก
ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า จะให้มีการจัดงานลักษณ์นี้ไปอย่างต่อเนื่อง โดยจัดตารางให้ถึงปลายปี 52 และต้องการให้มีการเพิ่มการขายผักปลอดสารพิษมากขึ้น