สกว.ประกาศอันดับผลงานวิจัยเด่นประจำปี 2549 ทั้งหมด 5 สาขา มุ่งสู่การนำผลงานวิจัยทั้งหมดไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง

ข่าวทั่วไป Wednesday December 20, 2006 16:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--คอร์ แอนด์ พีค
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ประกาศผลการคัดเลือกโครงการ และงานวิจัยเด่น สกว. ประจำปี 2549 ทั้งหมด 19 เรื่อง จากผลงานวิจัยทั้งหมดกว่า 1,000 เรื่อง ที่เสร็จสิ้นในปี 2549 แยกเป็น 5 สาขา โดย สกว. มีแผนต่อยอดผลงานวิจัยเด่น ทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติ เพื่อนำผลงานวิจัยทั้งหมดไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง
ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานประกาศผลงานวิจัยเด่นประจำปี 2549 ว่า เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยได้มาเปิดตัวพร้อมแสดงผลงานอย่างเป็นทางการต่อสาธารณชน พร้อม ๆ กับการประกาศรางวัล โดยผลงานวิจัยเด่นนั้น ๆ จะนำไปสู่การยอมรับในระดับภาคประชาชน เนื่องด้วยเวทีประกาศผลงานวิจัยเด่นของสกว. นับได้ว่า เป็นเวทีระดับประเทศ ที่มีความแตกต่าง โดยเฉพาะผลงานวิจัยเด่นที่ได้รับการประกาศรางวัลในปีนี้ทั้งหมด 19 เรื่อง ล้วนผ่านกระบวนการคัดเลือก และตัดสินจากคณะกรรมการสกว. อย่างเป็นขั้นตอนจากผลงานวิจัยทั้งหมดกว่า 1,000 เรื่อง
“ การที่ผลงานวิจัยเด่น ผ่านเข้ามาในรอบการประกาศเกียรติบัตร จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก จึงมองได้ว่า เวทีการมอบรางวัลครั้งนี้ จะเป็นกำลังใจให้กับนักวิจัยได้คิดค้นผลงานวิจัยในเวลาต่อ ๆ ไป และการที่นักวิจัยได้รับรางวัลก็เป็นการพิสูจน์ว่า ผลงานวิจัยได้รับการยอมรับและสัมฤทธ์ผลแล้ว ประโยชน์ที่นักวิจัยจะได้รับประการถัดมาคือ การได้รับการยอมรับในผลงาน อาจนำไปสู่การเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง” ศ.ดร.ปิยะวัติ กล่าว
รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) กล่าวว่า ผลงานวิจัยที่สกว. ให้การสนับสนุนมีกว่า 1,000 เรื่อง โดยมีกว่าร้อยละ 40 สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งมีหลักฐานปรากฎชัดเจน ด้านการต่อยอดและนำไปใช้ประโยชน์ในระดับต่าง ๆ ประกอบด้วย การใช้ประโยชน์เชิงวิชาการ เช่น ผลงานวิจัยถูกอ้างอิงในวารสารวิชาการต่างๆ ประการต่อมาเป็นการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงสาธารณะก่อให้เกิดความรู้ในวงกว้าง เช่น ความรอบรู้เรื่องสุขภาพ ความรู้ที่มากขึ้นของประชาชนก็เป็นการสะท้อนคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ประการที่สาม เป็นการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย หรือระดับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการนำผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ ไปเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งของการประกาศใช้กฎหมาย หรือมาตรการต่าง ๆ โดยองค์กร หรือหน่วยงานภาครัฐ ประการสุดท้ายคือการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ซึ่งก่อให้เกิดรายได้ตามมา ทั้งในส่วนของนักวิจัย และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ผลงานวิจัยที่สกว.ให้การสนับสนุน และผ่านเข้ามาในรอบของการประกาศเกียรติคุณทั้งหมด 19 เรื่องในปี 2549 ครั้งนี้ แยกเป็น 5 สาขา ซึ่งทุกเรื่องให้ผลกระทบในเชิงบวก ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผลงานวิจัยอื่น ๆ ที่ไม่ได้ประกาศรางวัลในปีนี้ จะเป็นผลงานด้อย เพียงแต่ว่า ผลงานวิจัยบางอย่างอยู่ระหว่างรอหรืออยู่ในช่วงเริ่มต้นของกระบวนการพัฒนา หรือนำไปใช้ประโยชน์
“ งานวิจัย แม้จะสิ้นสุดกระบวนการวิจัยไปแล้ว และได้รายงานออกมา แต่นับเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการพัฒนา ซึ่งสกว.จะต้องให้การสนับสนุนต่อไป ด้วยแนวคิดที่ว่า การวิจัย และการพัฒนาจะต้องก้าวไปพร้อมกันทั้งสองส่วน เพื่อนำไปสู่การนำความรู้จากผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ในระดับต่าง ๆ ” รศ.ดร.พีรเดช กล่าว
สำหรับผลงานวิจัยเด่น 19 เรื่องที่ได้รับประกาศเกียรติคุณปีนี้แบ่งเป็น 5 สาขา ประกอบด้วย
1.กลุ่มงานวิจัยสาขาเกษตร ได้แก่
- เทคนิคปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมมะลิด้วยลำไอออนพลังงานต่ำมี ศ.ดร.ถิรพัฒน์ วิลัยทอง เป็นหัวหน้าโครงการ
-ต้นแบบการจัดการสวนลำไยคุณภาพดีนอกฤดูเพื่อการส่งออกมี ผศ.พาวิน มะโนชัย เป็นหัวหน้าโครงการ
2.กลุ่มงานวิจัยอุตสาหกรรม ได้แก่
- การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบความเย็นและระบบปรับอากาศด้วยการใช้อุปกรณ์ถ่ายเทคความร้อนแบบใหม่ มี ศ.ดร.สมชาย วงษ์วิเศษ และนายวรเชษฎ์ ภิรมย์ภักดิ์ เป็นหัวหน้าโครงการ
-ยกระดับคุณภาพล้อยางตันมี ผศ.ดร.เจริญยุทธ เดชวายุกุล เป็นหัวหน้าโครงการ
3.กลุ่มงานวิจัยเด่นสุขภาพ ได้แก่
- เรียนรู้คู่วิจัย: อาหารกับฟันผุ มี ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย เป็นหัวหน้าโครงการ
-ชุดตรวจนับเม็ดเลือดขาว CD4+ lymphocytes ราคาประหยัด เพื่อช่วยพยากรณ์ความรุนแรงของโรค และใช้เป็นแนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อเอดส์ มี รศ.ดร.วัชระ กสิณฤกษ์ และศ.นพ.ธีระ ศิริสันธนะ เป็นหัวหน้าโครงการ
-เครื่องช่วยวินิจฉัยทารกตัวเหลืองอย่างง่าย มี ศ.นพ. เกรียงศักดิ์ จีระแพทย์ เป็นหัวหน้าโครงการ
-ศูนย์การเรียนรู้การจัดการชีวอนามัยและความปลอดภัยในงานศิลปหัตกรรมพื้นบ้านในศูนย์ศิลปาชีพบางไทรมี ดร.นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ เป็นหัวหน้าโครงการ
4. กลุ่มงานวิจัยชุมชนและสังคม ได้แก่
-การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน มีนายภีม ภคเมธาวี เป็นหัวหน้าโครงการ
-กระบวนการจัดการ “ความจริง” ของไทย การศึกษามิติพลวัตรของความเปลี่ยนแปลงความจริงในสังคมไทยมีศ.ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ เป็นหัวหน้าโครงการ
-เอฟทีเอ ภาคประชาชน การมีส่วนร่วมของประชาชนและกลไกในการลดผลกระทบด้านลบจากการทำความตกลงการค้าเสรี มี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เป็นหัวหน้าโครงการ
5. กลุ่มงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ได้แก่
-กระบวนการชุมชนเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูลำน้ำแม่ลายน้อย มีนายสวัสดิ์ ขัติยะ เป็นหัวหน้าโครงการ
-เรียนรู้จากกระบวนการเลี้ยงโคขาวลำพูน มีนายอยุธ ไชยยอง เป็นหัวหน้าโครงการ
-สืบสานศิลปะพื้นบ้านมโนราห์ มีนางราตรี หัสชัย เป็นหัวหน้าโครงการ
-พัฒนาการอ่านและสอนอัลกุรอานรูปแบบกีรออาตีย์ มีนายอดุลย์ มะหะหมัด เป็นหัวหน้าโครงการ
-ฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าถ้ำเขาอย่างยั่งยืน มีนายวิเชียร เอกนิกร เป็นหัวหน้าโครงการ
-ฟื้นภูมิปัญญาหมอนวดพื้นบ้าน อ. เขาชัยสน มีนายสมบูรณ์ ทิพย์นุ้ย เป็นหัวหน้าโครงการ
-อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้วยความเชื่อ พิธีกรรม และเรื่องเล่า มีนายธีรพันธุ์ จุฬากาญจน์ เป็นหัวหน้าโครงการ
-กระบวนการชุมชนกับการฟื้นฟูปูเปี้ยวอย่างยั่งยืน มีนายประสิทธิ เชื้อเอี่ยม เป็นหัวหน้าโครงการ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
คุณปาริชาติ สุวรรณ์, คุณธนศักย์ อุทิศชลานนท์
ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์
บริษัท คอร์ แอนด์ พีค จำกัด โทร 0-2439-4600 ต่อ8203

แท็ก สกว.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ