คต. ผลักดันการส่งออกด้วย GSP ไปตลาดญี่ปุ่น

ข่าวทั่วไป Wednesday June 3, 2009 15:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--คต. นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกสำคัญลำดับที่ 4 ของไทยรองจากตลาดอาเซียน สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ โดยในช่วง 2 เดือนแรก (เดือนมกราคม — กุมภาพันธ์) ของปี 2552 ไทยส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่นเป็นมูลค่า 2,316 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 30 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ไก่ปรุงสุก ชิ้นส่วนเครื่องร่อน ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ยางแผ่นรมควัน วงจรอิเล็กทรอนิกส์ และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น ในปัจจุบัน นอกจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan - Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA) จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญช่วยผลักดันการส่งออกของไทยแล้ว ผู้ส่งออกไทยยังสามารถใช้ประโยชน์จากระบบ GSP ญี่ปุ่นได้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันญี่ปุ่นยังคงให้สิทธิ GSP โดยการลดหย่อนภาษีนำเข้าแก่ประเทศไทยครอบคลุมสินค้า 102 รายการ และจากข้อมูลสถิติในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2552 พบว่า มีผู้มาขอใช้สิทธิฯ จากระบบ GSP ญี่ปุ่นกว่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ เพียงร้อยละ 9 ของมูลค่าส่งออกเฉพาะรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ใช้สิทธิ GSP ญี่ปุ่น ได้แก่ กุ้ง/ ปู/ หอยปรุงแต่ง ปลาหมึกปรุงแต่ง แป้งทำพิซซ่า ดี-กลูซิทอล (ซอร์บิทอล) และลามิเนเต็ดวูด เป็นต้น ที่ผ่านมาการใช้สิทธิฯ จากระบบ GSP ญี่ปุ่นยังไม่สูงเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่อัตราภาษีนำเข้าของสินค้าบางรายการภายใต้ GSP ต่ำกว่าอัตราภาษีนำเข้าภายใต้ JTEPA ดังนั้น ผู้ประกอบการของไทยจึงควรใช้ประโยชน์จากระบบสิทธิพิเศษทางการค้านี้เพื่อเป็นแต้มต่อในการส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ กรมฯ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากระบบสิทธิพิเศษทางการค้าต่างๆ ตลอดจนทำหน้าที่ออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า Form A ได้ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ผู้สนใจสามารถปรึกษาและขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ โทร.1385 หรือติดต่อผ่านทางเว็บไซต์ www.dft.go.th รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อที่สำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า โทร 0-2547-4815 โทรสาร 0-2547-4816 หรือ E-mail : tpdft@mocnet.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ