ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ พระราชทานพระดำรัสแก่เด็กและเยาวชนที่ร่วมโครงการ “ปาฏิหาริย์แห่งชีวิต”

ข่าวทั่วไป Tuesday July 14, 2009 16:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ พระราชทานพระดำรัสแก่เด็กและเยาวชนที่ร่วมโครงการ “ปาฏิหาริย์แห่งชีวิต” ให้กล้าคิด กล้าทำ กล้านำความดี ผ่าน “การให้” และ “ให้ต่อ” อย่างไม่สิ้นสุด สร้างปาฏิหาริย์ได้จริง เมื่อวันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม 2552 เวลา 17.00 น. ณ แกรนด์ฮอลล์ ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยาม ดิสคัพเวอรี่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จเป็นองค์ประธานในการพระราชทานเข็มที่ระลึกโครงการ “ปาฏิหาริย์แห่งชีวิต” หรือ Miracle of Life แก่คณะผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้ดำเนินโครงการ “ปาฏิหาริย์แห่งชีวิต” และพระราชทานพระดำรัสแก่ตัวแทนเด็กและเยาวชนจากทั่วประเทศกว่า 100 คนที่ร่วมโครงการฯ โดยใจความสำคัญในพระดำรัส ทรงเน้นย้ำว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่อบอุ่น มีความเอื้ออารีต่อกันมาแต่ดั้งเดิม แม้สภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน จะทำให้คนในสังคมต้องเร่งรีบในการ ทำมาหากินเพื่อดูแลตนเองและครอบครัว แต่ความเอื้อเฟื้อ แบ่งปัน และการให้ ยังคงอยู่ในสายเลือดและ จิตวิญญาณของคนไทยทุกคนมาตั้งแต่เกิด ที่สำคัญคือ ควรจะต้องปลูกฝังจิตสำนึกความเป็น “ผู้ให้” ให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่อไปในวันข้างหน้า และยังสามารถสร้างปาฏิหาริย์แห่งชีวิตให้กับ “ผู้รับ” ด้วยการเป็น “ผู้ให้” อีกทอดหนึ่งต่อไปไม่รู้จบ ขอให้เยาวชนทั้งหลาย กล้าคิด กล้าทำ กล้านำความดี โดยผ่าน “การให้” ให้เกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศต่อไป หลังจากพระราชทานพระดำรัสแก่ตัวแทนเด็กและเยาวชนที่ร่วมโครงการฯ แล้ว พระราชทาน พระวโรกาสให้ นายศักดิ์สิทธิ์ (โต๋) เวชสุภาพร แสดงเปียโนและขับร้องเพลง “ปาฏิหาริย์แห่งชีวิต” ซึ่งเป็นบทเพลงประจำโครงการ ประพันธ์คำร้องและทำนองโดย นายชีวิน (บอย) โกสิยพงษ์ ในการนี้ นายวัลลภ พลอยทับทิม ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้กราบทูลรายงานถึง ความเป็นมาของโครงการ “ปาฏิหาริย์แห่งชีวิต” ว่าจัดขึ้นเพื่อสนองพระดำริของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ในการส่งเสริมและสนับสนุนเด็กและเยาวชน ให้ได้รับโอกาสและมีพื้นที่ ในการแสดงออก ตามความสามารถและความสนใจของตน อย่างเหมาะสมกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง ภายใต้กรอบวัฒนธรรมอันดีงามของไทย ซึ่งเด็กและเยาวชนนับเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศ ที่ทุกภาคส่วนต้องให้การดูแลส่งเสริมให้สามารถพัฒนาศักยภาพอย่างรอบด้าน อีกทั้งยังเป็น การจุดประกายให้มีการพัฒนาทักษะ เพื่อนำไปสู่ศักยภาพที่สูงขึ้น และเกิดการรวมกลุ่ม เพื่อสร้างประโยชน์แก่ตนเอง กลุ่ม และสังคมต่อไป ทั้งนี้ พม. ได้มอบหมายให้ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พม. ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการขับเคลื่อนในระดับภูมิภาค 6 ภูมิภาค คือ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ เด็กและเยาวชน อายุ 13-18 ปี จาก 76 จังหวัดทั่วประเทศ กลุ่มเป้าหมายรอง คือ เด็กและเยาวชนที่ไม่มีโอกาสโดยตรง ในการเข้าร่วมโครงการ โรงเรียน และครอบครัวทั่วประเทศ ทั้งนี้ มีเด็กและเยาวชนจำนวน 10,925 คน เข้ารับการอบรมในขั้นที่ 1 และร่วมทำกิจกรรมส่งโครงการ “ให้แล้ว-ให้อีก” เข้าประกวด จำนวน 2,185 โครงการ ซึ่งจะมีการคัดเลือกให้เหลือ 18 โครงการ ในวันที่ 15 กรกฎาคม ศกนี้ ผู้ยาวชนนับเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศ ที่ทุกภาคส่วนต้องให้การดูแลส่งเสรผผที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักคุ้มครองสวัสดิภาพหญิงและเด็ก กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ โทร. 0-2659-6110 หรือ 0-2931-4253

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ