ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารกรุงเทพที่ ‘BBB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ

ข่าวทั่วไป Wednesday November 15, 2006 11:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 พ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (“IDR”)) ของธนาคารกรุงเทพ (“BBL”) ที่ ‘BBB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F2’ อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘BBB’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘C’ และอันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’ ในขณะเดียวกัน บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ได้ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวของ BBL ที่ ‘AA(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘AA-(tha)’ (AA ลบ (tha))
อันดับเครดิตสะท้อนถึงผลกำไรจากการดำเนินงานและคุณภาพสินทรัพย์ของ BBL ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสถานะเงินกองทุนและสภาพคล่องที่แข็งแกร่งอันเป็นผลมาจากฐานเงินฝากที่แข็งแกร่งของธนาคาร อันดับเครดิต IDR ของ BBL ในขณะนี้ถูกจำกัดโดยอันดับเครดิตของประเทศไทย การลดลงของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้อย่างมีนัยสำคัญในอนาคต ประกอบกับการปรับปรุงในเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจและระบบธนาคารของประเทศไทย รวมถึงโครงสร้างทางด้านการกำกับดูแลและกฎหมาย จะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของธนาคารในอนาคตได้ เมื่อพิจารณาถึงขนาดของ BBL ความสัมพันธ์ทางสถาบันที่แข็งแกร่ง และความสำคัญที่มีต่อภาคการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้อย่างสูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลถ้าจำเป็น
ถึงแม้ว่าสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานจะถดถอยลงในปี 2549 ผลการดำเนินงานของ BBL ยังคงแข็งแกร่งอยู่ ปัจจัยหลักที่จะช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานในปี 2550 คือ อัตราการเจริญเติบโตของสินเชื่อซึ่งจะช่วยลดทอนผลกระทบจากต้นทุนการปล่อยสินเชื่อที่สูงขึ้นเนื่องมาจากผู้ฝากเงินเปลี่ยนการฝากเงินมาอยู่ในรูปแบบฝากประจำอัตราดอกเบี้ยคงที่ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า
ผลกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 20.4 พันล้านบาท ในปี 2548 จาก 17.7 พันล้านบาท ในปี 2547 โดยมีสาเหตุหลักจากการไถ่ถอนตราสารหนี้กึ่งทุนที่มีต้นทุนสูงและผลตอบแทนจากสินเชื่อที่เพิ่มสูงขึ้น ในงวดเก้าเดือนแรกของปี 2549 ผลกำไรสุทธิ (ยังไม่สอบทาน) ลดลงเป็น 13.8 พันล้านบาท จาก 16.4 พันล้านบาท ในงวดเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากค่าใช้จ่ายทางด้านภาษีอากรที่เพิ่มสูงขึ้นและค่าใช้จ่ายรายการพิเศษจากการลดลงของมูลค่าสินทรัพย์ที่โอนไปยังบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (“TAMC”) ผลกำไรก่อนหักภาษีเงินได้และค่าเผื่อสำรองหนี้สูญ ในงวดเก้าเดือนแรกของปี 2549 เพิ่มขึ้น 26.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราการเจริญเติบโตของสินเชื่อที่แข็งแกร่งขึ้น อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (เมื่อปรับการคำนวณเป็นสำหรับหนึ่งรอบปีบัญชี) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 3% ในงวดเก้าเดือนแรกของปี 2549 จาก 2.9% ในปี 2548
BBL รายงานคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นมากในปี 2548 เนื่องมาจากการบันทึกหนี้สูญตัดบัญชี และการชำระคืนหนี้บางส่วนของบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย (“TPI”) และการเปลี่ยนสถานะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ TPI เป็นสถานะลูกหนี้ปกติ ถึงแม้ว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ได้เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 108.8 พันล้านบาท (คิดเป็น 11.3% ของยอดสินเชื่อทั้งหมด) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2549 จากระดับ 100.8 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2548 (คิดเป็น 11.1% ของยอดสินเชื่อทั้งหมด) ณ สิ้นปี 2548 เนื่องมาจากหนี้ที่ได้ผ่านการปรับโครงสร้างเปลี่ยนสถานะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ผลประกอบการในงวดเก้าเดือนแรกของปี 2549 ได้ชี้ให้เห็นถึงการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น BBL ได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลงไปที่ระดับต่ำกว่า 10% ภายในสิ้นปี 2549 และลงไปสู่ระดับที่ต่ำกว่าภายในสิ้นปี 2550 ระดับสำรองหนี้สูญของธนาคารอยู่ที่ระดับ 77.5 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2549 หรือคิดเป็น 71.2% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทั้งหมด ซึ่งนับว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม ถึงแม้ว่ายังมีความเป็นไปได้ที่จะมีการขาดทุนเพิ่มเติมจากการปรับโครงสร้าง และการขายหรือการตัดบัญชีหนี้สูญของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
BBL มีสภาพคล่องที่แข็งแกร่งที่สุด เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยรายอื่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของฐานเงินฝาก และการระมัดระวังด้านความเสี่ยงของธนาคารตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางการเงินของประเทศในปี 2540 เป็นต้นมา ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2549 เงินกองทุนขั้นที่ 1 หลังทำการปรับผลกำไรสุทธิและหักเงินปันผลค้างจ่ายของ BBL อยู่ที่ประมาณ 11.6% ของสินทรัพย์เสี่ยง และเงินกองทุนทั้งหมดหลังทำการปรับผลกำไรสุทธิและหักเงินปันผลค้างจ่ายอยู่ที่ 14.5% ซึ่งนับว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารอื่น
BBL ถูกก่อตั้งในปี 2484 โดยตระกูลโสภณพณิช BBL เป็นผู้นำตลาดในภาคธุรกิจธนาคาร ถึงแม้ว่าธนาคารกำลังเผชิญกับการแข่งขันจากสถาบันการเงินต่างประเทศที่รุนแรงขึ้น ธุรกิจของธนาคารกับภาคธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่และผู้ประกอบการขนาดปานกลางและขนาดย่อมยังคงเป็นเครือข่ายธุรกิจหลักของ BBL ในขณะที่ธุรกิจของธนาคารกับผู้บริโภครายย่อยกำลังจะกลายเป็นฐานธุรกิจสำคัญในระยะยาว ในขณะที่ธนาคารเน้นการทำธุรกิจภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่โดยมีบริษัทลูกในธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจประกันภัย และธุรกิจบริการกองทุน BBL ยังมีเครือข่ายธุรกิจธนาคารในระดับภูมิภาคอีกด้วย
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
จำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ
+662 655 4762/4759
David Marshall, ฮ่องกง
+852 2263 9963

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ