ทัพเรือภาค ๓ ชี้แจงเรือประมงหลังหมดเวลาผ่อนผันจับต่างด้าวเข้ม

ข่าวทั่วไป Thursday July 9, 2009 13:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ ทัพเรือภาค ๓ ชี้แจงผู้ประกอบการประมงฝั่งอันดามันหลังผ่อนผันขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวดำเนินการจับกุมเข้ม ขณะที่ผู้ประกอบการร้องขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ปัญหาแรงงานหลบหนี จี้ให้โควต้าแรงงานต่างด้าวเรือแต่ละลำแบบจำกัดจำนวน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พลเรือโท ณรงค์เทศวิศาล ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ ๓ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ประชุมผู้บริหารของศูนย์ประสานงานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ร่วมกับนายกสมาคมประมงในฝั่งทะเลอันดามันทั้ง ๖ จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง ระนอง และสตูล เพื่อหาข้อสรุปและแนวทางในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวทางทะเล ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้ประกาศให้นายจ้างนำแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนใหม่ และอยู่ในช่วงของการผ่อนผันการจับกุม หากครบกำหนดระยะเวลาแล้วเจ้าหน้าที่จะดำเนินการปราบปรามและจับกุมแรงงานทางด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างเข้มงวด การปราบปรามจับกุมแรงงานต่างด้าว เป็นภารกิจหนึ่งของทหารเรือในการดูแลด้านความมั่นคง ซึ่งจะจัดเรือออกลาดตระเวนตามปกติและจะเข้าตรวจเยี่ยมเรือประมงเพื่อสกัดกั้นแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมาก่อนที่จะมีการผ่อนผันประมาณ ๑๐ วัน ทัพเรือภาค ๓ นำกำลังเข้าตรวจเยี่ยมเรือประมง จำนวน ๑๐๔ ลำ มีแรงงานต่างด้าวจำนวน ๑,๘๒๘ คน ในจำนวนนั้นเป็นแรงงานที่จดทะเบียนเพียง ๓๐๐ กว่าคน เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นเพียงส่วนน้อย และเชื่อว่าในปัจจุบันนี้มีแรงงานต่างด้าวในทะเลที่ไม่ถูกต้องอีกจำนวนมาก สำหรับการเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าวในช่วงที่มีการผ่อนผันนั้นในส่วนของทหารเรือก็เฝ้าระวังอยู่เพื่อป้องกันการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาในพื้นที่เพิ่ม ขณะที่ปัญหาของสมาคมประมงทั้ง ๖ จังหวัด ส่วนใหญ่ก็จะเป็นปัญหาคล้าย ๆ กัน คือ กรณีที่นายจ้างนำแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนและทำงานได้ระยะหนึ่งก็จะหลบหนีไปทำงานที่อื่น ทำให้ผู้ประกอบการเรือประมงต้องไปหาแรงงานต่างด้าวจากที่อื่นมาทดแทน ซึ่งหลังจากการประชุมจะนำปัญหาทั้งหมดที่ได้มีการพุดคุยกันมาประเมินและสรุป เพื่อนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาในส่วนของผู้ประกอบการต่อไป ด้านนายกสมาคมชาวประมงจังหวัดภูเก็ต ได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดควรจะเป็นเรื่องของการให้โควต้ากับเรือประมง โดยกำหนดให้เรือแต่ละลำสามารถใช้แรงงานต่างด้าวได้จำนวนเท่าไร ถ้าแรงงานต่างด้าวหลบหนีก็ให้นำแรงงงานต่างด้าวมาจดทะเบียนใหม่ให้ได้ตามจำนวนโควตาที่ได้ ถ้าหากแรงงานมีมากกว่าโควตาก็ให้มีการดำเนินคดีได้ทันที กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม ถนนอรุณอัมรินทร์ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพ ๑๐๖๐๐ โทร. ๐-๒๔๗๕-๕๗๓๓,๐-๒๔๖๕-๓๐๑๘, ๐ ๒๔๗๕ ๕๑๘๔ แฟกซ์ ๐-๒๔๗๕-๕๗๓๒ ,๐-๒๔๖๖-๑๘๑๑

แท็ก อันดามัน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ