ส.อ.ท.จับมือสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดึงผลวิจัยสู่การใช้งานจริงเชิงพาณิชย์ เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้า เพิ่มขีดความสามารถผู้ผลิตไทย

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday March 15, 2006 14:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 มี.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
สภาอุตสาหกรรมฯ ลงนามความร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยเชิงพาณิชย์และสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ รองรับ ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย สู่การเป็นฐานผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีและนวัต- กรรมชั้นสูง
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จัดให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมการนำผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปพัฒนาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ระหว่างนายประพัฒน์ โพธิวรคุณ ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ และ ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ภายหลังจากเสร็จสิ้นการลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ นายประพัฒน์เปิดเผยถึงความเป็นมาของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในครั้งนี้ว่า เนื่องจากสถานการณ์การแข่งขันทางธุรกิจบนเวทีโลกได้ทวีความ รุนแรงมากขึ้นจากกระแสการเปิดการค้าเสรี อุตสาหกรรมไทยต้องเผชิญกับประเทศคู่แข่งผู้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกรายสำคัญ อย่างจีน อินเดีย และเวียดนาม ที่ได้เร่งพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอย่างก้าวกระโดด จนมีศักยภาพการผลิตเทียบเท่ากับไทยในหลายอุตสาหกรรม อีกทั้ง ยังมีข้อได้เปรียบไทยในด้านค่าจ้างแรงงานที่อยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น แนวทางสำคัญหนึ่งที่จะเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย คือ การกระตุ้นให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเห็นความสำคัญของการทำวิจัยพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งใช้วิทยาการและนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นใหม่นี้ เป็นกลไกในการสร้างมูลค่าเพิ่มหรือความแตกต่างให้แก่สินค้าไทย เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจจากเดิมที่อาศัยความได้เปรียบทางด้านทรัพยากรและต้นทุนค่าแรงต่ำ ไปสู่การแข่งขันบนพื้นฐานขององค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งจะส่งผลให้ไทยสามารถก้าวสู่การเป็นฐานผลิตสินค้าที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง เช่น นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีชีวภาพ ชั้นนำของภูมิภาค และเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกที่มีศักยภาพเหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้านได้ในอนาคต
"ด้วยเหตุนี้ สภาอุตสาหกรรมฯ ซึ่งมีภารกิจในการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของภาค อุตสาหกรรมไทย จึงได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ ที่เป็นองค์กรกลางทำหน้าที่คิดค้น พัฒนา รวบรวมและถ่ายทอดผลวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันเผยแพร่งานวิจัยซึ่งมีประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมให้สมาชิกผู้ประกอบการทั่วประเทศทราบอย่างแพร่หลาย รวมทั้ง นำผลงานวิจัยสำคัญมาร่วมกันพัฒนาให้สามารถใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์" นายประพัฒน์กล่าว
สำหรับกรอบความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานตามบันทึกข้อตกลงนี้ ทั้งนี้ ดร.นงลักษณ์กล่าวว่า ประกอบด้วยความร่วมมือสำคัญ 4 ด้าน คือ
ร่วมมือในการนำเอาผลวิจัยและการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดธุรกิจใหม่และมีเทคโนโลยีพึ่งตนเอง
ร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
ร่วมมือกันในการใช้ประโยชน์จากสารสนเทศ เครื่องมือ อุปกรณ์ สถานที่ เพื่อให้การดำเนินงานระหว่างสองหน่วยงานบรรลุตามวัตถุประสงค์
ร่วมมือในการบ่มเพาะเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ
"ซึ่งสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ คาดหวังว่าการแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในครั้งนี้ จะเป็นอีกแรงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยเห็นความสำคัญของการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาศักย-ภาพการผลิตเพื่อตรียมรับการแข่งขันในระบบการค้าเสรี โดยนำเทคโนโลยีมาผสานกับทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเหมาะสม ให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิต เพิ่มคุณภาพ และสร้างเอกลักษณ์แก่ตัวผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ยังคงไว้ทั้งความเข้มแข็งด้านธุรกิจและคุณภาพชีวิตตามวิถีไทย" ดร.นงลักษณ์กล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
แผนกประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0-2345-1012-3 โทรสาร 0-2345-1295-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ