iTAPอัดฉีดความรู้ช่างซ่อมบำรุงรง.ถุงพลาสติก ยกระดับสินค้าสู่มาตรฐาน-ลดต้นทุนการผลิต

ข่าวทั่วไป Monday June 22, 2009 16:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--iTAP โครงการ iTAP จัดส่งผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ลงพื้นที่บริษัท เจ.เอส.อุตสาหกรรมพลาสติก ฟื้นความรู้งานซ่อมบำรุงเครื่องจักร ยกระดับฝีมือ-คุณภาพสินค้า ยึดหลัก “ ซ่อมคนก่อนซ่อมเครื่อง ” เพิ่มทักษะช่างซ่อม แก้ปัญหาได้เบื้องต้นลดการสูญเสีย ด้านผู้ประกอบการ ปลื้ม!! ยันเดินมาถูกทาง พร้อมทุ่มงบพัฒนาหวังต่อยอดศักยภาพช่าง เตรียมผลักดันโรงงานเข้าสู่มาตรฐาน ISO 2008 “ iTAP ช่วยชีวิตโรงงานเราไว้ได้เยอะ...หากเปรียบเทียบกับก่อนหน้านี้เรามีความทุกข์เพราะผลิตภัณฑ์ถูกตีคืนจนเกือบสูญเสียลูกค้าดีๆ ในมือไป !! สาเหตุมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการซ่อมบำรุงเครื่องจักร ” นางศิริภา สุมิตรัชตานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ.เอส.อุตสาหกรรมพลาสติก จำกัด ให้ข้อมูลก่อนที่จะได้รับความช่วยเหลือจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(iTAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ( TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยมี นายพงษ์ศักดิ์ จตุรนาคากุล อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหการ หัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญด้านระบบบำรุงและรักษาเครื่องจักร ในฐานะรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เข้ามาดูแลให้ความรู้แก่ผู้บริหารและพนักงานเกือบ 50 ชีวิต ตามโครงการ “การวางระบบและถ่ายทอดเทคโนโลยีการบำรุงรักษาเครื่องจักร” นางศิริภา บอกว่า กว่า 30 ปีที่บริษัทฯ ผลิตถุงและฟิล์มพลาสติก ประสบปัญหาเกี่ยวกับเครื่องตัดและเครื่องเป่าถุงพลาสติกมาโดยตลอด เพราะขาดผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้ามาดูแลรักษาเครื่องจักรใหม่ โดยส่วนตัวดูแลทางด้านการตลาดทำให้ไม่มีความรู้เรื่องดังกล่าว จนกระทั่งมีจดหมายเชิญผู้ประกอบการเข้าร่วมอบรมสัมมนาในหลักสูตร TPM จากทางโครงการ iTAP จึงตัดสินใจเข้ารับความช่วยเหลือตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 จนถึงเดือนมกราคม 2552 รวมระยะเวลา 7 เดือน กรรมการผู้จัดการ กล่าวอีกว่า โดยทางโรงงานได้จัดทีมช่างซ่อมบำรุง 3 คน และช่างเทคนิคที่มีอยู่ด้วยกันประมาณ 35 คน พร้อมด้วยระดับผู้บริหารสลับสับเปลี่ยนกันเข้ารับการฝึกอบรมจากผู้เชี่ยวชาญที่ทาง iTAP จัดส่งมาให้ความรู้ ไม่เพียงแต่การให้ความรู้ทางภาคทฤษฎีเท่านั้นอาจารย์พงษ์ศักดิ์ ยังลงภาคปฏิบัติเพื่อให้ช่างของโรงงานได้เรียนรู้วิธีการและเทคนิคการซ่อมบำรุงเครื่องจักรด้วยการปฏิบัติจริงอีกด้วย หลังสิ้นสุดโครงการฯ พบว่า ได้ผลเป็นที่น่าพอใจมาก เพราะโรงงานสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้จำนวนมาก ทั้งค่าแรงงาน และค่าใช้จ่ายภายในโรงงาน เช่น ค่าไฟ ค่าวัตถุดิบเม็ดพลาสติก รวมถึง ค่าซ่อมบำรุงเครื่องจักรที่ต้องส่งซ่อม และค่าล่วงเวลา อีกทั้งยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นต้น ที่สำคัญทำให้บุคลากรมีทักษะในการวิเคราะห์ปัญหาเบื้องต้นและรู้เทคนิคการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักรได้ดีขึ้น โดยในปี 2550 ก่อนเข้ารับการสนับสนุนจากโครงการ iTAP โรงงานประสบปัญหาการสูญเสียสูงถึงร้อยละ 9.69 ของยอดการผลิต หรือคิดเป็นเงินประมาณ 10 ล้านบาท แต่หลังจากที่เข้าร่วมโครงการจนถึงเดือนมีนาคม 2552 ที่ผ่านมา พบว่าปริมาณการสูญเสียลดลงเหลือเพียงร้อยละ 4 ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากในฐานะผู้ผลิต “ความร่วมมือดังกล่าวถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุนมาก เพราะนอกจากช่างซ่อมบำรุงจะมีความรู้เพิ่มแล้ว ช่างเทคนิคหน้าเครื่องซึ่งแต่เดิมเวลามีปัญหาจะกลัวเครื่องไม่กล้าแตะ แต่วันนี้สามารถวิเคราะห์ปัญหาและซ่อมบำรุงในเบื้องต้นได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องส่งชิ้นส่วนเครื่องที่มีปัญหาออกไปซ่อมบำรุงข้างนอก ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและประหยัดเวลา เพิ่มความเชื่อมั่น ลดความตึงเครียดให้กับบุคลากร ทำให้การทำงานมีความสุขมากขึ้น ซึ่งจุดนี้ถือว่าช่วยได้เยอะมาก” นางศิริภา บอกอย่างนั้น กรรมการผู้จัดการ ย้ำอีกว่า แม้ช่วงนี้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ รวมถึงโรงงานเองก็ต้องการแบกรับภาระราคาเม็ดพลาสติกที่ผันผวนอยู่ตลอดเวลาก็ตาม แต่กลับพบว่ามาเก็ตแชร์ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อีกทั้งบริษัทยังใช้เงินODลดลง เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายลดลง ทำให้มั่นใจว่าบริษัทฯเดินถูกทางแล้ว จึงสนใจที่จะพัฒนาความรู้ให้กับบุคลากรต่อไป แม้จะต้องลงทุนเพิ่มเพราะถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในอนาคต ด้านนายปฐม สุมิตรัชตานนท์ ผู้จัดการส่วนงานผลิต บริษัท เจ.เอส.อุตสาหกรรมพลาสติก จำกัด บอกว่า ปัญหาของบริษัท คือ การขาดทักษะในการซ่อมบำรุงเครื่องจักร ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดการสูญเสียด้านการผลิตทั้งระบบ อาทิ ค่าแรง ค่าไฟฟ้า ค่าอะไหล่ รวมถึงการสูญเสียเวลา พนักงานเกิดความเครียดในการทำงาน แต่โชคดีที่ได้เข้าร่วมกับโครงการ iTAP ที่ได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญ เข้ามาช่วยอบรมทั้งทางภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ สำหรับแนวทางการฝึกอบรมนั้น ทางอาจารย์พงษ์ศักดิ์จะเริ่มการสอนตั้งแต่การเข้ามาปรับเปลี่ยนทัศนะคติของพนักงาน และค่อยๆ พัฒนาให้ความรู้ตั้งแต่การหยอดจาระบี การขันน็อต การใช้สว่าน ไปจนถึงลงมือซ่อมเครื่องจักร “หลายคนอาจจะมองว่าเทคนิคที่อาจารย์นำมาสอนเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ในทางกลับกันเป็นสิ่งที่ช่างไม่เคยตระหนักมาก่อน แถมยังช่วยลดต้นทุนการผลิตได้จริงเพราะสามารถยึดอายุการทำงานของเครื่องจักรให้ยาวนานออกไป และลดโอกาสเครื่องจักรเสียหายลงได้ จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้บริษัทฯ มั่นใจว่าผลประกอบการในปี 2552 จะโตขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาอีกร้อยละ 10 อย่างแน่นอน ”นายปฐม กล่าวยืนยัน นอกจากนี้ทางผู้เชี่ยวชาญยังได้ปรับปรุงเครื่องตัดพลาสติกแบบ 2 ชั้นโดยพัฒนาจากเครื่องจักรที่มีอยู่เดิม จนสามารถนำมาใช้งานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้การทำงานเร็วขึ้น บริษัทฯ จึงมีแนวคิดที่จะนำเครื่องเป่าพลาสติกที่มีอยู่เดิมมาปรับปรุงพัฒนาขึ้นใหม่ เพื่อให้เครื่องที่มีอยู่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งต้องการให้มีการจัดฝึกอบรมแก่พนักงานเพิ่มขึ้น นายพงษ์ศักดิ์ จตุรนาคากุล ในฐานะหัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญด้านระบบบำรุงและรักษาเครื่องจักร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร กล่าวว่า ปัญหาของโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นเรื่องของช่างซ่อมบำรุงและช่างเทคนิค ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการแก้ปัญหาเครื่องจักรสำหรับใช้งาน ทั้งนี้เป็นเพราะส่วนหนึ่งมาจากช่างฝึกหัด เด็กติดรถ หรือเด็กส่งของ ทำให้ขาดทักษะ เนื่องจากการเรียนรู้จะเป็นลักษณะครูพักลักจำ เวลาลงมือปฏิบัติงานจริงจึงไม่สามารถวิเคราะห์ปัญหาของเครื่องได้ ประการต่อมาคือ ขาดการวางระบบที่ดี โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการโครงสร้างการทำงานด้านการซ่อมบำรุง และขั้นตอนการปฏิบัติงาน รวมไปถึงเอกสารหรือตำราในการซ่อมบำรุง สำหรับโจทย์ที่เข้ามาแก้ไขให้กับโรงงานนี้มี 3 ประเด็นหลัก คือ การพัฒนาบุคลากร ตั้งแต่ระดับล่างจนไปถึงระดับผู้บริหารที่ต้องให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องจักร ประเด็นต่อมาคือการวางระบบการจัดการ ในงานซ่อมบำรุงเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพ สุดท้ายคือ การพัฒนาหน่วยงานและทรัพยากรในงานซ่อมบำรุง เพื่อเพิ่มศัยกภาพให้การซ่อมบำรุงรักษา “การวางระบบและถ่ายทอดเทคโนโลยีการบำรุงรักษาเครื่องจักรของบริษัทเจ.เอส.อุตสาหกรรมพลาสติก จำกัด จึงเน้นเรื่อง โพซิเยอร์ (procedure) หรือคู่มือและขั้นตอนการปฏิบัติงานที่จะต้องจัดทำขึ้นมาใหม่ในลักษณะ การนำประสบการณ์จากการปฏิบัติงานจริงมาเขียน เหมือนคำกล่าวที่ว่า “เขียนอย่างที่ทำ ทำอย่างที่เขียน” ผู้เชี่ยวชาญ กล่าว อาจารย์พงษ์ศักดิ์ ยังได้ฝากถึงหลักในการทำงานว่า “ การพัฒนาจะต้องซ่อมคน ก่อนซ่อมเครื่อง” ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการควบคู่ไปกับการอบรมและการลงภาคสนาม หรือการปฏิบัติ เพราะจะช่วยให้โรงงานลดการสูญเสียลงได้จริง ที่สำคัญจะต้องลงมือปฏิบัติให้ช่างเหล่านี้ได้เห็นก่อนว่าสามารถทำได้จริง ซึ่งจะสร้างความน่าเชื่อถือและลดความเครียดในการทำงานเกิดความสุขกับทุกคนในองค์กร สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ ขอรับความช่วยเหลือจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สามารถติดต่อได้ที่ (ส่วนกลาง) โทร.0-2564-7000 โครงการ iTAP หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ www.tmc.nstda.or.th/itap หรือ คุณวรรณรพี สายน้ำเขียว wanrapee@tmc.nstda.or.th โทร.0-2564-7000 ต่อ1379 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ iTAP โทร. 02-270-1350-4 ต่อ 114,115

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ