คต. แจ้ง “ข้าวไทย” ได้สิทธิ GSP รัสเซีย แต่ยังใช้สิทธิน้อย

ข่าวทั่วไป Friday May 29, 2009 16:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--คต. นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า ภาวะการค้าระหว่างไทยกับรัสเซีย ในปี 2551 (ม.ค.- ธ.ค.) มีมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 3,839.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยมีการส่งออกมูลค่า 956.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้ามูลค่า 2,883.39 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ไทยขาดดุลการค้ารัสเซีย 1,927 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลจากการนำเข้าสินค้าน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์จากการกลั่นทาร์ในมูลค่าสูง ภาวะการค้าในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2552 (ม.ค.- ก.พ.) มีมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 214.61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยมีการส่งออกมูลค่า 63.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้ามูลค่า 151.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้ารัสเซียเพียง 88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วไทยมียอดขาดดุลการค้ารัสเซียถึง 287 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ GSP รัสเซียให้สิทธิฯ ประเทศไทยในสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมจำนวนหลายรายการ โดยลดหย่อนภาษีนำเข้าปกติลงถึงร้อยละ 25 โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2552 (ม.ค.- ก.พ.) กรมการค้าต่างประเทศได้ออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Form A) เพื่อนำไปลดหย่อนภาษีขาเข้าประเทศรัสเซีย จำนวน 1,009 ฉบับ มูลค่า 23.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว (อยู่ในรายการที่ได้สิทธิ GSP มีอัตราภาษีปกติร้อยละ 10 และได้ลดภาษีเหลือร้อยละ 7.5) เครื่องปรับอากาศ โพลิเอสเตอร์ ส่วนประกอบรถยนต์ และเครื่องประดับเพชรพลอย ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์เหล็ก แร่ และอะลูมิเนียมเจือ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่มีการใช้สิทธิ GSP สูง ได้แก่ ข้าว (ร้อยละ 67 ของการใช้สิทธิรวม) พืชผัก/ผลไม้ ปรุงแต่ง (ร้อยละ 7) สับปะรดปรุงแต่ง (ร้อยละ 4) ข้าวโพดหวานปรุงแต่ง (ร้อยละ 4) เป็นต้น อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้าวไทยมีศักยภาพในการส่งออกไปรัสเซียสูง โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2552 มีการส่งออกถึง 63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่มีการใช้สิทธิเพียง 15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ ร้อยละ 25 จึงอยากเชิญชวนให้ผู้ส่งออกเร่งมาขอใช้สิทธิฯ เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกภายใต้ GSP จากรัสเซียให้มากยิ่งขึ้น ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ สายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ โทร. 1385 หรือ สำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า โทร. 0 2547 4872

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ