4 องค์กรร่วมพัฒนาและผลักดัน “ไก่เนื้อโคราช” เป็นสินค้าประจำจังหวัด

ข่าวทั่วไป Tuesday July 21, 2009 14:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.ค.--สกว. สกว. กรมปศุสัตว์ กลุ่มทำนาลาดบัวขาว และมหาวิทยาลัยเทคโนสุรนารี จับมือกันพัฒนาพันธุ์ “ไก่เนื้อโคราช” ให้เป็นของดีประจำเมืองโคราช สร้างอาชีพและเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืน เมื่อเร็วๆ นี้ (18 ก.ค. 52) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กรมปศุสัตว์ และกลุ่มทำนาลาดบัวขาว ได้ร่วมลงนามความร่วมมือเพื่อพัฒนาพันธุ์และระบบการผลิตไก่เนื้อลูกผสมพื้นเมืองเชิงธุรกิจ ภายใต้ชื่อ “ไก่เนื้อโคราช” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกิดความก้าวหน้าด้านวิชาการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรโดยตรง สำหรับบทบาทของผู้ร่วมดำเนินการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีจะนำไก่พื้นเมืองไทยพันธุ์เหลืองหางขาวที่ สกว. และกรมปศุสัตว์พัฒนาขึ้นระหว่างปี 2545-2550 มาพัฒนาต่อยอดให้ได้เป็นพ่อพันธุ์ไก่เหลืองโคราช ผสมกับแม่พันธุ์ที่มีศักยภาพในการให้ผลผลิตสูง ได้ไก่เนื้อลูกผสมชื่อ “ไก่เนื้อโคราช” ซึ่งมีลักษณะเนื้อแน่น รสชาติดี มีคอเลสเตอรอลต่ำแบบไก่พื้นเมือง แต่ออกไข่ได้มากและโตเร็ว ให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงเพื่อทำธุรกิจได้แบบยั่งยืน ขณะที่ สกว. สนับสนุนงบประมาณและแผนดำเนินการ กรมปศุสัตว์สนับสนุนพันธุ์ไก่และบุคลากร และกลุ่มเกษตรกรลาดบัวขาว เป็นผู้พัฒนาอาชีพและกระบวนการผลิตเชิงพาณิชย์ รศ.ดร. จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ ผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร สกว. กล่าวว่า ข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวมีระยะเวลา 3 ปี “ไก่เนื้อโคราช” ที่จะผลิตภายใต้ความร่วมมือนี้จะตอบโจทย์ทั้งด้านผู้บริโภค ผู้ผลิต และทางวิชาการ โดยผู้บริโภคจะได้เนื้อที่มีคุณภาพ รสชาติดี คอเลสเตอรอลต่ำ ผ่านระบบการผลิตปลอดภัย มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) ผู้ผลิตคือ กลุ่มทำนาลาดบัวขาว ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบ จะได้พ่อแม่พันธุ์ที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่า แก้ปัญหาการผลิตตกต่ำของไก่พื้นเมือง และด้านวิชาการจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ทุกภาคส่วนว่า การศึกษาวิจัยมีความจำเป็นต่อการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรให้มีความโดดเด่น มีคุณภาพจำเพาะ และพัฒนาเป็นธุรกิจของเกษตรกร หรือชุมชนได้จริง” ดร. วิทธวัช โมฬี อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวถึงความพร้อมของมหาวิทยาลัยสุรนารีในการดำเนินโครงการนี้ว่า มหาวิทยาลัยมีโรงเรือนขนาด 800 ตร.ม. อยู่แล้ว 2 หลังและจะสร้างใหม่ขนาด 720 ตร.ม. เพิ่มอีก 1 หลัง มีตู้ฟักไข่ซึ่งมีศักยภาพฟักไข่ได้ 4,000 ฟองต่อสัปดาห์ และจะเพิ่มตู้ฟักไข่ขนาดฟักได้ 9,000-10,000 ฟองต่อสัปดาห์อีก 1 ตู้ เพียงพอต่อการผลิตลูกไก่เพื่อจำหน่ายให้แก่เกษตรกรต่อไป ด้านนายกมล เลิศพานิชย์ ประธานกลุ่มทำนาลาดบัวขาว ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา กล่าวว่า กลุ่มทำนาลาดบัวขาวมีสมาชิกประมาณ 400 กว่าคน มีประสบการณ์และมีความพร้อมที่จะผลิตไก่เนื้อโคราชเพื่อป้อนให้แก่ตลาดไก่ย่างในจังหวัดนครราชสีมา “เราหวังว่า ในอนาคต “ไก่โคราช” จะดังเหมือนแมวโคราช ซึ่งก็มีความเป็นไปได้สูง เพราะโคราชมีถึง 32 อำเภอ ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เพียงแค่เราสร้างจังหวัดนิยมของเราได้ก็จะมีต้นทุนมากแล้ว” ประธานกลุ่มทำนาลาดบัวขาว กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ