โครงการ ITAP ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. จัดงาน Grand Opening

ข่าวเทคโนโลยี Monday March 6, 2006 11:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--สวทช.
โครงการ ITAP ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. จัดงาน Grand Opening
“คุณพร้อมหรือยัง...กับการเป็น Best Practice ของไม้ยางพาราแปรรูปไทย”
เพื่อยกระดับคุณภาพ สร้างมาตรฐานสากล เพิ่มขีดการแข่งขันที่ยั่งยืนต่อไป
เช้าวันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม 2549 ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) และรองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นประธานใน พิธีเปิดงาน Grand Opening “คุณพร้อมหรือยัง...กับการเป็น Best Practice ของไม้ยางพาราแปรรูปไทย” ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ 2 โรงแรมรามา การ์เดนส์ ถนนวิภาวดี-รังสิต กรุงเทพฯ
ศ.ดร. ชัชนาถ เทพธรานนท์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้เป็นสินค้าส่งออกต่างประเทศที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไม่ต่ำกว่าปีละ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และสร้างงานได้มากกว่า 200,000 ตำแหน่ง โดยมีโรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องประมาณ 8,000 โรงงานทั่วประเทศ แม้ว่าประเทศไทยจะมีวัตถุดิบที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้จำนวนมากจากพื้นที่ปลูกยางพารามากกว่า 10 ล้านไร่ แต่ในภาคการผลิต พบว่า ขีดความสามารถในการแข่งขันยังไม่สูงมากนัก เนื่องจากการขาดเทคนิควิธีการผลิตที่ได้มาตรฐานตามหลักวิชาการและขาดแคลนบุคลากรทางเทคนิคที่มีความรู้และความสามารถด้านการผลิต
การจัดกิจกรรม Best Practice ของไม้ยางพาราแปรรูปไทย โดยโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (Technology Management Center: TMC) สวทช. นั้น ได้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย เนื่องจากเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำ และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเพิ่มมูลค่าและสร้างมาตรฐานที่ดีให้กับไม้ยางพาราแปรรูป อันจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้ของไทยต่อไป
งาน Best Practice ของไม้ยางพาราฯ ดังกล่าว เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้ เฟสที่ 3 แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปไม้จากภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 200 คน โดยหลังจากที่โครงการ ITAP ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช.ได้ดำเนินโครงการในเฟสที่ 1 และ 2 มาแล้วในปี 2547 -2548 ทำให้ทราบว่า ผู้ประกอบการยังประสบกับปัญหาการขาดความรู้และเทคนิคในกระบวนการแปรรูปไม้ยางพารา และต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพตามหลักวิชาการ อีกทั้ง ประสบกับปัญหาการกีดกันผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดมลภาวะที่เป็นพิษต่อผู้บริโภค และไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จากประเทศ ในทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น
ดังนั้น เพื่อเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมไม้ของประเทศอย่างยั่งยืน จึงได้ดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องเป็นปีที่สาม โดยการจัดกิจกรรม “Best Practice ของไม้ยางพาราแปรรูปไทย” เพื่อสร้างมาตรฐานในการผลิตไม้ยางพาราแปรรูปที่มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของลูกค้า และมีราคาที่เหมาะสม โดยมาตรฐานที่เกิดขึ้นเป็นมาตรฐานที่กำหนดโดยภาคเอกชนซึ่งสนองตอบความต้องการของทั้งผู้ซื้อ และความสามารถในการตอบสนองของผู้ขายให้เป็นไปตามหลักวิชาการโดยคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และใช้กลไกการสนับสนุนจากภาครัฐ คือโครงการ ITAP ที่ช่วยเชื่อมประสานและร่วมกันพัฒนาไปพร้อม ๆ กับภาคเอกชน ดังนั้น โรงงานที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับการตรวจประเมินตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดขึ้นใหม่ และผู้ประกอบการไม้ยางพาราแปรรูปยังได้รับประโยชน์ในรูปแบบของการลดปริมาณของเสีย การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การประหยัดพลังงาน ตลอดจนการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์อีกด้วย และที่สำคัญ คือการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ซื้อในด้านคุณภาพของไม้ยางพาราแปรรูป และหวังว่าไม้ยางพาราแปรรูปจากโรงงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจะสามารถขายได้ราคาสูงขึ้นตามมูลค่าและคุณภาพของสินค้าที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ กิจกรรมโดยรวมโครงการฯ ประกอบด้วยการอบรมสัมมนา การวิเคราะห์ปัญหาเบื้องต้น การเสาะหาเทคโนโลยีทั้งในและนอกประเทศ และการให้คำปรึกษาเชิงลึกระยะยาว ที่ได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน จัดหมุนเวียนไปทั้ง 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ และมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้วทั้งสิ้น 480 บริษัท ซึ่งภายในงานGrand Opening วันนี้พบกับการบรรยายในหัวข้อ “Nation Building Modal in Response to Global Competitive Landscape” โดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ การแนะนำโครงการฯ และเกณฑ์ การประเมิน การเสวนาในหัวข้อ “เมื่อผู้ซื้อพบผู้ขายอุตสาหกรรมไม้ยางพารา” โดยผู้แทนจากสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย สมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย และศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ตลอดจนการพบปะเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายไม้ยางพาราแปรรูป คลินิก Beat Practice และร่วมชมนิทรรศการภายในงาน
ในส่วนของความคาดหวังของโครงการฯ หากโครงการนี้ประสบผลสำเร็จ และ Best Practice ดังกล่าวนี้ เป็นที่ยอมรับของทั้งผู้ซื้อและผู้ขายไม้ยางพาราแปรรูปแล้ว สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ดูแลด้านการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และมีผู้แทนร่วมเป็นกรรมการกำหนดเกณฑ์ การประเมินและมาตรฐานจะได้นำเกณฑ์ตรวจประเมินนี้ไปขยายผลและพัฒนาต่อ เพื่อกำหนดเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมของไม้ยางพาราแปรรูปในที่สุด ซึ่งมาตรฐานที่จะเกิดขึ้นนี้จะเป็นมาตรฐานที่ปฏิบัติได้เป็นไปตาม หลักวิชาการ และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
สำหรับความหมายของ “Best Practice ของไม้ยางพาราแปรรูปไทย” คือระบบการผลิตที่ดีเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของลูกค้า ด้วยราคาที่เหมาะสม ซึ่งมีหัวข้อการตรวจประเมิน “Beat Practice ของไม้ยางพาราแปรรูปไทย” ประกอบด้วย การเลื่อยไม้ยางพารา การอัดน้ำยาไม้ยางพาราแปรรูป การอบไม้ยางพาราแปรรูป การบรรจุหีบห่อไม้ยางพาราแปรรูป และการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราแปรรูปในคลังสินค้า
อนึ่ง โครงการ ITAP เป็นหน่วยงานภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. มีพันธกิจในการพัฒนาศักยภาพของ SMEs ให้มีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีสูงขึ้น มีนวัตกรรม และส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการทำธุรกิจในรูปเครือข่ายวิสาหกิจ โดยเชื่อมโยงกลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับสถาบันการศึกษาวิจัย และหน่วยงานภาครัฐที่ให้บริการแก่ SMEs ตลอดจนสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยการนำผลงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีจากทั้งในและต่างประเทศ นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ มาก่อให้เกิดกระบวนการผลิตหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ในตลาด
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2548 ภายใต้ สวทช. โดยมีพันธกิจเพื่อกระตุ้นการพัฒนาอุตสาหกรรมฐานความรู้ในประเทศไทย โดยใช้การบริหารจัดการเทคโนโลยีโดยรวมที่มีประสิทธิภาพ มีภารกิจหลัก คือ การจัดทำยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การถ่ายทอดเทคโนโลยี การบริหารทรัพย์สินทางปัญญา การนำงานวิจัยและทรัพย์สินทางปัญญาไปสร้างประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และบริการสู่ชุมชน นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่บ่มเพาะสถาบัน โครงการ และกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ และโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
นางสาวรัชราพร นีรนาทรังสรรค์ / นายวีระวุฒิ ฟุ้งรัตนตรัย
งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช.
โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1476 - 78, 0-9521-2564
โทรสาร 0-2564-7000 ต่อ 1470
e-mail: pr_tmc@nstda.or.th--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ