ฟิทช์จัดอันดับเครดิตภายในประเทศหุ้นกู้ชุดใหม่ของบมจ. ปตท. เคมิคอลที่ ‘A+(tha)’

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 10, 2009 13:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 มิ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTCH จำนวนไม่เกิน 3.0 พันล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2559 และ 2562 ที่ระดับ ‘A+(tha)’ โดยเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ครั้งนี้จะนำไปใช้ในการขยายธุรกิจหลักของบริษัท ปัจจุบัน PTTCH มีอันดับเครดิตดังต่อไปนี้ - อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ - อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1(tha)’ - อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ที่มีหลักประกันที่ ‘AA-(tha)’ - อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ที่ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิที่ ‘A+(tha)’ อันดับเครดิตของ PTTCH สะท้อนถึงการสนับสนุนจากความสัมพันธ์ในเชิงธุรกิจและการดำเนินการที่มีในระดับที่สูงกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. (ปัจจุบัน ฟิทช์จัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ ปตท. ที่ระดับ AAA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) เนื่องจาก PTTCH เป็นผู้ดำเนินการหลักสำหรับกลุ่ม ปตท. ในธุรกิจปิโตรเคมีที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบ นอกจากนี้ PTTCH ยังมีสัญญาการจัดซื้อวัตถุดิบในระยะยาวกับ ปตท. และมีสัญญาการขายในลักษณะ Off-take Agreement กับ ปตท. อีกด้วย อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการที่ PTTCH มีขนาดการผลิตผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ที่ใหญ่และมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ รวมถึงการขยายการผลิตลงไปในธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลายเพิ่มขึ้นซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของรายได้รวมและช่วยลดความผันผวนของรายได้ในระยะยาวอีกด้วย อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงการมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและสภาพคล่องทางการเงินที่ดีของ PTTCH แม้ว่าจะมีแนวโน้มอ่อนแอลงในปี 2552 ก็ตาม อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงปัจจัยความเสี่ยงทางด้านความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์ตามวัฏจักรของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้าง (Execution Risk) ของโครงการลงทุนใหม่และแผนการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วงวัฏจักรอุตสาหกรรมขาลง แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบสะท้อนถึง การคาดการณ์ของฟิทช์ว่าความสามารถในการทำกำไรและการสร้างกระแสเงินสดของบริษัทมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ ในขณะที่หนี้สินและอัตราส่วนหนี้สินมีแนวโน้มที่จะสูงกว่าที่คาด (เนื่องจากส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบและอัตราการใช้กำลังการผลิตมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าที่คาดไว้ รวมถึงการที่บริษัทมีค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่มีภาระผูกพันต้องจ่ายอยู่ในระดับสูงในช่วงปี 2552 ถึง 2553) นอกจากนี้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกำลังเผชิญกับความเสี่ยงต่อการหดตัวลงของอุปสงค์อันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ติดต่อ: เอกพันธ์ พรหมประพันธ์, เลิศชัย กอเจริญรัตนกุล, Vincent Milton + 662 655 4755

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ