ประวัติศาสตร์ 45 ปีของไอบีเอ็ม เมนเฟรม นวัตกรรมที่พลิกประวัติศาสตร์โลก

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday May 27, 2009 09:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--ไอบีเอ็ม ประเทศไทย โดย ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจคอมพิวเตอร์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ในปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีหลาย ๆ อย่างรอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็น บาร์โค้ด เอทีเอ็ม คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) อินเทอร์เน็ต อีคอมเมิร์ซ หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีเวอร์ช่วลไลเซชั่น แทบจะกลายเป็นรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวันของพวกเราไปแล้ว แต่กระนั้นก็ตามที จะมีสักกี่คนที่พอจะจำได้ว่า เบื้องหลังความเป็นมาของเทคโนโลยีที่ดูแสนจะธรรมดาในวันนี้ แท้จริงแล้วมีจุดเริ่มต้น และที่มาอย่างไร คำถามเหล่านี้ มีที่มาสั้น ๆ เพียงคำตอบเดียว นั่นคือ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เมนเฟรม ของไอบีเอ็ม นวัตกรรมที่ถือได้ว่าพลิกประวัติศาสตร์โลก และเป็นที่มาของเทคโนโลยีหลากหลายที่มีบทบาทอย่างยิ่งต่อชีวิตของพวกเราในทุกวันนี้ นับตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2507 หรือ 45 ปีก่อน ซึ่งเป็นวันแรกที่ไอบีเอ็ม เปิดตัวคอมพิวเตอร์ ซิสเต็ม 360 (IBM System/360) หรือคอมพิวเตอร์เมนเฟรมรุ่นแรกที่เมืองฮัดสัน วัลเลย์ มลรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ไอบีเอ็มได้ใช้อนาคตของบริษัทเป็นเดิมพัน ด้วยวิสัยทัศน์ของมร. โธมัส วัตสัน จูเนียร์ ผู้บริหารของไอบีเอ็มในยุคนั้น ซี่งเชื่อว่าเทคโนโลยีนี้คือเทคโนโลยีที่จะมีบทบาทอย่างยิ่งต่อโลกอนาคต ด้วยเหตุดังกล่าว ไอบีเอ็มจึงลงทุนครั้งยิ่งใหญ่กับเทคโนโลยีนี้ โดยเมื่อคิดถึงค่าเงินดอลลาร์ในช่วงปี 1964 แล้ว ไอบีเอ็มได้ใช้เงินลงทุนถึง 750 ล้านเหรียญเฉพาะด้านการค้นคว้าทางวิศวกรรมเพียงอย่างเดียว อีกทั้งกว่า 4,500 ล้านเหรียญในด้านโรงงาน การจัดหาอุปกรณ์ต่าง ๆ และการว่าจ้างพนักงานกว่า 60,000 คนมาร่วมกันลงแรงในโครงการนี้ ซึ่งนั่นทำให้โครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการเชิงพาณิชย์ที่ใช้เงินลงทุนจากภาคเอกชนมากที่สุดเท่าที่เคยมีในประวัติศาสตร์ ที่มาของคอมพิวเตอร์ ซิสเต็ม 360 ในยุคเริ่มต้นนั้น มีพื้นฐานมาจากแนวคิดที่เรียบง่าย นั่นคือ การออกแบบคอมพิวเตอร์ที่ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งกับระบบเก่าและใหม่ (Backward / Forward Compatibility) โดยที่คอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องมีที่จัดเก็บข้อมูลแบบเสมือนอย่างไร้ขีดจำกัด รวมทั้งผู้ใช้สามารถเรียกดูข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว แนวคิดดังกล่าวนี้ถือเป็นพื้นฐานซึ่งต่อยอดมาสู่นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ มากมายในยุคต่อมา ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) การขยายตัวของอินเทอร์เน็ต การทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งรวมถึงระบบเอทีเอ็มและอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน เทคโนโลยีการจัดการฐานข้อมูล (Relational Database) ไปจนถึง เทคโนโลยีแบบเปิดหรือโอเพ่นซอร์ส เป็นต้น นอกเหนือไปจากบทบาทที่สำคัญต่อโลกและเทคโนโลยีหลากหลายในยุคปัจจุบัน คอมพิวเตอร์เมนเฟรมก็มีบทบาทสำคัญต่อสังคมไทยเช่นเดียวกัน โดยเมนเฟรมของไอบีเอ็มได้รับเลือกให้ทำงานเพื่อสนับสนุนโครงการสำคัญของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนชั้นนำของประเทศมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโครงการประมวลผลเพื่อสำรวจสัมมะโนประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบบงานหลักและสำรองที่นั่งผู้โดยสารของการบินไทย หรือ โครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอทีเพื่อรองรับระบบงานหลักและการทำธุรกรรมออนไลน์ของธนาคารและสถาบันการเงินชั้นนำหลายแห่งของประเทศฯ เป็นต้น พัฒนาการสำคัญทางเทคโนโลยีที่เริ่มต้นมาจากซิสเต็ม 360 การประมวลผลทางธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์ (Transaction Processing) ไอบีเอ็มได้คิดค้นระบบซีไอซีเอส (Customer Information Control System — CICS) ขึ้นซึ่งทำงานร่วมกับซิสเต็ม 360 ระบบดังกล่าวถือเป็นแม่แบบของระบบการประมวลผลทางธุรกรรมทั้งหมด รวมทั้งเป็นต้นแบบไปสู่การพัฒนานวัตกรรมอื่น ๆ ต่อมา เช่น ระบบเอทีเอ็ม การทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ หรือการทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์ทุกประเภท ซึ่งมีการใช้งานอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน วงจรไมโครเซอร์คิดตรี้ (Micro-Circuitry) วงจรดังกล่าวถือกำเนิดมาจากซิสเต็ม 360 และถือเป็นระบบประมวลระบบแรกสุดที่ใช้เทคโนโลยีชั้นนำในยุคนั้น ซึ่งมีสมรรถนะสูง แต่มีขนาดเล็กและใช้พลังงานน้อย ซึ่งเทคโนโลยี ดังกล่าวถือเป็นพื้นฐานของการออกแบบชิป คอมพิวเตอร์ในยุคต่อมา ระบบจัดการฐานข้อมูล ในยุคนั้น ไอบีเอ็มได้บุกเบิกนวัตกรรมทางด้านการจัดการฐานข้อมูล โดยได้คิดค้นระบบจัดการฐานข้อมูลไอเอ็มเอส (Information Management System — IMS) ขึ้นเพื่อให้ทำงานบนซิสเต็ม 360 ทั้งนี้เพื่อรองรับความต้องการขององค์การนาซ่า ในโครงการอพอลโล 11 ซึ่งต่อมาได้ประสบความสำเร็จในการนำมนุษย์ไปสู่ดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ ระบบไอเอ็มเอสดังกล่าวนับเป็นพื้นฐานของการพัฒนาซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูลในยุคต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูลดีบีทู (DB2) ซึ่งมีชื่อเสียงของไอบีเอ็มนั่นเอง แนวคิดเรื่องระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถทำงานร่วมกันได้กับเทคโนโลยีที่พัฒนาต่อมาภายหลัง (Backward/Forward Compatibility) ในยุคนั้น ไอบีเอ็มถือเป็นผู้บุกเบิกและคิดค้นเทคโนโลยีอีมูเลชั่น (Emulation) ซึ่งทำงานอยู่บนซิสเต็ม 360 โดยเทคโนโลยีดังกล่าวเปิดโอกาสให้คอมพิวเตอร์รุ่นเก่าสามารถทำงานร่วมกันได้กับซิสเต็ม 360 หรือทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์อื่น ๆ ที่พัฒนาต่อมาในภายหลัง ซึ่งในยุคนั้น เรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องใหม่มากและยังไม่มีบริษัทคอมพิวเตอร์รายใดสามารถทำได้ เทคโนโลยีนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสการพัฒนาเทคโนโลยีมาตรฐานแบบเปิด (Open Standard) หรือ โอเพ่น ซอร์ส (Open Source) ในยุคปัจจุบัน บทบาทของคอมพิวเตอร์เมนเฟรมหรือซิสเต็ม 360 ในยุคนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในแวดวงคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่ยังมีบทบาทอย่างยิ่งต่อแวดวงธุรกิจอื่น ๆ โดยเฉพาะองค์กรที่ต้องการเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจในยุคหลังสงครามโลก ตัวอย่างของเทคโนโลยีที่ต่อยอดมาจากระบบคอมพิวเตอร์เมนเฟรมของไอบีเอ็มได้แก่ ระบบสำรองที่นั่งของสายการบิน หรือ เซเบอร์ (SABRE) ซึ่งถูกออกแบบให้ทำงานร่วมกับซิสเต็ม 360 ระบบดังกล่าวรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจสายการบินและยังเป็นระบบที่มีการใช้งานอยู่อย่างแพร่หลายในธุรกิจสายการบินทุกวันนี้ องค์การนาซ่าได้ให้ความไว้วางใจเลือกใช้ระบบคอมพิวเตอร์เมนเฟรมของไอบีเอ็ม ในการสนับสนุนการส่งจรวดและดาวเทียมขององค์การนาซ่าขึ้นสู่อวกาศ ทุกวันนี้ ระบบคอมพิวเตอร์เมนเฟรมของไอบีเอ็ม (ปัจจุบันเรียกว่า ซิสเต็ม ซี —System z) ได้รับเลือกให้เป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอทีเพื่อรองรับระบบงานหลัก ๆ ขององค์กรชั้นนำทั่วโลก ในหลากหลายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจทางด้านธนาคาร สายการบิน ค้าปลีก หรือประกันภัย เป็นต้น ลำดับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์สำคัญ 45 ปีของไอบีเอ็ม เมนเฟรมทั้งในและต่างประเทศ 2507 7 เมษายน: ไอบีเอ็มเปิดตัวซิสเต็ม 360 (System/360) หรือในชื่อที่เรียกในยุคนั้นว่า “อุปกรณ์ประมวลผลอิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ (new generation of electronic computing equipment)” โดยชื่อซิสเต็ม 360 ตั้งชื่อตามองศาในรูปวงกลม เพื่อสื่อถึงคุณสมบัติที่ “ครอบคลุมทุกความต้องการของผู้ใช้ทุกคน” หลังจากการเปิดตัวทั่วโลกไม่นาน ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ก็ได้นำซิสเต็ม 360 มาเปิดตัวในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นระบบคอมพิวเตอร์ยุคบุกเบิกในขณะนั้น 2507 ในปีเดียวกัน ไอบีเอ็มเปิดตัวระบบจองตั๋วเครื่องบินผ่านระบบออนไลน์ หรือ เซเบอร์ (Semi-Automatic Business-Related Environment - SABRE) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระยะเวลาสองปีระหว่างไอบีเอ็มและสายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์ ในการพัฒนาระบบจองตั๋วโดยสารแบบเรียลไทม์ระบบแรก 2509 คอมพิวเตอร์เมนเฟรมของไอบีเอ็มได้รับเลือกให้ทำงานประมวลผลบัตรประจำตัวเมดิแคร์ (Medicare) กว่า 19 ล้านใบสำหรับหน่วยงานประกันสังคมในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งปีหลังจากที่สภาคองเกรสอนุมัติโครงการนี้ให้กับประชาชนชาวอเมริกัน ขณะเดียวกัน บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ก็มีการเปิดตัวซิสเต็ม 360 รุ่นใหม่ที่สามารถประมวลผลเป็นภาษาไทยได้ในปีนี้และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากภาคธุรกิจและองค์กรของรัฐ 2510 สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ให้ความไว้วางใจเลือกใช้ซิสเต็ม 360 เพื่อใช้ระบบงานและโครงการสำรวจสัมมโนประชากรของประเทศฯ ซึ่งถือเป็นคอมพิวเตอร์เมนเฟรมเครื่องแรกที่มีการใช้งานในประเทศไทย 2511 เริ่มมีการใช้งานระบบซีไอซีเอส (Customer Information Control System — CICS) บนเมนเฟรมเป็นครั้งแรก ทำให้องค์กรธุรกิจต่างๆ สามารถป้อน ปรับปรุง และเรียกดูข้อมูลเพื่อใช้งานได้บนเมนเฟรม ปัจจุบันระบบซีไอซีเอส ยังคงมีการใช้งานอยู่อย่างแพร่หลายในธุรกิจหลายประเภท 2512 คอมพิวเตอร์เมนเฟรม หรือ ซิสเต็ม 360 รวมทั้งระบบไอเอ็มเอส (IMS 360) และซอฟต์แวร์ของไอบีเอ็มได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการอพอลโล 11 ขององค์การนาซ่าเพื่อนำมนุษย์ไปสู่ดวงจันทร์ หลังจากนั้นเป็นต้นมา คอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็มก็ได้รับเลือกให้ทำงานสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ขององค์การนาซ่าอย่างต่อเนื่อง 2512 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ให้ความไว้วางใจเลือกใช้เมนเฟรม ซิสเต็ม 360 ของไอบีเอ็มเพื่อสนับสนุนระบบงานหลักของบริษัทฯ 2514 ธนาคารกรุงเทพได้เลือกใช้เมนเฟรม ซิสเต็ม 360 ของไอบีเอ็ม เพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์ (Online Banking) เป็นรายแรกของประเทศไทย 2514 เทคโนโลยีของซิสเต็ม 360 ได้มีการพัฒนาต่อมาเป็นซิสเต็ม 370 (System/370) และประสบความสำเร็จ โดยมีลูกค้าได้นำซิสเต็ม 370 ไปใช้งานกว่า 1,300 เครื่องทั่วโลก 2515 ไอบีเอ็มคิดค้นและเปิดตัว “เทคโนโลยีเสมือนหรือเวอร์ช่วลไลเซชั่น” บนเมนเฟรมเป็นครั้งแรกของโลก เพื่อสนับสนุนการทำงานและบริหารจัดการทรัพยากรในระบบคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีเสมือนหรือเวอร์ช่วลไลเซชั่นถือเป็นพื้นฐานของระบบออนดีมานด์ (On Demand) เพื่อช่วยให้เมนเฟรมทำงานด้วยความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูง โดยเทคโนโลยีดังกล่าวเอื้อให้ระบบพร้อมใช้งานทุกวันตลอด 7 วัน 24 ชั่วโมง และเป็นต้นกำเนิดของเทคโนโลยีเสมือนที่ใช้งานในเซิร์ฟเวอร์และอุปกรณ์สตอเรจหลากหลายยี่ห้อในปัจจุบัน 2522 ไอบีเอ็มเปิดตัวเทคโนโลยียูพีซี (Universal Product Code - UPC) และสแกนเนอร์แบบโฮโลกราฟิก ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของเทคโนโลยี “บาร์โค้ด” ซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติทางด้านอุตสาหกรรมค้าปลีกขนานใหญ่ และทำให้เทคโนโลยีเมนเฟรมมีบทบาทอย่างยิ่งในธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะทางด้านการประมวลผลธุรกรรมของลูกค้าและการติดตามสินค้าคงคลัง (Inventory Tracking) 2523 ไอบีเอ็มเปิดตัวโปรเซสเซอร์ 3081 ซึ่งทำงานบนเมนเฟรม และมีประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น 2 เท่า ช่วยลดการใช้พื้นที่ การใช้พลังงาน และการระบายความร้อน จนทำให้สถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กโทรนิกของสหรัฐอเมริกา (Institute of Electrical and Electronics Engineers Inc.) มอบรางวัลนวัตกรรมยอดเยี่ยมให้แก่สิ่งประดิษฐ์นี้ของไอบีเอ็ม ต่อมาในปี 2533 2526 ธนาคารไทยพาณิชย์ได้นำบริการเงินด่วน เอทีเอ็ม (Automatic Teller Machine — ATM) มาให้บริการเป็นรายแรกและเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยระบบดังกล่าวทำงานอยู่บนคอมพิวเตอร์เมนเฟรมของไอบีเอ็ม 2531 ลูกค้าของไอบีเอ็มมีการใช้งานซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูล ดีบีทูของไอบีเอ็ม (DB2) อย่างแพร่หลาย นอกเหนือไปจากระบบดีเอสเอส ที่ใช้ช่วยการตัดสินใจทางธุรกิจ (Decision Support Systems - DSS) และการประมวลผลธุรกรรมหลัก ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวช่วยลดค่าใช้จ่ายสำหรับซีพียู และปรับปรุงประสิทธิภาพในการรองรับการใช้งานพร้อมๆ กันของผู้ใช้จำนวนมาก ความก้าวหน้าในครั้งนี้ทำให้การใช้งานดีบีทูบนระบบเมนเฟรมกลายเป็นรากฐานสำหรับการพัฒนาแอพพลิเคชั่นหลายอย่างในอนาคต 2534 ผู้เชี่ยวชาญบางคนในแวดวงอุตสาหกรรมไอที คาดการณ์ว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) และเซิร์ฟเวอร์ขนาดเล็กจะทำให้คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่อย่างเมนเฟรมกลายเป็นเทคโนโลยีที่ตกยุค 2535 ไอบีเอ็ม เปิดตัวระบบการทำงานแบบเครือข่ายที่เชื่อมต่อคอมพิวเตอร์เมนเฟรมของไอบีเอ็มสองเครื่องเข้ากับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล PS/2 กว่า 700 เครื่อง เพื่อรองรับการประมวลผลข้อมูลร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีดังกล่าวนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีระบบแม่ข่าย หรือไคลแอนท์ เซิร์ฟเวอร์ (Client / Server) ในยุคต่อมา 2537 ไอบีเอ็มเปิดตัวเทคโนโลยี พาราเลล ซิสเพล็กซ์ (Parallel Sysplex) บนเมนเฟรมซิสเต็ม 390 ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวมาพร้อมกับความเสถียร สมรรถนะที่สูงขึ้น ความสามารถในการทำงานตลอด 7 วัน 24 ชั่วโมง พร้อมกับความปลอดภัยของระบบที่ดียิ่งขึ้น 2538 ระบบเมนเฟรมเริ่มใช้โปรเซสเซอร์แบบซีมอส (CMOS) ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปแผนการพัฒนาเทคโนโลยีเมนเฟรมรุ่นใหม่ ซึ่งชิปซีมอสนี้ใช้พลังงานน้อยกว่าชิปที่ใช้ทรานซิสเตอร์ 2541 ไอบีเอ็มเผยโฉมเซิร์ฟเวอร์ซิสเต็ม 390 รุ่นที่ 5 ซึ่งสามารถทำลายสถิติการประมวลผล 1,000 คำสั่งต่อวินาที (MIPS) ซึ่งนับเป็นเมนเฟรมที่มีสมรรถนะสูงที่สุดในโลกในยุคนั้น 2542 เซิร์ฟเวอร์ซิสเต็ม 390 รุ่นที่ 6 กลายเป็นเซิร์ฟเวอร์ระดับองค์กรรุ่นแรกที่ใช้เทคโนโลยีชิปทองแดงของไอบีเอ็ม นอกจากนี้ยังเป็นเซิร์ฟเวอร์ที่เอื้อต่อการอัพเกรดความจุได้ตามต้องการ (Capacity Upgrade on Demand - CUoD) ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวช่วยให้บริษัทสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบในการรับมือกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างฉับพลัน และสามารถจัดการกับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจคาดเดาได้ดีขึ้น 2543 ไอบีเอ็ม เปลี่ยนชื่อซิสเต็ม 390 เป็นอีเซิร์ฟเวอร์ ซี ซีรี่ส์ (eServer zSeries) และเริ่มมีการใช้ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ (Linux) บนเซิร์ฟเวอร์เมนเฟรม ซี ซีรี่ส์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของไอบีเอ็มต่อเทคโนโลยีมาตรฐานแบบเปิด ระบบดังกล่าวผสานรวมความยืดหยุ่นของระบบประมวลผลแบบเปิดหรือโอเพ่นซอร์ส (Open Source) เข้ากับความเสถียรและความยืดหยุ่นของระบบเมนเฟรม 2544 ไอบีเอ็มเพิ่มสมรรถนะของเมนเฟรมเกือบสองเท่าเพื่อรองรับการประมวลผลธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย และไอบีเอ็ม ซิสเต็ม ซี ซีรี่ส์ 900 คือ คอมพิวเตอร์รุ่นแรกที่ทำสถิติการประมวลผลธุรกรรมได้ถึง 3,850 รายการต่อวินาที 2546 เมนเฟรม ซี ซีรี่ส์ (zSeries 990) เป็นผลพวงจากการทุ่มเทพัฒนา 4 ปี โดยใช้เงินลงทุน 1 พันล้านเหรียญบนแพลตฟอร์มซี ซีรี่ส์ และนักพัฒนาของไอบีเอ็ม 1,200 คน ซิสเต็ม ซี ซีรี่ส์ 990 ถือเป็นเมนเฟรมไอบีเอ็มที่มีสมรรถนะและมีความยืดหยุ่นสูง โดยมีความสามารถทางด้านเทคโนโลยีเสมือนหรือเวอร์ช่วลไลเซชั่นมากกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้า 2547 องค์กรชั้นนำหลายแห่งในประเทศไทยเริ่มมีการใช้ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์บนเมนเฟรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานทางด้านการควบรวมเซิร์ฟเวอร์ในองค์กร (Server Consolidation) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการระบบไอทีและประหยัดพลังงาน 2548 ไอบีเอ็มเปิดตัว ซิสเต็ม ซี9 (System z9) ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจากซี ซีรี่ส์ โดยเมนเฟรมรุ่นใหม่นี้มีสมรรถนะสูง สามารถประมวลผลทางธุรกรรมได้ถึง 1 พันล้านคำสั่งต่อวัน ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้า 2550 ไอบีเอ็มเปิดตัวโครงการโปรเจค บิ๊ก กรีน (Project Big Green) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการลดการใช้พลังงาน โดยควบรวมเซิร์ฟเวอร์ 3,900 เครื่องของไอบีเอ็มทั่วโลก ให้มาทำงานบนเมนเฟรม ซิสเต็ม ซี (System z) 30 เครื่องที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ เพื่อลดการใช้พลังงานลง 80 เปอร์เซ็นต์ภายในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ไอบีเอ็มได้ควบรวมดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลกของไอบีเอ็มจาก 155 แห่ง ลงเหลือเพียง 7 แห่งเท่านั้น 2550 ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดการแข่งขัน “มาสเตอร์ เดอะ เมนเฟรม แชลเลนจ์ 2007 (Master the Mainframe Challenge 2007)” หรือการแข่งขันการจัดการระบบคอมพิวเตอร์เมนเฟรม โดยนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กวาดรางวัลทั้งหมด 3 รางวัล 2551 มหาวิทยาลัยกว่า 500 แห่งทั่วโลกร่วมกันเปิดสอนวิชาที่เกี่ยวกับเมนเฟรมและระบบขนาดใหญ่ เพิ่มขึ้นจาก 24 แห่งในปี 2004 และในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มีนักศึกษากว่า 50,000 คนที่ลงทะเบียนเรียนหลักสูตรเมนเฟรม 2551 ไอบีเอ็มเปิดตัวเซิร์ฟเวอร์ซิสเต็ม ซี10 (System z10) รุ่นเอ็นเตอร์ไพรส์ คลาส (Enterprise Class) สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ และ บิสสิเนส คลาส (Business Class) สำหรับธุรกิจขนาดย่อม โดยเมนเฟรมรุ่นดังกล่าวใช้เวลาพัฒนา 5 ปี ด้วยเงินลงทุนกว่า 1.5 พันล้านเหรียญ และทีมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคกว่า 5,000 คนทั่วโลก เมนเฟรมทั้งสองรุ่นมาพร้อมกับสมรรถนะที่สูงขึ้น ช่วยยกระดับความปลอดภัย การควบคุม และการทำงานแบบอัตโนมัติที่เหนือกว่า 2552 ไอบีเอ็มนำเสนอแนวคิดทางด้านนวัตกรรมโครงสร้างไอทีแห่งศตวรรษที่ 21 (Dynamic Infrastructure) เพื่อรองรับความท้าทายในยุคที่โลก “ฉลาดขึ้น” (Smarter Planet) โดยหนึ่งในหัวใจหลักของแนวคิดดังกล่าว คือ เมนเฟรม หรือ เซิร์ฟเวอร์ ซิสเต็ม ซี10 (System z10) ซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยสมรรถนะ ความเสถียรของระบบและความปลอดภัยสูงสุด รองรับกับความต้องการที่ยืดหยุ่น ช่วยองค์กรทั้งเล็กหรือใหญ่ ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กร ให้พร้อมรับมือกับความท้าทายทางธุรกิจทุกรูปแบบ ชมวีดิโอคลิปเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ 45 ปีของไอบีเอ็ม เมนเฟรม ผ่านยูทูปได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=CbyX95gKYiU ดาวน์โหลดรูปต่าง ๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ 45 ปีของเมนเฟรมและรูปคุณธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจคอมพิวเตอร์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ได้ที่ลิงค์ด้านล่าง ก่อนวันที่ 3 มิถุนายน 2552 https://www.yousendit.com/download/MnFqMWZIQVNlcEozZUE9PQ รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเซิร์ฟเวอร์ ไอบีเอ็ม ซิสเต็ม ซี (System z) หรือ เมนเฟรม ของไอบีเอ็มสามารถเข้าไปที่ www.ibm.com/systems/z เผยแพร่โดยฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด วีระกิจ โล่ทองเพชร โทรศัพท์ : 02 273 4117 อีเมล์: werakit@th.ibm.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ