โลกาภิวัตน์ : คำสั้นๆ ที่ควรรู้จัก

ข่าวทั่วไป Friday May 29, 2009 15:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 พ.ค.-- โลกาภิวัตน์ : คำสั้นๆ ที่ควรรู้จัก โดย : ทวีศักดิ์ ตั้งปฐมวงศ์ มติชนสุดสัปดาห์ ศุกร์ 22 - พฤหัสบดี 28 พฤษภาคม 2552 โลกาภิวัตน์ (Globalization ) คำที่พวกเราทุกคนคุ้นเคย แต่จะมีสักกี่คนที่จะเข้าใจความหมายจริงๆของคำสั้นๆคำนี้ โลกาภิวัตน์เป็นคำที่เกิดมาก่อนหน้าทศวรรษ 1990 แล้ว โดยเริ่มต้นจากนักวิจารณ์ด้านวัฒนธรรมชาวแคนาดา Marshall McLuhan (1964) ที่เขากล่าวถึงหมู่บ้านโลก (global village) ซึ่งหมายถึง โลกยุคใหม่ที่ตั้งอยู่บนฐานของเทคโนโลยี อันนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่เร่งเร็วขึ้นในทุกระดับของสังคมมนุษย์ แต่เริ่มเป็นที่นิยมใช้ในแวดวงวิชาการและสื่อสารมวลชน เมื่อต้นทศวรรษ 1990 โลกาภิวัตน์นอกจากจะมีอิทธิพลต่อสังคมศาสตร์หลายแขนงแล้ว ยังครอบคลุมทั้งด้านการเมือง เศรษฐศาสตร์ วัฒนธรรมและเทคโนโลยีการสื่อสาร รวมทั้งยังมีอิทธิพลต่อความคิด ความเชื่อของคนจำนวนมากในยุคสมัยใหม่ ความหมายของโลกาภิวัตน์ ต่อคำถามที่ว่า โลกาภิวัตน์มีความหมายอย่างไรนั้น ถึงแม้ปัจจุบันโลกาภิวัตน์ จะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นที่พูดถึงกันมากในทุกวงการของสังคม โลกาภิวัตน์คืออะไร? นั้น ก็ยังคงไม่สู้จะง่ายนักต่อการให้คำตอบได้อย่างชัดเจน กล่าวคือ มีผู้นิยามและให้ความหมายของโลกาภิวัตน์ ในหลากหลายแง่มุมแตกต่างกันไป โลกาภิวัตน์ ในมุมมองของผู้เขียน มีความหมายว่า "คือปรากฏการณ์ที่หลอมรวมความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่เกิดขึ้นในทุกมุมส่วนของโลก ให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและใกล้ชิดกันมากขึ้นตามแบบอย่างโลกตะวันตก อย่างที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่ห่างไกลและข้ามพรมแดนรัฐ สามารถถูกรับรู้ได้ทันที่ ทำให้โลกมีลักษณะเป็นหมู่บ้านโลก โดยมีเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นตัวช่วยสนับสนุน" ดังนั้น เราสามารถเห็นได้ว่าในยุคโลกาภิวัตน์นั้น เหตุการณ์และรูปแบบทางสังคมที่อยู่ห่างออกไปจะมีกระบวนการแผ่ขยายเข้าหากันและล้อรับกัน กระบวนการนี้จะเชื่อมโยงทำให้สังคมที่แตกต่างกันกลายมาเป็นเครือข่ายที่คล้ายคลึงกันโดยการนำเข้าแนวคิดและรูปแบบจากประเทศโลกตะวันตก ที่นำโดยสหรัฐอเมริกา ทั้งในแง่ของความคิด ความเชื่อ และอุดมการณ์ ดังนั้น โลกาภิวัตน์ก็คือการทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมในระดับโลกเข้มข้นขึ้น และความสัมพันธ์ที่เข้มข้นนี้จะเชื่อมโยงระยะห่างในลักษณะที่สิ่งที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นจะเกิดขึ้นจากอิทธิพลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในที่ซึ่งไกลออกไป ในทางตรงข้ามเหตุการณ์ในท้องถิ่นอาจจะมีผลกระทบต่อที่ที่อยู่ไกลออกไปด้วย กระบวนการโลกาภิวัตน์ กระบวนการโลกาภิวัตน์มีมาเป็นเวลาช้านานแล้ว นับเนื่องจากลัทธิอาณานิคม (Colonialism) แผ่ขยาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษและยุโรปตะวันตกใช้แสนยานุภาพทางทหารที่เหนือกว่าเข้ายึดครองประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกา เพื่อแสวงหาแหล่งผลิตอาหาร วัตถุดิบ หรือทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งแรงงานทาสจากอาณานิคม และเพื่อเป็นตลาดระบายสินค้าอุตสาหกรรมจากประเทศแม่ ซึ่งมีลักษณะเป็นจักรวรรดินิยม (imperialism) ที่มาพร้อมกับการถ่ายทอดแนวความคิด ความเชื่อ และ วัฒนธรรมตะวันตกไปสู่ดินแดนอื่น ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การเชื่อมโยงโลกโดยอาศัยการล่าอาณานิคมได้คลายความสำคัญลงไปเรี่อยๆ พร้อมกันกับที่เริ่มมีการเชื่อมโยงส่วนต่างๆ ของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าด้วยกัน ในช่วงนี้ วาทกรรมการพัฒนา (Development) ตามแบบตะวันตก โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา ที่ขึ้นมามีอิทธิพลอย่างสูงในห้วงนี้ ทั้งที่เป็นแนวคิด ความเชื่อ และทฤษฎี ได้ถูกตีแผ่ขยายไปทั่วโลก เช่น ทฤษฎีความทันสมัย (modernization) จนถึงอุดมการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ อุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ (Neo-liberalism) หรือที่รู้จักกันในนาม 'ฉันทามติวอชิงตัน (Washington Consensus) ซึ่งนำเสนอถึงรูปแบบ นโยบายสำหรับการปฏิรูประบบเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนา และประเทศด้อยพัฒนาทั่วๆ ไป นโยบายที่สำคัญๆ ก็เช่น การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ (Liberalization) การลดการควบคุมและการกำกับโดยภาครัฐ (Deregulation) การถ่ายโอนการผลิตไปสู่ภาคเอกชน (Privatization) การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (Stabilization) เป็นต้น ส่งผลให้บทบาทของบรรษัทข้ามชาติ (Multinational Corporations - MNC) ของมหาอำนาจต่างๆ เช่น Microsoft, McDonald's,GM ฯลฯเริ่มมีบทบาทและอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจโลกในเว ลาต่อมา โลกาภิวัตน์กับการหลอมรวม จากความหมายของโลกาภิวัตน์ในมุมมองของผู้เขียน ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงประสานใน 3 ด้านด้วยกันคือ 1. กระตุ้นให้เกิดการเชื่อมโยงประสานกันทางเศรษฐกิจระหว่างนานาประเทศ คือส่งผลให้มีการไหลเวียนของสินค้า บริการ เงินทุน ผู้คน และทรัพยากรที่ข้ามพ้นกำแพงรัฐชาติ การปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ เชื่อมโยงกันจนเป็นอาณาบริเวณที่กว้างขวาง โดยโลกเศรษฐกิจจะไม่มีพรมแดนในลักษณะที่สอดคล้องกับการแบ่งเขตเกี่ยวข้องกับดินแดนหรืออาณาเขต ซึ่งเป็นเรื่องของรัฐ (State) แต่เป็นเขตแดนทางเศรษฐกิจ และรูปแบบการผลิตแบบห่วงโซ่ข้ามชาติก็เป็นที่แพร่หลาย เมื่อสินค้าชิ้นเดียว แต่มีส่วนประกอบต่างๆ ที่ถูกผลิตขึ้นในหลายๆ ประเทศ บางครั้งก็รู้จักกันในนาม 'Mcdonaldization' จุดประสงค์หลักสำคัญเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ของ บริษท์โตโยต้า ใช้เทคโนโลยีและการพัฒนาจากประเทศญี่ปุ่น อาศัยการชิ้นส่วนเช่น ล้อ ตัวถัง จากประเทศจีน แต่กลับนำไปประกอบเป็นตัวรถยนต์ในประเทศไทยแทน เป็นต้น 2. กระตุ้นให้เกิดการเชื่อมโยงประสานทางแนวความคิด ความเชื่อ และอุดมการณ์ อาทิ ความเป็นประชาธิปไตย (Democratization หรือ กระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย) สิทธิมนุษยชน (Human right) การจัดการปกครองที่ดี (Good Governance) การค้าเสรี (Free Trade) ตลอดจน วัฒนธรรมความทันสมัยแบบตะวันตก เป็นต้น ในฐานะอุดมการณ์หลักแห่งยุคสมัยที่ถูกแผ่ขยายไปทั่วโลก ซึ่งผู้คนโดยทั่วไปเรียกกันอย่างเต็มปากเต็มคำว่า "ยุคโลกาภิวัตน์"โดยคิดและอุดมการณ์เหล่านี้ มีผลอย่างมากต่อการจัดการปกครองทางการเมืองและสังคมของประเทศต่างๆทั่วโลกในปัจจุบัน 3. กระตุ้นให้เกิดการเชื่อมโยงประสานโลกให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990. ในปี 1989-1991 จากการล่มสลายของระบบสังคมนิยมในสหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกาได้เข้ามาจัดระเบียบโลก (The New World Order) หลังยุคสงครามเย็นสิ้นสุด โดยสหรัฐอเมริกามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและริเริ่มเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ๆ พร้อมกันกับเผยแพร่เทคโนโลยีออกไปโดยรวดเร็วไปพร้อมกับวัฒนธรรมแบบอเมริกัน เช่น โทรทัศน์ผ่านดาวเทียมที่สามารถรายงานข่าวสาร สาระจากพื้นที่หนึ่งของโลก ให้กระจายไปทั่วโลกได้ทันที่ ผ่าน CNN, BBC อินเตอร์เน็ตที่ถ่ายทองความคิด ความเชื่อผ่านทางเว็บไซด์ต่างๆร่วมถึงการเผยแพร่วัฒนธรรมอเมริกันผ่านสื่อ เช่น ในรูปแบบภาพยนตร์ผ่าน Hollywood ในรูปแบบแฟชั่น ดนตรีเพลงผ่าน โทรทัศน์ช่อง MTV เป็นต้น โดยสรุปแล้ว โลกาภิวัตน์ได้เชื่อมโยงหลอมรวมความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ของโลกให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเนื่องจากความจำเริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) ได้มีส่วนทำลายพรมแดนระหว่างรัฐ ที่เป็นอุปสรรคขว้างกั้น ในความหมายเดิมลงไปอย่างสิ้นเชิง โลกในปัจจุบันจึงเปรียบเหมือนถูกย่อทางด้านกาล (Time) เทศะ (Space) และถูกผนวกรวมความคิด ความเชื่อ ให้เป็นไปในแนวทางที่สอดคล้องกันมากขึ้น จนทำให้สังคมโลกเล็กลงจนมีขนาดไม่ใหญ่ไปกว่าหมู่บ้าน ซึ่งใครหลายคนเรียกลักษณะเช่นนี้ว่าเป็น "หมู่บ้านโลก" (Global Village) เหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมานั้นคือ "โลกาภิวัตน์" ในมุมมองของผู้เขียน ทวีศักดิ์ ตั้งปฐมวงศ์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ