iTAPห่วงช่างไม้สูญอวัยวะ ดึงมจพ. สอนทำจิ๊ก-ฟิกซ์เจอร์ลดอุบัติเหตุ

ข่าวทั่วไป Wednesday July 15, 2009 14:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--ไอแอนด์ไอ คอมมิวนิเคชั่น โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) iTAP - มจพ.จัดอบรม“จิ๊กและฟิกซ์เจอร์สำหรับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน” หวังเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตและแข่งขัน ผู้เชี่ยวชาญระบุช่างไทยเกิดอุบัติเหตุสูญเสียอวัยวะระหว่างปฏิบัติงานบ่อยครั้ง เหตุขาดทักษะการใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ถูกต้อง เร่งระดมสมองทีมคณาจารย์อัดฉีดความรู้หวังให้นำไปประยุกต์ใช้ลดความเสี่ยง ลดต้นทุน แม้ว่าอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการส่งออกเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศก็ตาม แต่ปัจจุบันกลุ่มผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่ต่างหันมาพัฒนาศักยภาพของตัวเองเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้โดยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากผู้เชี่ยวชาญมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาฝีมือแรงงาน และทักษะการใช้อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือที่ถูกหลักการ เพื่อปรับตัวเองให้สามารถแข่งขันในตลาดภายนอกได้อย่างยั่งยืน ในสภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังถอดถอยจากทั่วทุกมุมโลก จากปัจจัยดังกล่าว โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้ร่วมกับ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และ สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของภาคการผลิตที่มีผลต่อการความยั่งยืนในการดำรงชีพของผู้ประกอบการและลูกจ้าง จึงได้จัดโครงการอบรม“พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้” ในหัวข้อ “จิ๊กและฟิกเจอร์ในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน” เพื่อส่งเสริมฝีมือแรงงานและเพิ่มความรู้ให้กับผู้บริหาร ผศ.สมศักดิ์ ร่มสนธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมไม้ ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการ มจพ. ผู้เชี่ยวชาญโครงการฯ เปิดเผยว่า โครงการการจัดอบรมในหัวข้อ “จิ๊กและฟิกเจอร์ในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน” เป็นโครงการความร่วมมือกันระหว่าง iTAP และ มจพ. ในฐานะเป็นตัวแทนภาครัฐมีหน้าที่นำองค์ความรู้ด้านการออกแบบสร้างจิ๊กและฟิกซ์เจอร์ที่เหมาะสมกับเครื่องจักรกลเพื่อเพิ่มช่องทางการแข่งขันกับตลาดภายนอก ลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากความเสียหายระหว่างการผลิต ตลอดจนการเพิ่มความปลอดภัยในการทำงานและการพัฒนาบุคคลากรภายในองค์กรให้เกิดความเข้มแข็ง “สำหรับโครงการนี้คณะทำงานได้เรียบเรียงเขียนตำราขึ้นมาใหม่พร้อมกับภาพประกอบเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้น เพราะทราบว่าโรงงานบางแห่งไม่รู้จักจิ๊กฯ ในขณะที่บางโรงงานมีการออกแบบและสร้างจิ๊กฯเพื่อใช้เองแต่มีใช้กันอย่างขาดหลักการที่ถูกต้อง ทำให้เกิดความเสียหายในขณะปฏิบัติงาน อาทิ ค่าไฟ ค่าแรงงาน ค่าวัตถุดิบ และค่าเสียเวลา รวมถึงการเกิดอุบัติเหตุด้วย จึงจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพให้กับบุคลลากรเพื่อสามารถใช้จิ๊กฯ ให้เหมาะสมกับเครื่องจักรที่โรงงานมีอยู่ และสามารถประยุกต์ใช้เครื่องซีเอ็นซี เป็นตัวสร้างจิ๊กฯ ต้นแบบเพื่อผลิตชิ้นงานต่างๆ”ผศ.สมศักดิ์ กล่าว ผู้เชี่ยวชาญโครงการฯ เปิดเผยอีกว่า ที่ผ่านมาผู้ปฏิบัติงานไม้มักจะพบกับอุบัติเหตุขณะป้อนชิ้นงานเข้าเครื่องจักรอยู่เสมอ ทำให้เกิดการสูญเสียอวัยวะ เช่น มือ นิ้ว เป็นต้น ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากการทำงานเป็นเวลานานๆ พนักงานจะเกิดความเมื่อยล้า ประกอบกับชิ้นงานมีขนาดเล็ก การใช้จิ๊กและฟิกซ์เจอร์อย่างถูกวิธีจึงสามารถลดอุบัติเหตุและการสูญเสียอวัยวะ การทำงานต่างๆจึงสมบูรณ์ งานไม้ที่ออกมาก็จะตรงตามมาตรฐานเพราะ จิ๊กฯ เป็นตัวต้นแบบที่สามารถผลิตชิ้นงานได้รวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญสูงมากนัก แต่งานก็จะสามารถออกมาอย่างมีคุณภาพและมีขนาดชิ้นงานที่เท่าๆ กัน รวมทั้งเป็นการลดปริมาณของเสียให้กับโรงงาน นายอรรณพ ขัดหย่อม หัวหน้าแผนกสนับสนุนการผลิตและหัวหน้าแผนกต้นแบบและตัวอย่าง บริษัทสยามวู๊ดเด้น โพรดักส์ จำกัด ผลิตของเล่นไม้ยางพาราส่งออกต่างประเทศ เปิดเผยว่า งานที่รับผิดชอบดูแลอยู่นั้นเกี่ยวข้องกับจิ๊กและฟิกซ์เจอร์โดยตรง เนื่องจากบริษัทของเล่นจะมีชิ้นงานเล็กมาก ฉะนั้นงานทุกชิ้นที่ผลิตขึ้นมาจะต้องผ่านการใช้จิ๊กเป็นแม่แบบ และใช้ฟิกซ์เจอร์เป็นตัวจับยึดชิ้นงานให้มีความมั่นคงก่อนป้อนเข้าเครื่องจักร เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและเพื่อลดความเสียหายจากขบวนการผลิต พนักงานบริษัทสยามวู๊ดเด้น ฯ กล่าวต่ออีกว่า การผลิตชิ้นงานของเล่นต้องอาศัยความละเอียดอ่อน ฉะนั้นขั้นตอนการออกแบบสร้างจิ๊กฯ จึงมีความสำคัญมาก เพราะถือเป็นงานตั้งต้น หากออกแบบไม่ดีการสร้างจิ๊กก็จะขาดความสมบูรณ์ชิ้นงานที่ได้ก็จะมีขนาดไม่เท่ากันและไม่สามารถนำไปประกอบขึ้นรูปเฟอร์นิเจอร์ได้ อย่างไรก็ดี การอบรมครั้งนี้ทางผู้เชี่ยวชาญได้สอนการใช้เครื่องซีเอ็นซี สร้างจิ๊กฯ ให้ด้วยซึ่งถือเป็นเรื่องดีเนื่องจากเครื่องซีเอ็นซี ใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงานทำให้จิ๊กฯได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น เพราะสามารถสร้างจิ๊กฯ ได้ซ้ำๆ และมีขนาดเท่ากัน สินค้าที่ได้ก็จะตรงตามออร์เดอร์ที่ลูกค้าต้องการ “การอบรมครั้งนี้ถือว่าทางบริษัทได้รับประโยชน์อย่างมาก แม้จะเป็นครั้งแรกของการเข้าร่วมโครงการกับ iTAP ก็ตาม แต่เชื่อว่าจะสามารถนำความรู้และเทคนิคที่ได้รับกลับไปพัฒนาองค์กร บุคลากร เพิ่มคุณภาพของสินค้าและลดของเสียจากการผลิตได้อย่างแน่นอน” นายอรรณพ กล่าว ด้าน นายตฤน โตธนะโภคา ผู้จัดการทั่วไป บริษัทควอลิตี้ ลามิเนเตอร์ จำกัด ( Quality laminator) เปิดเผยว่า บริษัทฯ เป็นโรงงานผลิตไม้แผ่นเรียบ และรับผลิตชิ้นงานเฟอร์นิเจอร์ตามออร์เดอร์ จึงไม่ค่อยได้ใช้จิ๊กฯ ในการผลิตชิ้นงานมากนัก ดังนั้นการทำงานของบริษัทจึงเป็นการพึ่งพาเครื่องจักรเป็นหลัก โดยเฉพาะเครื่องซีเอ็นซีที่มีระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมชิ้นงานที่ออกมาจึงมีละเอียดได้มาตรฐาน แต่ขณะเดียวกันเครื่องซีเอ็นซีก็มีข้อจำกัดในการใช้งาน กล่าวคือ ผลิตชิ้นงานก็มีต้นทุนการผลิตสูง และไม่สามารถผลิตงานได้ครั้งละมากๆ ทางบริษัทจึงได้ส่งพนักงานและผู้บริหารเข้ามารับการฝึกอบรมการออกแบบและการสร้างจิ๊กและฟิกซ์เจอร์ เพื่อนำมาลดต้นทุนการผลิตลง เพิ่มกำลังการผลิตโดยการสร้างจิ๊กฯ ต้นแบบขึ้นมาช่วยงานออร์เดอร์ที่มีปริมาณมาก “ในอนาคตมีความเป็นไปได้ว่า บริษัทจะใช้เครื่องซีเอ็นซีสร้างจิ๊กฯ ต้นแบบเพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับเครื่องจักรตัวอื่นที่มีความเหมาะสม ”นายตฤน กล่าว การสรรหาผู้เชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยยังคงเป็นความพยายามของเจ้าหน้าที่โครงการ iTAP ที่ต้องการผลักดันให้ธุรกิจของคนไทยสามารถผ่าวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำลงเรื่อยๆ โดยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาลดต้นทุนการผลิต พัฒนาศักยภาพบุคคลากร ตลอดไปจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับตลาดโลกได้สง่างามและยั่งยืน สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจต้องการเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อได้ที่ คุณชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาเทคโนโลยี โครงการ iTAP โทรศัพท์ 02-564-7000 ต่อ 1381 และ 1368 หรือ chanaghan@tmc.nstda.or.th ข้อมูลจำเฉพาะ:จิ๊กและฟิกซ์เจอร์ จิ๊ก (Jig) เป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยในการกำหนดตำแหน่งของชิ้นงานในการนำไปขึ้นรูป เรียกว่าตัวนำทางของเครื่องมือตัด หรือ ตัวนำทางในการประกอบ โดยมี ฟิกซ์เจอร์ (Fixture) ทำหน้าที่จับยึดชิ้นงานไม่ให้เคลื่อนหรือขยับขณะเครื่องจักรกำลังทำงาน การสร้างหรือการออกแบบจิ๊กและฟิกซ์เจอร์จึงมีความสำคัญต่อผู้ประกอบการไม้และผู้ปฏิบัติงานที่ต้องเรียนรู้หลักการออกแบบเพื่อให้เกิดความถูกต้อง แม่นยำ ได้มาตรฐาน และเพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานในขณะป้อนชิ้นงานเข้าเครื่องจักรกล ลดของเสียที่เกิดขั้นตอนการผลิต เพิ่มปริมาณชิ้นงาน ผู้ปฏิบัติสามารถทำงานได้รวดเร็วขึ้น สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ ขอรับความช่วยเหลือจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สามารถติดต่อได้ที่ (ส่วนกลาง) โทร.0-2564-7000 โครงการ iTAP หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ www.tmc.nstda.or.th/itap หรือ คุณชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาเทคโนโลยี โครงการ iTAP โทรศัพท์ 02-564-7000 ต่อ 1381 หรือ chanaghan@tmc.nstda.or.th ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ iTAP โทร. 02-270-1350-4 ต่อ 114,115 บริษัท ไอแอนด์ไอ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เลขที่ 59/9 ถ.พหลโยธิน 4 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400 โทรศัพท์ 02-2701350-4 โทรสาร ต่อ 108

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ