บทสรุปผลวิจัยความคิดเห็นสาธารณะหัวข้อ “ความมั่นใจของคนไทยในช่วงวิกฤต”ปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday June 24, 2009 14:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--โพลีพลัส พีอาร์ นำเสนอโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คณะกรรมการบริหารนโยบายปัญญาสมาพันธ์ฯ “ความมั่นใจของคนไทยในช่วงวิกฤต” มีความสำคัญหรือไม่ อย่างไร…คำถามนี้ ย่อมได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลก และวิกฤตเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ไม่เฉพาะแต่มุมมองที่ว่า ความมั่นใจของคนไทยดังกล่าว จะส่งผลต่อพฤติกรรมต่างๆ อย่างไร แต่อาจสะท้อนถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลวของนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ หากคนไทยไม่นำพาต่อนโยบายต่างๆ อาทิ นโยบายการกระตุ้นการใช้จ่ายโดยสนับสนุนค่าครองชีพในภาวะวิกฤตคนละ 2,000 บาท เมื่อไม่เกิดความเชื่อมั่นหรือไว้ใจในแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาล พฤติกรรมการใช้จ่าย และการบริโภคของคนไทยอาจสะท้อนให้เห็นด้วยการลดการใช้จ่ายหรือไม่บริโภค ประเด็นสำคัญคือ คนไทยมีความมั่นใจหรือไม่ในช่วงวิกฤต? และรัฐควรมีแนวนโยบายอย่างไรในการกระตุ้นและแก้ไขภาวะวิกฤตเศรษฐกิจให้ประสบความสำเร็จทั้งระยะสั้นและระยะกลาง เพื่อนำพารัฐนาวาและประเทศไทยให้พ้นวิกฤตนี้ไปได้ ปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย ได้ทำการสำรวจความเห็นของคนไทยทั่วประเทศจำนวน 8,000 ราย ช่วงเดือนพฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา พบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจหลายประการ รวมทั้งยังได้นำเสนอมุมมองในการพัฒนานโยบายสาธารณะของรัฐ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจดังนี้ คนไทยขาดความมั่นใจ! การขาดความมั่นใจนี้ลามถึงการมองว่า ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้ามากินมาใช้ประจำวันยังต้องระวัง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจเดือนมีนาคม 2551 พบว่า คนไทยยังไม่พะวงกับค่าใช้จ่ายประจำวันมากนัก แต่กลับให้ความสำคัญเรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง ไฟฟ้า และค่าสาธารณูปโภค ที่น่าสังเกตเกี่ยวกับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตเทียบกับ 3 เดือนที่ผ่านมา พบการเปลี่ยแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมลดการใช้จ่ายในด้านต่างๆที่ไม่จำเป็น กล่าวคือ คนไทยงดออกไปบริโภคอาหารนอกบ้านมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (ร้อยละ 49) นอกจากนี้ ยิ่งน่าเป็นห่วงสำหรับมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐ พบว่า คนไทยมีการลดดการพักผ่อนโดยการไปดูหนัง หรือไปคาราโอเกะ (ร้อยละ 47) และลดไปท่องเที่ยวต่างจังหวัดมากขึ้น (ร้อยละ 54) มีการซื้ออาหารสำเร็จรูปแทนการทำอาหารรับประทานเองน้อยลง รวมไปถึงการไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและประเพณีมีแนวโน้มลดลง แม้ดูเหมือนจะหมดไฟ! คือ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว คนไทยแรงฮึดเริ่มจืดจาง มีการใช้เวลาในการสร้างรายได้น้อยลงเพิ่มขึ้น แต่ภาพรวม คนไทยไม่ได้พึ่งพิงกับการไปหาหมอดูพยากรณ์ดวงชะตามากขึ้นอย่างที่คนส่วนใหญ่คาดไว้ อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบคนในเมืองกับคนชนบท และคนกรุงเทพฯกับคนต่างจังหวัด พบว่า คนกรุงเทพฯ มีแนวโน้มจะดูดวงมากขึ้น มากกว่าคนต่างจังหวัด ทำนองเดียวกัน คนในเมืองมีแนวโน้มดูดวงมากขึ้น มากกว่าคนชนบท…ทำไม? ความเครียด ความแออัด และการแข่งขันที่รุนแรงของสังคมเมือง ทำให้คนไทยกลุ่มนี้ต้องอาศัยโหราศาสตร์ช่วยมากกว่าคนชนบทหรือ และสภาพนี้จะทำให้คนในเมืองเครียดมากขึ้นจนถึงเป็นโรคจิต โรคประสาท และเลยเถิดไปถึงโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายมากขึ้นหรือไม่ คงเป็นปริศนาที่ต้องติดตามต่อไป คนไทยใช้สูตรเดิมในการประหยัด! แต่เพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว กล่าวคือ วิธีการประหยัดในการบริโภค โดยเฉพาะด้านอาหารของคนไทย ยังอยู่ที่การบริโภคอาหารประเภทบะหมี่สำเร็จรูปมากขึ้น นอกจากนี้ มีการลดการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น (ร้อยละ 35.2) และซื้อเครื่องปรุงมาทำรับประทานเองที่บ้านมากขึ้น (ร้อยละ 23.7) เมื่อถามถึงสภาพทางการเงินของตนเทียบกับปีที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร สรุปได้ว่า คนไทยคิดว่าฐานะทางการเงินของตนแย่กว่าปีที่แล้วอย่างชัดเจน ในทางกลับกัน คนที่คิดว่าสภาพทางการเงินของตนดีขึ้นก็ลดลงอย่างน่าใจหาย เป็นที่น่าสังเกตคือ คนไทยส่วนใหญ่เริ่มปลง ว่าเศรษฐกิจของไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้าคงไม่แตกต่างจากที่เป็นอยู่ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่ก็มีอีกไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 เห็นว่า เศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผลการสำรวจนี้ยังสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ซึ่งปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐบาลได้พยายามทำงานอย่างหนักเพื่อพลักฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยมุ่งเน้น 2 มาตรการสำคัญ ได้แก่ การสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทย และการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยรูปแบบต่างๆ กัน อาทิ เช็คช่วยชาติ ธงฟ้าประชาชน เบี้ยกตัญญู และประกันราคาพืชผล อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังต่อเศรษฐกิจของประเทศในรอบ 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ไม่คาดว่าจะมีอะไรดีขึ้นหรือแย่ลงจากปีที่ผ่านมา อาจเป็นสัญญาณความไม่เชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาวิกฤตที่กำลังดำเนินอยู่ แต่ก็อาจเป็นข่าวดีสำหรับรัฐบาล หากจะตีความว่า เมื่อคนไทยไม่ค่อยคาดหวังอะไรจากรัฐบาลมาก ก็คงไม่คิดจะเรียกร้องอะไรจากรัฐมากเช่นกัน ประเทศไทยขอมีความหวังบ้าง! ดูเหมือนประเทศไยยังพอมีความบ้างกับความแข็งแกร่งและการหยั่งรากลึกของประเพณีวัฒนธรรมไทย แม้ว่าคนไทยจะกังวลอยู่มากกับการถูกล่วงล้ำและกลืนกินวัฒนธรรมจากชาติตะวันตกและทุนนิยม และวิกฤตการเมืองช่วงเทศกาลสงกรานต์ก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมตามประเพณีของไทยได้ ผลสำรวจพบว่า คนไทยยังมีพฤติกรรมเช่นเดิมเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา มีการไปทำบุญ สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัว และเล่นสาดน้ำกันตามประเพณี คนไทยมีความสุขหรือเปล่า? ไม่ว่าวิกฤตเศรษฐกิจของโลกและของไทยจะรุนแรงแค่ไหน คนไทยมีความมั่นใจต่อเศรษฐกิจและนโยบายในการแก้ปัญหาของรัฐบาลหรือไม่ ที่สำคัญคือ คนไทยมีความสุขหรือเปล่า…ผลการสำรวจพบว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังคิดว่า ตนมีความสุขพอๆกับปีที่แล้ว แต่ที่น่าสังเกตคือ ร้อยละ 20 จากกลุ่มตัวอย่าง 8,000 คน คิดว่าปีที่แล้วมีความสุขมากกว่า ซึ่งความเห็นของคนกลุ่มนี้รัฐคงไม่ควรมองข้าม ผลสำรวจชี้ว่า ความมั่นใจของคนไทยในช่วงวิกฤต อยู่ในภาวะวิกฤต! คือ คนไทยขาดความมั่นใจ ผลคือ พฤติกรรมการใช้จ่ายมีแนวโน้มเปลี่ยนไป โดยพยายามลดหรืองดการใช้จ่ายในหลายๆ ประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบริโภคสินค้าและบริการที่ยังไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต นอกจากนั้น พฤติกรรมเกี่ยวกับความพยายามในการประหยัดโดยการบริโภคอาหารบะหมี่สำเร็จรูป ลดการพักผ่อนหย่อนใจและรับประทานอาหารนอกบ้าน รวมถึงการท่องเที่ยวในต่างจังหวัด ฯลฯ พฤติกรรมดังกล่าวเหล่านี้ ย่อมเป็นอุปสรรคต่อนโยบายและมาตรการในการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของรัฐบาล เนื่องจากรัฐพยายามกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายหมุนเวียนสร้างมูลค่าของเงิน สินค้าและบริการให้เพิ่มขึ้นจากการบริโภคของคนในประเทศ ที่เพิ่มขึ้น รัฐควรทำอย่างไรดี? แก้ปัญหาต้องแก้ที่เหตุ…เนื่องจากคนไทยใช้จ่ายน้อยลง ก็เพราะขาดความมั่นใจในสภาพเศรษฐกิจ และอาจรวมถึงนโยบายและมาตรการการแก้ปัญหาของรัฐบาลในด้านต่างๆ ดังนั้น รัฐควรเร่งสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน อะไรคือ ความมั่นใจที่คนไทยควรมี ? คนไทยควรมีความมั่นใจว่า เขาจะมีงานทำ เขาจะไม่ต้องตกงานและขาดแหล่งรายได้ เขาจะโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำงาน และการลงทุน รวมถึงการสนับสนุนจากรัฐทั้งทางด้านมาตรการภาษีและดอกเบี้ย คนไทยควรมีความมั่นใจว่า ในภาวะวิกฤตนี้ เขาควรจะสามารถเข้าถึงรัฐสวัสดิการที่ทำให้ค่าครองชีพของวิถีชีวิตของเขาไม่สูงจนเกินไป คนไทยควรมีความมั่นใจว่า ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้ ประเทศของเขาไม่ควรมีภาวะแทรกซ้อนจากวิกฤตการเมืองเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองหรือของคนบางกลุ่มบางพวก ที่สร้างความเดือดร้อนและความไม่เชื่อมั่นให้กับต่างประเทศ ซึ่งคนไทยยังต้องพึ่งพิงแหล่งรายได้จากต่างประเทศทั้งด้านการท่องเที่ยวและการส่งออก คนไทยควรมีความมั่นใจว่า เงินงบประมาณ (ไม่ต้องทั้งหมดก็ได้ แต่ควรเป็นส่วนใหญ่) หมุนเวียนไปสู่คนไทย เพื่อสร้างรายได้ กระตุ้นการใช้จ่าย กระตุ้นการลงทุน และเพิ่มการหมุนเวียนกระแสเงิน รวมทั้งการบริโภคสินค้าและบริการให้มากขึ้นอย่างแท้จริง แทนที่จะไปตกกับนักการเมืองหรือกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คนไทยควรมีความมั่นใจว่า ภาวะวิกฤตไฟใต้จะลดความรุนแรงและนำไปสู่ความสงบ ไม่ลุกลามใหญ่โตไปกว่านี้ ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความไม่มั่นใจในมาตรการรักษากฎหมายและความปลอดภัยของไทย และคนไทยควรมีความมั่นใจว่า เขาจะมีรัฐบาลที่ฉลาด เก่งและซื่อสัตย์ ที่สามารถกำหนดนโยบายและมาตรการในการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างนัยสำคัญ มีความชัดเจน ตรวจวัดผลสำเร็จเชิงรูปธรรมได้ และมีขั้นตอนและกระบวนการในการปฏิบัติให้เกิดผลได้จริงไม่นำพาไปสู่การสูญเปล่าของทรัพยากรและงบประมาณของประเทศ ความมั่นใจเหล่านี้ รัฐจะสร้างให้ได้หรือเปล่า? หากคำตอบคือได้ …คนไทยคงมีความมั่นใจและหันมามีพฤติกรรมการบริโภคที่เพิ่มขึ้นและเข้าสู่สภาพปรกติ นโยบายและมาตรการต่างๆของรัฐก็จะบรรลุได้ง่ายขึ้น!

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ