ขนส่งทางน้ำก้าวไกล .. เศรษฐกิจไทยก้าวหน้า ..

ข่าวทั่วไป Thursday July 16, 2009 16:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--กระทรวงคมนาคม รชค. เกื้อกูล เร่งเครื่องงานคมนาคม จับมือ กทท. และขน. เปิดยุทธศาสตร์พัฒนาระบบขนส่งทางน้ำทั้งระบบ พร้อมยกระดับไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงตลาดการค้าโลก นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (รชค.) เปิดเผยว่ากระทรวงคมนาคมมีภารกิจหลักในการพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งทุกระบบ เพื่อสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ สู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและจราจรในภูมิภาค ดังนั้นในสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว จึงเป็นโอกาสดีในการหันมาพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศให้มีศักยภาพและทันสมัยยิ่งขั้น จึงเร่งผลักดันให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งการท่าเรือแห่งประเทศไทย และกรมขนส่งทางน้ำ และพาณิชยนาวีเร่งพัฒนาโครงการต่างๆ ให้เกิดผลโดยเร็ว เนื่องจากระบบการขนส่งทางน้ำมีส่วนสำคัญต่อการส่งออก และนำเข้าของประเทศเป็นอย่างมากโดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 90 ของการขนส่งทั้งประเทศ โดยสินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าภาคเกษตร ดังนั้นการสนับสนุนและพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำจึงมีความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศ ภาคการบริการประชาชนและภาคธุรกิจการท่องเที่ยว จำเป็นต้องพัฒนาการบริการและความปลอดภัยให้ได้มาตรฐานสากลอันเป็นการผลักดันและเพิ่มศักยภาพการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่อคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ทั้งการพัฒนาทางรถไฟ ถนน ท่าเรือ ศูนย์ขนส่งสินค้า โดยอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดเสนอรัฐบาลพิจารณาอนุมัติ โดยในส่วนของโครงการพัฒนาด้านการขนส่งทางน้ำมี 8 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 4,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการในความรับผิดชอบของ ขน. 5 โครงการ และ กทท. อีก 3 โครงการ ซึ่งจะแล้วเสร็จระหว่างปี 2553-2555 ได้แก่ 1. งานก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นที่บริเวณอ่างศิลา ชลบุรี 2.งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะบริเวณบ้านอำเภอสัตหีบ จ.ชลบุรี 3. งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลที่อ่าวคุ้งกระเบน จ.จันทบุรี 4. งานปรับปรุงสิ่งก่อสร้าง และออกแบบพร้อมจัดหาระบบการควบคุมจราจรและความปลอดภัยทางทะเล ระยะที่ 1 (VTS) ที่ศรีราชา 5. งานศึกษาและสำรวจออกแบบเพื่อก่อสร้างท่าเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ จ.ตราด 6. โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งสินค้าทางรถไฟ (Rail Transfer Terminal) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง 7. โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง และ 8. โครงการศึกษาความเป็นไปได้และการออกแบบการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 นายเกื้อกูล กล่าวต่อไปอีกว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ กระทรวงคมนาคมมั่นใจว่าในระยะยาวจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศเมื่อเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งประเทศต่างๆ อาทิเช่น สิงคโปร์ เวียดนาม หรือมาเลเซีย เร่งปรับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ เช่นเดียวกัน อันเป็นที่ทราบกันดีว่าตามแผนภูมิศาสตร์ประเทศไทยเหมาะสมอย่างยิ่งในการเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคนี้ สำหรับในด้านมาตรการป้องกันไข้หวัด 2009 นั้นกระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศ ทั้งการท่าเรือแห่งประเทศไทยและกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ดำเนินมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่อาจมาพร้อมกับชาวต่างประเทศและนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยโดยเรือขนส่งสินค้าหรือเรือท่องเที่ยวด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ