ทช. กับภารกิจการฟื้นฟูปะการังในประเทศไทย

ข่าวทั่วไป Friday June 12, 2009 16:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แนวปะการังนับเป็นระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญ มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติและต่อมนุษย์อย่างมากมาย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหนึ่ง ที่มีบทบาทหลักในการอนุรักษ์และฟื้นฟูแนวปะการัง โดยได้เริ่มศึกษาวิจัยด้านการฟื้นฟูปะการังอย่างจริงจังตั้งแต่ พ.ศ.2537 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จากการติดตามสำรวจแนวปะการังช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าแนวปะการังฝั่งทะเลอันดามันฟื้นตัวดีขึ้นมาก ส่วนฝั่งอ่าวไทยกลับมีแนวโน้มเสียหายเพิ่มขึ้น และปะการังแต่ละพื้นที่ได้รับความเสียหายแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทและความรุนแรงของปัจจัยที่มากระทบ รวมถึงขึ้นอยู่กับองค์ประกอบชนิดของปะการังในพื้นที่ว่าทนทานต่อผลกระทบมากน้อยเพียงไร แม้แนวปะการังสามารถฟื้นตัวได้เองตามธรรมชาติ แต่ถือว่าช้ามาก จากสภาวะอากาศของโลกที่แปรปรวน อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น พายุพัดทำลาย การระบาดของปลาดาวหนาม และโดยเฉพาะถูกรบกวนโดยกิจกรรมของมนุษย์ ทำให้ปะการังเกิดความเสื่อมโทรม จากการศึกษาวิจัย พบว่าการฟื้นฟูแนวปะการังโดยมนุษย์ ในพื้นที่ที่เหมาะสมมีส่วนช่วยในการฟื้นตัวตามธรรมชาติ ทำให้เกิดแนวคิดในการเข้าฟื้นฟูที่ตัวปะการังโดยตรง (active resration) เพื่อทำให้สภาพแนวปะการังกลับมามีความอุดมสมบูรณ์และสามารถเอื้อประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับสิ่งมีชีวิตในทะเลรวมไปถึงมนุษย์ด้วย ในประเทศไทย การย้ายปลูกปะการังนับเป็นการฟื้นฟูทางชีวภาพวิธีแรกที่ใช้ดำเนินการในหลายพื้นที่ โดยเริ่มจากทดลองฝั่งอ่าวไทยก่อน และต่อมาสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เริ่มใช้วิธีนี้ปลูกปะการังในฝั่งทะเลอันดามันเมื่อปี พ.ศ.2537 โดยเริ่มที่เกาะไม้ท่อนและเกาะเฮ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งการฟื้นฟูแนวปะการังทำได้หลายวิธี อาทิ การจัดรูปแบบพื้นที่ลงเกาะที่เหมาะสมสำหรับตัวอ่อนปะการังในธรรมชาติ โดยวางคอนกรีตรูปทรงต่าง ๆ ลงบนพื้นทะเล การทำแปลงอนุบาลปะการัง แล้วย้ายปลูกปะการังซึ่งพื้นที่ที่เหมาะสม การใช้เทคนิคไบโอร็อคช่วยฟื้นฟูปะการัง เมื่อแนวคิดด้านการฟื้นฟูปะการังเริ่มขยายไปในวงกว้าง ปัจจุบันกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้มีการนำผลการศึกษามาขยายผลในการฟื้นฟูแนวปะการังในเกาะต่าง ๆ โดยได้รับความสนับสนุนด้านงบประมาณและแรงงานจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด ชมรมดำน้ำภาคเอกชน นอกจากนี้ยังมีการดำเนินโครงการวิจัยร่วมกับต่างประเทศเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและวิธีฟื้นฟูปะการัง โดยได้มีร่วมมือระหว่างประเทศด้านการฟื้นฟูปะการัง (REEFRES) และร่วมศึกษาวิจัยร่วมกับนักวิจัยจาก ประเทศอิสราเอล ซึ่งทำให้ความรู้ด้านการฟื้นฟูปะการังของไทยพัฒนาไปอย่างมาก ทั้งนี้ กิจกรรมฟื้นฟูปะการังที่ ทช. ดำเนินการ ส่วนใหญ่เป็นในลักษณะของงานวิจัยเพื่อหาเทคนิควิธีการฟื้นฟูปะการังใหม่ ๆ ที่รบกวนแหล่งพันธุ์ธรรมชาติน้อยที่สุด โดยมีอัตรารอดสูงสุดและใช้ต้นทุนต่ำที่สุด โดยเป็นแนวทางที่เหมาะสมภายใต้หลักวิชาการที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ และเป็นหน่วยงานหลักในการถ่ายทอดผลงานวิจัยสู่หน่วยงานภาคปฏิบัติ พร้อมกับเผยแพร่ความรู้และหาแนวทางในการฟื้นฟูปะการังไปยังนักวิชาการ นักวิจัยในส่วนต่างๆที่มีการดำเนินกิจกรรมและวิจัยด้านการฟื้นฟูปะการัง นอกจากนี้ยังนำไปใช้ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการฟื้นฟูปะการัง เช่น จัดโครงการฝึกอบรมให้ความรู้และดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์แก่นักเรียน ผู้ประกอบการดำน้ำ การดำเนินโครงการฟื้นฟูปะการังบริเวณหมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ซึ่งร่วมกับนักดำน้ำอาสาสมัครในการจัดทำแปลงอนุบาลกิ่งปะการังและจัดกิจกรรมการย้ายปลูกปะการังลงบนบริเวณพื้นที่แนวปะการังเสื่อมโทรมในช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2549 อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูปะการังโดยตรงไม่ใช่วิธีหลักในการแก้ปัญหา แต่การวางแผนจัดการที่ถูกต้องเหมาะสมนั้นเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการคุ้มครองทรัพยากรแนวปะการังอันมีค่าให้อยู่คู่ทะเลต่อไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กลุ่มสื่อสารองค์กร www.dmcr.go.th โทรศัพท์/โทรสาร ๐ — ๒๑๔๑ — ๑๓๐๐

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ