กทม.ให้บริการ One Stop Service ดูแลผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009

ข่าวทั่วไป Wednesday July 8, 2009 15:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--กองประชาสัมพันธ์ กทม. กทม.สั่งโรงพยาบาลในสังกัด 9 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง จัดพื้นที่แยกผู้ป่วยไข้หวัด ให้บริการแบบ One Stop Service ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อสู่ผู้อื่น หากพบผู้ป่วยไข้หวัด 2009 จัดแยกวอร์ดพิเศษส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูแลเฉพาะ ขณะเดียวกันเร่งจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจอาการของโรค และสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องลดความตื่นตระหนกจากกระแสข่าว นายไกรจักร แก้วนิล รองปลัดกรุงเทพมหานคร ประชุมผู้บริหารสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร รับทราบนโยบายของ นางมาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนต่อการควบคุมและป้องกันโรค ตลอดจนทำความเข้าใจกับประชาชนไม่ให้ตื่นตระหนกจากการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในกรุงเทพฯ และมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าว โดยกำชับให้ทุกหน่วยงานของกทม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลในสังกัด 9 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง เตรียมพร้อมบุคลากรในการรับมือกับประชาชนที่ตื่นตระหนกกับสถานการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 แล้ว เปิดเพิ่มช่องทางเฉพาะไข้หวัด พร้อมจัดสื่อชี้แจงอาการลดความตระหนกของผู้ป่วย รองปลัดกทม. กล่าวว่า ขณะนี้ โรงพยาบาล ในสังกัด กทม. ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลหนองจอก โรงพยาบาลลาดกระบัง โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลสิรินธร และโรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ และศูนย์บริการสาธารณสุขของกทม. ทุกแห่ง ได้เปิดช่องทางให้บริการเฉพาะไข้หวัด โดยจะให้บริการในลักษณะจุดเดียวเบ็ดเสร็จ หรือ One Stop Service ทั้งการคัดกรองผู้ป่วย การตรวจรักษาจากแพทย์ และจุดจ่ายยา เพื่อแยกผู้ป่วยไข้หวัดจากผู้ป่วยรายอื่น และประชาชนที่มาติดต่อที่โรงพยาบาลป้องกันการปะปนของเชื้อไข้หวัดใหญ่และแพร่กระจายของเชื้อโรคอื่นๆ พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาอาการ มีเอกสารและสื่อต่างๆ ชี้แจงประกอบ เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน และสามารถดูแลรักษาตนเองได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ โรงพยาบาลยังได้เพิ่มเวลาการตรวจรักษาจากเดิมวันธรรมดา เวลา 08.00 — 12.00 น. เป็นทุกวันไม่เว้นวันหยุด เวลา 08.00 — 16.00 น. ส่วนศูนย์บริการสาธารณสุข เปิดให้บริการในวันเวลาราชการ แต่หากพบว่าสถานการณ์ระบาดรุนแรงจะขยายเวลาบริการต่อไป จัดวอร์ดพิเศษแยกผู้ป่วยในเฉพาะ รองปลัดฯ กทม. กล่าวด้วยว่า โรงพยาบาล ของกทม. จะไม่ทำการ rapid test หรือการทดสอบอาการไข้หวัดใหญ่ 2009 อย่างคร่าวๆ เนื่องจากผลการตรวจโรคไม่รับรองผลอย่างชัดเจน และไม่เพียงพอที่จะระบุอาการของโรคได้ แต่หากประชาชนร้องขอจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเองเป็นจำนวนเงิน 4,000 บาทโดยไม่สามารถเบิกได้ทุกกรณีตามอัตราที่กระทรวงวิทยาศาสตร์แจ้ง กรณีเป็นผู้ป่วยต้องสงสัยและแพทย์สั่งตรวจจะไม่เสียค่าใช้จ่ายในการตรวจดังกล่าว อย่างไรก็ตามหากผลจากห้องแล็บของกระทรวงวิทยาศาสตร์ระบุเป็นผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 กทม. ได้เปิดวอร์ดพิเศษสำหรับผู้ป่วยดังกล่าว พร้อมทั้งจัดทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้การดูแลเฉพาะ เพื่อให้การรักษาอย่างทันท่วงทีแล้ว ยืนยันไข้หวัด 2009 ไม่รุนแรง ร่วมกันสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องป้องกันตนเอง พร้อมกันนี้ รองปลัดฯ กทม. ยืนยันว่า ไข้หวัดใหญ่ 2009 ไม่เป็นโรครุนแรงแม้จะมีผู้ชีวิตจากโรคดังกล่าว แต่เกิดจากมีโรคประจำตัวแทรกซ้อนจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต หากดูจากสถิติการเกิดของโรคและจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 0.4 เท่านั้น ซึ่งในช่วงเดือน ก.ค. — ส.ค. จะยังคงมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 แต่ กทม.ได้จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจกลุ่มเสี่ยงทุกพื้นที่เขตเพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ สร้างการรับรู้ที่ถูกต้องเพื่อป้องกันตนเอง อีกทั้งยังเป็นการสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชนอีกด้วย ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกจากโรคดังกล่าวไข้หวัดใหญ่ 2009 และขอย้ำว่าอาการของโรคไม่รุนแรง สามารถรักษาหายได้ภายใน 7 วัน แต่หากเป็นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวจะต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด สำหรับผู้ที่ต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 สามารถขอคำแนะนำในเบื้องต้นได้ที่ โทร. สายด่วน 1555 ซึ่งกทม.ได้จัดเจ้าหน้าที่ไขข้อข้องใจแก่ประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ