สถาบันอาหาร ปั้น Food Intelligence Center ออนไลน์ผ่านเว็บไซด์

ข่าวทั่วไป Thursday November 23, 2006 10:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--สถาบันอาหาร
สถาบันอาหาร รุกอีกก้าวเล่นบทผู้นำแหล่งข้อมูลเชิงลึกด้านอุตสาหกรรมอาหาร หลังผลักดันศูนย์สารสนเทศเพื่อการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์อุตสาหกรรมอาหาร หรือ Food Intelligence Center ออนไลน์ผ่านทาง www.nfi.or.th ได้สำเร็จ เปิดให้ทดลองใช้ฟรีตั้งแต่ 15 ธันวาคมนี้ ผู้สนใจลงทะเบียนสมัครของ user name และ password ได้ล่วงหน้า หวังพัฒนาฐานข้อมูลให้เป็นศูนย์รวม ข้อมูลด้านอาหารของประเทศ ที่ปัจจุบันมีความหลากหลายมากกว่า 3,000 รายการ มีมูลค่าสินค้าอาหารและเกษตรแปรรูปมากกว่า 5 แสนล้านบาท เกิดเป็นระบบข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมตั้งแต่ วัตถุดิบ ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง การแปรรูป บรรจุภัณฑ์ ความปลอดภัยของอาหาร ผู้บริโภค การตลาด และการส่งออก สนับสนุนการตัดสินใจใหักับภาครัฐ และสร้างผู้เชี่ยวชาญรายสาขาเพื่อประโยชน์ในการชี้นำและเตือนภัย ย้ำจุดแข็งที่ความหลากหลายของฐานข้อมูล ทันสมัย รวดเร็ว ถูกต้อง น่าเชื่อถือ และมีการประมวลผลเพื่อการตัดสินใจที่แม่นยำ พร้อมดาวน์โหลดได้ทันที
สถาบันอาหารในฐานะหน่วยงานที่มีการริเริ่มจัดทำฐานข้อมูลเพื่ออุตสาหกรรมอาหารมาอย่างต่อเนื่อง นับแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ซึ่งในฐานข้อมูลของสถาบันประกอบด้วยข้อมูลกฎระเบียบ มาตรฐานอาหารของประเทศคู่ค้า ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex), กฎระเบียบการขออนุญาตตั้งร้านอาหารในต่างประเทศ, กฎระเบียบมาตรฐานอาหารของไทย เช่น การขออนุญาตผลิตอาหาร ประกาศกระทรวงสาธารณสุข มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ประกาศกระทรวงอื่นๆ เป็นต้น ,สถิติการนำเข้า-ส่งออกสินค้าอาหารของไทยแบบรายปี ย้อนหลัง 11 ปี แบบรายเดือนย้อนหลัง 2 ปี รายงานสรุปตามภูมิภาค/กลุ่มการค้า รายประเทศ รายกลุ่มสินค้า รายพิกัดสินค้า , บทคัดย่องานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ,รายชื่อ ผู้ประกอบการอาหารและ supplier ต่างๆ ,ฐานข้อมูลข่าวความเคลื่อนไหวประจำวันจากหนังสือพิมพ์ในประเทศ(News clipping) ย้อนหลัง 3 ปี, บทวิเคราะห์สถานการณ์สินค้าอาหารทั้งด้านการค้าและประเด็นเรื่องความปลอดภัยอาหาร , ข้อมูลกระบวนการแปรรูปอาหารสำหรับ SME,ข้อมูลเบื้องต้นพืชสมุนไพรอาหาร และข้อมูลด้านพิษวิทยาเพื่อการประเมินความเสี่ยงในอาหาร
นายยุทธศักดิ์ สุภสร รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า เป้าหมายสูงสุดในการพัฒนาฐานข้อมูลของสถาบันอาหารคือ การก้าวสู่ความเป็นผู้นำแหล่งข้อมูลเชิงลึกด้านอุตสาหกรรมอาหาร (To be the Leader of Food Intelligence Services) ภายในปี 2552 โดยได้วางรากฐานไว้ 3 ด้านด้วยกัน คือ 1) เป็นผู้นำในการประเมินภาวะอุตสาหกรรมและพยากรณ์ทิศทางการส่งออกสินค้าอาหารของไทย รวมทั้งการให้ข้อเสนอแนะแก่ภาครัฐและอุตสาหกรรม 2)เป็นผู้นำในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนด้านกฎระเบียบมาตรฐานอาหารของคู่ค้าและมาตรการความปลอดภัยอาหาร และ 3)เป็นผู้ชี้นำในการเสนอแนะ ผลิตภัณฑ์และทิศทางตลาดอาหารที่มีอนาคตทั้งภายในและต่างประเทศ
นายยุทธศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีแผนการอำนวยความสะดวกแก่สมาชิกศูนย์สารสนเทศ เชิงลึก ด้วยการให้สิทธิพิเศษในการเข้าไปอ่านรายงานวิจัยฉบับเต็มต่างๆ ของสถาบันอาหาร โดยรวบรวมไว้ในห้องสมุด ซึ่งปัจจุบันมีหนังสือและเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารมากกว่า 30,000 รายการ สืบค้นและอ่านวารสารฉบับเต็มเล่มปัจจุบันและย้อนหลังตั้งแต่เล่มที่ 1 บริการ e-mail update รายงานและข่าวสารที่เลือก ตอบคำถามวิชาการโดยนักวิชาการ ซึ่งจะทำให้สมาชิกเข้าถึงโลกของข้อมูลที่ต้องการได้ภายในเวลาอันสั้นเพียง log in เข้ามาในศูนย์ฯ การพัฒนาศูนย์สารสนเทศเชิงลึกในระยะต่อไป คือ การเพิ่มจำนวนสินค้าและประเทศให้ครอบคลุมมากขึ้น, พัฒนารูปแบบการวิเคราะห์ให้ชี้นำและบอกแนวโน้มอนาคตของสินค้าให้มากขึ้น,การเพิ่มในส่วนวิเคราะห์ตัวเลขที่สำคัญของอุตสาหกรรมอาหารและยังไม่มีหน่วยงานใดจัดทำ, ดัชนีต่างๆ ทางเศรษฐศาสตร์เพื่อการวิเคราะห์ที่รวดเร็วสำหรับนักวิจัย และเพิ่มบทบาทการวิเคราะห์ ผลิตภัณฑ์และตลาดที่มีอนาคต
“ประโยชน์จากการใช้งานศูนย์สารสนเทศเป็นเรื่องยากที่จะประเมินเชิงมูลค่า เพราะเมื่อใดก็ตามที่คุณยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูล ข้อมูลที่อยู่ในศูนย์สารสนเทศก็อาจจะมีค่าเป็น 0 บาท แต่เมื่อคุณมีปัญหาหรือค้นพบช่องทางการขยายตลาดโดยได้รับข้อมูลที่ช่วยอำนวยความสะดวกทำให้เรื่องยากเป็นเรื่องง่าย ทำให้ความไม่รู้เลย เป็นความรู้ มูลค่าของสารสนเทศก็จะเท่ากับมูลค่าการค้าของคุณ และเมื่อมี ลูกค้ามากกว่า 1 ราย เป็น 100 ราย หมื่นราย มูลค่าทางเศรษฐกิจก็จะทวีคูณ การพัฒนาศูนย์สารสนเทศจึงเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตที่สถาบันเล็งเห็นคุณค่าและมุ่งมั่นจะดำเนินต่อไป
นอกจากนี้เรายังมีการจัดทำระบบมาตรฐาน ISO 9000 การนำข้อมูลเผยแพร่ต้องได้รับการกลั่นกรองจากผู้บริหาร จึงมั่นใจได้ว่าข้อมูลที่เผยแพร่จะสามารถนำไปใช้อ้างอิงได้ แต่บางครั้งความผิดพลาดทางเทคนิคก็เกิดจากแหล่งข้อมูลอีกทอดหนึ่ง ซึ่งแหล่งข้อมูลที่สำคัญของสถาบันคือหน่วยงานรับผิดชอบ โดยตรงของไทยและของต่างประเทศ เช่น กรมศุลกากร United Nation, Food and Agricultural Organization , FDA ของประเทศต่างๆ รวมทั้งบริษัทวิจัยต่างประเทศ เช่น EUROMONITOR , Ryuken , AgraEurope” นายยุทธศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ