บทความกนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน กับความสุขที่บ้านเกิด

ข่าวทั่วไป Friday June 5, 2009 10:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล กนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน กับความสุขที่บ้านเกิด เขาเป็นหนึ่งใน “11 คนรุ่นใหม่แม่ทา” หรือ “11 กบฏแห่งลุ่มน้ำทา” ที่หันหลังให้กับเมืองและดึงตัวเองออกจากวังวนของระบบทุนนิยมกลับสู่แผ่นดินเกิด มาเป็นกำลังหลักสำคัญ ขับเคลื่อนกิจกรรมของ สหกรณ์เกษตรยั่งยืนแม่ทา จำกัด เพราะเขาได้ตระหนักแล้วว่าอาชีพเกษตรกรนั้นมีคุณค่า และความหมาย ทั้งต่อตัวเขา ครอบครัว และชุมชน สังคม มากเพียงใด ปัจจุบัน เขาดำรงตำแหน่งเป็น นายกองค์การบริหารส่วนตำบล แม่ทา เป็นสมัยที่ 2 เป้าหมายสำคัญในการทำงานของเขา คือ การเสริมสร้างให้ชุมชนแม่ทาเป็นชุมชนที่เข้มแข็งให้ผู้ชาวบ้านสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างผาสุก รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่มีสำนึกรัก มีความภาคภูมิใจในถิ่นฐานบ้านเกิดและกลับมาช่วยกันเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนแม่ทาสืบต่อไปให้เกิดความยั่งยืน หนึ่งในกิจกรรมส่งเสริมเยาวชนที่เขานำมาใช้คือ การร่วมกิจกรรมในโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ดำเนินการโดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ค้นหาความหมายของชีวิตใน “เมืองใหญ่” กนกศักดิ์ เป็นลูกชายคนเล็กของ กำนันอนันต์ ดวงแก้วเรือน พ่อของเขาเป็นผู้นำชุมชนที่ไม่เคยเพิกเฉยต่อความทุกข์ยากของชาวบ้าน พ่อของเขาเชื่อในการอยู่ร่วม กันของมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติให้สมดุล เป็นแกนนำต่อสู้เพื่อปกป้องผืนป่าของชุมชนมาโดยตลอด เป็นเกษตรกรที่ยึดมั่นในวิถีการอยู่การกิน ที่พอเหมาะ พอดี ไม่ทำอะไรเกินตัว แต่เขา... ในช่วงวัยรุ่น ความฝันของเขา คือ การก้าวพ้นออกจากบ้านเกิดไปอยู่ในเมือง กนกศักดิ์ เป็นหนึ่งในเด็กไม่กี่คนที่ได้มีโอกาสออกจากชุมชนบ้านเกิดมาเรียนหนังสือในสถาบันการศึกษาด้านวิชาชีพแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ชีวิตในเมืองทำให้เขารู้สึก “อาย” ที่จะบอกใครๆ ว่า มีพ่อแม่เป็นเกษตรกร เป็นความอายที่มากถึงขนาดไม่ยอมให้พ่อแม่มาร่วมเป็นเกียรติในงานมอบประกาศนียบัตรในวันที่เขาสำเร็จการศึกษาเลยทีเดียวซึ่งเขาเคยเขียนถึงเรื่องนี้ไว้ในหนังสือเล่าประสบการณ์ของเขาว่า “...วันที่ผมเรียนจบ ปวส. ทางวิทยาลัยให้เชิญพ่อแม่มาร่วมแสดงความยินดีกับลูกๆ แต่ผมกับเพื่อนในกลุ่มไม่ยอมให้พ่อ แม่รู้ เพราะอายที่จะนำพ่อ แม่ มาโชว์ ...จากวันนั้น ตอนนี้กลับมาคิดแล้วร้องให้ทุกที อยากกลับไปถามตัวเองว่าตอนนั้นอายอะไร อายที่พ่อแม่เป็นเกษตรกร หรือ แล้วอาชีพเกษตรกรมันไม่ดีตรงไหน ...นี่ขนาดครอบครัวเรามีความพร้อมพอสมควรแล้ว...” ดังนั้นเมื่อเรียนจบ ปวส. ปี พ.ศ 2537 กนกศักดิ์ ก็มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ หางานทำตามสูตรสำเร็จของเด็กบ้านนอกทั่วไป เขาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ในฐานะพนักงานซ่อมเครื่องถ่ายเอกสารของบริษัทเครื่องถ่ายเอกสารแห่งหนึ่งย่านสีลม ในฐานะพนักงานบริษัท เขาเป็นพนักงานที่ขยันขันแข็ง เอาการเอางาน แต่ในชีวิตส่วนตัว ชีวิตในกรุงเทพฯ เป็นช่วงเวลาที่เขาต้องทุ่มเทกำลังกายอย่างหนัก และอยู่อย่างกระเหม็ดกระแหม่ “...ผมได้เงินเดือน 6,100 บาท พักอยู่กับน้าที่บางพลี ต้องตื่นตีสี่ครั้ง นั่งรถเมล์ ไปต่อรถไฟที่สามเสน นั่งรถเมล์ต่อไปสีลม ตอนเย็นเลิกงานสี่โมง ก็นั่งรถเมล์จากสีลม ไปต่อรถไฟล์ ต่อรถเมล์ นั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างเข้าบ้าน ถึงบ้าน สองทุ่มกว่า ต่อมาย้ายไปอยู่กับพี่สาวที่ บางนา ซื้อมอเตอร์ไซค์ แต่ก็เห็นรถยนต์ชนตายทุกวัน ก็คิดว่า แล้ววันไหนจะถึงคิวเรา พอกลับมาบ้าน เพื่อนบอกว่า ดีนะ ทำงานกรุงเทพฯ รวย แต่จริงๆ เราอยู่กรุงเทพฯ ต้องกินก๋วยเตี๋ยวชามละ 15 บาท น้ำอัดลมยังไม่ค่อยได้กินเลย...” กนกศักดิ์ สะท้อนภาพชีวิตของเขาในเมืองกรุง จากกรุง...กลับบ้านเกิด กนกศักดิ์ ทำงานอยู่กรุงเทพฯ ประมาณ 2 ปี พ่อของเขาประสบอุบัติเหตุเอวหัก ทำงานหนักไม่ได้ ทำให้เขาต้องกลับบ้านเพื่อมาช่วยงานที่บ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งการกลับมาบ้านครั้งนี้เอง ที่เป็น “จุดเปลี่ยน” ของความคิด และชีวิตของเขาให้ต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง “...สิ่งหนึ่งที่รู้สึกได้เมื่อกลับมาอยู่บ้าน คือ ได้เห็นว่าเพื่อนเราที่เขาทำงานอยู่บ้านสบายกว่าเราตั้งเยอะ เพราะตีสี่เราตื่นไปทำงาน แต่เขายังนอนอยู่เลย และว่ากันตามจริง เงินเดือนที่ได้ อยู่ด้วยตัวเองไม่พอ แต่กรุงเทพฯ ก็สอนเราหลายอย่าง ที่ดีคือ สอนให้เราขยัน แต่ที่ไม่ค่อยดี คือ สอนให้เราเห็นแก่ตัว นั่งรถเมล์ ต้องพยายามนั่งด้านใน หรือไม่ก็แกล้งหลับเพราะไม่อยากลุก ก็ได้คิดว่า ถ้าเราอยู่บ้านแล้วขยันเหมือนอยู่กรุงเทพฯ เราจะมีรายได้มากกว่าอยู่ที่โน่นเสียอีก....” กนกศักดิ์ เผยถึงความรู้สึกของเขาเมื่อแรกกลับมาอยู่บ้าน แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือการได้เข้าไปทำงานร่วมกับกลุ่มแกนนำเกษตร- กรรมยั่งยืนแม่ทาซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ได้ต่อสู้ขับเคลื่อนงานได้อย่างเข้มแข็ง จนสามารถรวบรวมสมาชิกและก่อตั้งเป็น สหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา จำกัด ขึ้น เพื่อดำเนินกิจกรรมหลากหลายทั้งการออมทรัพย์ การให้สินเชื่อ การจัดการปัจจัยการผลิต และการตลาดของสมาชิก พวกเขากำลังมองหาคนรุ่นใหม่ที่จะมารับไม้ต่อจากพวกเขา และมีแนวคิดที่จะดึงลูกหลานของตัวเองกลับบ้าน โดยเริ่มจากลูกแกนนำเป็นอันดับแรก ซึ่งกนกศักดิ์ก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาและเพื่อนได้รับมอบหมาย “ผู้ใหญ่” ให้เข้ามาช่วยทำงานที่เกี่ยวข้องกับเอกสาร ข้อมูล ต่างๆ ทำหน้าที่เป็นนักวิจัยในการเก็บข้อมูลงานวิจัย จากจุดตรงนี้เองที่ทำให้เขาเข้าใจแนวคิด กระบวนการทำเกษตรกรรมยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เป็นแค่วิถีการผลิต แต่เป็นเรื่องของวิธีคิด และวิถีชีวิตของคนกับธรรมชาติอย่างสมดุล ภารกิจแรกๆ ของกนกศักดิ์ และเพื่อน คือ การค้นหาองค์ความรู้เรื่องเกษตรกรรมยั่งยืนจากแกนนำเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรกรรมยั่งยืนได้จนสำเร็จ เพื่อนำองค์ความรู้นั้นมาใช้ในการขยายกลุ่มและสมาชิกให้มากขึ้น จากภารกิจนี้ทำให้เขาทั้งได้รับรู้ และเรียนรู้ ถึงหลักคิด และวิธีทำเกษตรกรรมยั่งยืนอย่างลึกซึ้ง เมื่อได้องค์ความรู้ มาแล้ว ภารกิจต่อมาคือ การนำความรู้ไปขยายผล โดยพวกเขาต้องจัดกระบวนการฝึกอบรมทั้งด้านแนวคิด และด้านเทคนิค รวมทั้งการลงพื้นที่ติดตามผล จัดกิจกรรมเสริมทักษะต่างๆ ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจ และให้กำลังใจกับชาวบ้าน หลังจากนั้นก็ต้อง จัดกระบวนการ จัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร โดยใช้กระบวนการกลุ่ม มีทั้งการจัดประชุมประจำ เดือน การออมทรัพย์ การลงเยี่ยมตรวจแปลงของสมาชิก เป็นต้น กนกศักดิ์ เล่าถึงบทบาทหน้าที่ของตัวเขาเอง และสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการทำงานในส่วนนี้ว่า “การทำงานด้านเกษตรกรรมยั่งยืนของผม เป็นการจัด การนำความรู้ที่มีอยู่ในชุมชนมาใช้ เพื่อความเป็นสุขของชุมชน โดยการสร้าง หรือ รวบรวมความรู้ และสร้างคนที่จะจัดการความรู้ร่วมกัน ผมทำงานด้านเกษตรกรรมยั่งยืน...ทำให้ผมได้เรียนรู้ชีวิตมากขึ้น เข้าใจตนเอง ผู้คน ชุมชน อำเภอ จังหวัด ประเทศ ทวีป โลก จักรวาลมากขึ้น ...” ความเข้าใจนี้เอง ทำให้เขาค่อยๆ หันกลับมาพินิจพิจารณาวิถีปฏิบัติของผู้เป็นพ่อ-อนันต์ ดวงแก้วเรือน ทั้งในฐานะ “ผู้ให้กำเนิด” “กำนัน” หรือ “ประธานเครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือ” ขยายวงไปถึงสิ่งที่ พัฒน์ อภัยมูล รวมทั้งผู้หลักผู้ใหญ่ในสหกรณ์ฯ อีกหลายๆ คน ร่วมคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันผลักดัน ซึ่งยิ่งเขาพินิจพิเคราะห์ก็ยิ่งพบคุณค่า และความหมายที่ทำให้เขาทั้งภูมิใจและสุขใจ... ก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำท้องถิ่น หลังจากร่วมขับเคลื่อนงานชุมชนร่วมกับผู้ใหญ่ในสหกรณ์มาพอสมควร ที่ตำบลแม่ทา มีการเลือกตั้งนายก อบต. คนใหม่ ซึ่งทางกลุ่มแกนนำเกษตรกรรมยั่งยืน และกลุ่มคนรุ่นใหม่แม่ทา ได้ร่วมกันวิเคราะห์แนวทางการดำเนินงานของ อบต.ที่ผ่านมา และเห็นว่าอบต.ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นการจัดการทรัพยากรและการเกษตรซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการดำรงชีวิตของชุมชนเท่าที่ควร อีกทั้งยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของบทบาท อบต. ต่อการกำหนดทิศทาง การพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ทางกลุ่มเกษตรกรรมยั่งยืน จึงเห็นพ้องต้องกันว่าควรส่งสมาชิกในกลุ่มลงสมัครชิงตำแหน่ง ซึ่ง กนกศักดิ์ ได้รับการลงความเห็นจากทีมงานว่า เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ด้วยความร่วมไม้ร่วมมือของคณะทำงาน ด้วยผลงานของตัวเขาเอง อีกทั้งเป็นลูกกำนันที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ให้การยอมรับ (ชาวบ้านมักมีความเชื่อว่า พ่อดี ลูกก็ต้องดี) กนกศักดิ์ จึงได้รับเลือกให้เป็นนายก อบต.แม่ทา ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2547 ในวัยเพียง 30 เท่านั้น นโยบายสำคัญของเขาคือความเข้มแข็งของชุมชนแม่ทา หมายถึง การเป็นชุมชนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรป่าไม้และน้ำที่ไร้มลพิษเศรษฐกิจรุ่งเรืองเฟื่องฟูด้วยวัฒนธรรม คู่ควรแก่การอยู่อาศัย กนกศักดิ์ ใช้ความรู้ และประสบการณ์ในการทำงานทั้งหมดของเขาทุ่มเทให้กับการจัดวางระบบการบริหารจัดการของอบต.ให้เป็นองค์กรที่ทำงานโดยยึดเอาประโยชน์ของชุมชนเป็นที่ตั้ง เน้นการมีส่วนร่วมและที่สำคัญต้องโปร่งใส ผลงานของเขาเป็นที่ยอมรับของชาวบ้านส่วนใหญ่ ทำให้เขาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกอบต.เป็นสมัยที่ 2 อยู่ในขณะนี้ “...การที่ผมมาอยู่ในจุดนี้ และทำงานตรงนี้ได้สำเร็จเป็นเพราะผมได้เรียนรู้จากผู้ใหญ่ได้เห็นตัวอย่างจากผู้ใหญ่ ส่วนหนึ่งได้จากพ่อซึ่งถึงแม้พ่อจะไม่เคยสอนแต่พ่อจะพาผมไปทำงานด้วยเสมอไม่ว่าจะเป็นการไปประชุมในฐานะประธานสภาตำบลหรือไปประชุมสัมมนาในฐานะตัวแทนกลุ่ม หรือชุมชน ผมได้เห็นวิธีที่พ่อปฏิบัติกับคนอื่น ซึ่งในฐานะผู้นำ พ่อจะดูแลคนทุกกลุ่มเท่าๆ กัน และจะเห็นการวางตัวของท่าน ทำให้เราเรียนรู้โดยทำให้เราเห็นเป็นแบบอย่าง อีกคน คือ ลุงพัฒน์ กับลุงพัฒน์เป็นเหมือนพี่เลี้ยง สอนวิธีคิด สอนวิธีการทำงาน เพราะทำงานร่วมกัน ...” นายก อบต. หนุ่ม กล่าวถึง บุคคลที่มีบทบาทสำคัญ ต่อชีวิตการทำงานของเขาในปัจจุบัน นอกจากการงานด้านการพัฒนาชุมชนแล้ว ภารกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งของกนกศักดิ์ ในฐานะผู้บริหาร อบต. คือ การส่งเสริม และสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ให้รักถิ่น ให้ภาคภูมิใจในวิถีชีวิตเรียบง่ายของคนรุ่นพ่อ รุ่นแม่ โดยมีการสนับสนุนกิจกรรมเยาวชนในหลายระดับอาทิในระดับโรงเรียนส่งเสริมกิจกรรมเกษตรกรน้อย และการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นซึ่งเป็นการทำให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องราวของท้องถิ่นและวิถีชีวิตของเกษตรกรซึ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์กับทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า อีกส่วนหนึ่ง คือ การส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ที่ออกไปเรียนหนังสือ หรือทำงานในเมืองให้กลับมาทำงานที่บ้าน และช่วยทำงานพัฒนาชุมชนให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นมารับช่วงต่อ ในการขับเคลื่อนงานความคิด และขับเคลื่อนงานแทนพวกเขา เพราะความฝัน ความปรารถนาของคนรุ่นเขาในวันนี้ ก็คือ การได้เป็น “เกษตรกร” อย่างเต็มตัวนั่นเอง วันนี้ ถ้าหากมีใครถามเขาว่าที่ผ่านมาเขาภูมิใจเรื่องใดมากที่สุด นายก อบต.หนุ่ม จะตอบด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มว่า “...ตลอดมาพ่อพูดเสมอเรื่องความยั่งยืน เรื่องความพอเพียง เรื่องคุณค่า และศักดิ์ศรีของเกษตรกร ที่คนรุ่นใหม่ควรรักษาสืบทอดกันต่อไป ซึ่งผมทำให้พ่อสามารถพูดกับใครๆ ได้เต็มปากเต็ม...” มูลนิธิสยามกัมมาจล [scbfoundation@gmail.com]

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ