เร่งควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาดโรคชิคุนกุนยา ใน กทม.

ข่าวทั่วไป Wednesday June 3, 2009 14:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--กทม. กทม. เร่งลงพื้นที่รณรงค์ ให้ความรู้ประชาชน และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณซอยรามคำแหง 39 และ 41 หลังพบผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยารายล่าสุดเดินทางมาจากภาคใต้ คาดไม่เกิน 2 วัน กระทรวงสาธารณสุขจะประกาศให้เป็นโรคภัยพิบัติ ย้ำประชาชนอย่าตื่นตระหนก เนื่องจากไม่ทำให้เสียชีวิต แต่จะมีอาการปวดตามข้อมือ ข้อเท้า หรือปวดเมื่อยตามร่างกาย แพทย์หญิงมาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำทีมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่รณรงค์ให้ความรู้และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายป้องกันโรคชิคุนกุนยาและไข้เลือดออก ณ บริเวณซอยรามคำแหง 39 และรามคำแหง 41 รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครโดยสำนักงานเขตบางกะปิ สำนักอนามัย และศูนย์บริการสาธารณสุข 35 ร่วมกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง โรงเรียนวัดเทพลีลา และประชาชนในพื้นที่บริเวณซอยรามคำแหง 39 และซอยรามคำแหง 41 ร่วมกันรณรงค์ให้ความรู้ แจกแผ่นพับ ใบปลิว ทรายอะเบท และฉีดพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตระหนัก ตื่นตัว ในการป้องกัน และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายซึ่งเป็นสาเหตุของโรคชิคุนกุนยา หรือโรคไข้ปวดข้อยุงลาย รวมถึงโรคไข้เลือดออก โดยเฉพาะในพื้นที่เขตบางกะปิ วังทองหลาง และสวนหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงที่มีการแพร่ระบาดได้ง่ายเนื่องจากมีหอพัก มีนักศึกษาพักอาศัยอยู่จำนวนมาก โดยมีผู้ติดเชื้อรายล่าสุดพบในกรุงเทพมหานครเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่เดินทางมาจากภาคใต้ จึงต้องเร่งควบคุม เฝ้าระวัง ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาในพื้นที่กรุงเทพมหานครพบผู้ติดเชื้อโรคชิคุนกุนยาทั้งหมด 4 คน ได้รับการรักษาหายแล้ว ซึ่งผู้ติดเชื้อทั้งหมดเดินทางมาจากภาคใต้ และมีผู้ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังจำนวน 35 คน สำหรับโรคชิคุนกุนยามียุงลายเป็นพาหะนำโรค ผ่านทางยุงลายตัวเมีย โดยเชื้อไวรัสที่พบเป็นเชื้อโรคที่มีการพัฒนาด้วยตนเอง เมื่อติดเชื้อจะมีอาการไข้ร่วมกับผื่นนูนแดง ปวดตามข้อมือ ข้อเท้า ปวดกระบอกตา และปวดเมื่อยตามร่างกาย ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่จะเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงาน หรือทำกิจกรรมต่างๆ เมื่อรักษาหายแล้วอาจกลับมาเป็นใหม่ได้ คาดว่าภายใน 1 — 2 วันนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะได้ประกาศให้โรคชิคุนกุนยาเป็นโรคภัยพิบัติเพื่อให้ประชาชนทุกคนให้ความสำคัญ และใส่ใจในการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างจริงจังซึ่งทำได้ง่าย เพียงแค่ป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด กำจัดลูกน้ำและยุงลายเต็มตัว พร้อมทั้งทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ต่างๆ เมื่อพบว่ามีอาการป่วยให้รีบพบแพทย์ และขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนกตกใจเพราะโรคนี้ไม่ทำให้เสียชีวิต หากมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ กองควบคุมโรค สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โทร. 0 2245 8106, 0 2245 8005, 0 2246 0358 และ 0 2354 1836

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ