เปิดใจผู้แทนประเทศไทยก่อนไปแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกที่บัลกาเรีย

ข่าวทั่วไป Wednesday July 22, 2009 10:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.ค.--สสวท. การแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกปีนี้ จัดขึ้นวันที่ 8-14 สิงหาคม 2552 ณ เมืองพลอดิฟ ประเทศบัลกาเรีย โดยมีผู้แทนประเทศไทยจำนวน 4 คน เดินทางไปร่วมการแข่งขัน ได้แก่ นายวิสิฐ ภัทรนุธาพร (โม) วัย 18 ปี ชั้น ม. 6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้แทนประเทศไทยไปเข้าร่วมการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกติดต่อกันเป็นปีที่ 2 โดยปีที่แล้วคว้าเหรียญทองแดงคอมพิวเตอร์โอลิมปิก ปี 2008 จากประเทศอียิปต์ บอกว่า ที่สนใจเข้าร่วมโครงการโอลิมปิกวิชาการ เพราะเป็นการศึกษาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ด้านที่รัก ถนัก และสนใจในระดับที่ค่อนข้างลึกซึ้ง ซึ่งสมารรถนำองค์ความรู้ไปต่อยอดสู่ระดับที่สูงขึ้น เพื่อที่จะกลับมาพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีแก่ประเทศชาติต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการแข่งขันระดับต่าง ๆ เพื่อที่จะได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ และยังได้รู้จักกับคนที่สนใจในศาสตร์วิชาเดียวกันด้วย “ผมชอบเรียนคณิตศาสตร์กับคอมพิวเตอร์มากที่สุด เพราะผมชอบเกี่ยวกับตัวเลข ตรรกะ เหตุผล และผมก็สนุกกับการแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยใช้เทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ แต่เนื่องจากผมถนัดทางด้านคณิตศาสตร์ที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มากกว่าคณิตศาสตร์ประยุกต์ จึงเลือกเข้าโครงการโอลิมปิกวิชาการในสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ ผมภูมิใจมากครับสำหรับการได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาและสร้างชื่อเสียงแก่ประเทศไทย สำหรับความกดดันนั้น เนื่องจากปีนี้เป็นปีที่ 2 สำหรับการเป็นผู้แทน ฯ จึงจัดการกับความกดดันได้ดีขึ้น” นางสาวทักษพร กิตติอัครเสถียร (นาว) วัย 16 ปี ชั้น ม. 6 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ที่สนใจเข้าโครงการโอลิมปิกวิชาการ เริ่มจาก เป็นคนที่ชอบคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะการเขียนโปรแกรมตั้นแต่ตอนเรียนประถมปลายแล้ว และอยากได้ความรู้ อยากพัฒนาตัวเอง ในด้านการเขียนโปรแกรม และพูดคุยกับคนที่สนใจด้านเดียวกัน รู้สึกดีเวลาเขียนโปรแกรม ได้สร้างโปรแกรมขึ้นมาด้วยฝีมือของตัวเอง น้องนาวเล่าว่า คุณพ่อคุณแม่สอนให้ใช้คอมพิวเตอร์ในทางสร้างสรรค์ตั้งแต่เด็ก และสนับสนุนให้ฝึกฝนภาษาอังกฤษ ทำให้ตอนนี้สามารถค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งความรู้ที่เป็นภาษาอังกฤษได้ด้วยตนเอง “สำหรับการเตรียมตัวก่อนไปแข่งขันนั้น พยายามหาโจทย์เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมมาฝึกให้มาก ๆ เวลาเหนื่อยก็พัก ไม่กดดันตัวเองมากเกินไป พยายามตั้งใจทำให้ดีที่สุด” นายอาภาพงศ์ จันทร์ทอง (เพลน) วัย 18 ปี ชั้น ม. 6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เคยเข้าร่วมการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกครั้งแรกในปีที่แล้ว โดยคว้าเหรียญเงินคอมพิวเตอร์โอลิมปิก ปี 2008 จากประเทศอียิปต์ สำหรับปีนี้เข้าร่วมการแข่งขันเป็นปีที่ 2 บอกว่า วิชาที่ชอบมาก็คือคณิตศาสตร์ เพราะชอบขบคิดปัญหาโดยใช้ข้อมูลและตรรกะที่สมเหตุสมผล ทำให้รู้สึกสนุก เหมือนได้เล่นเกม สำหรับน้องเพลนแล้ว เสน่ห์ของคณิตศาสตร์ที่ชอบคือ Problem Solving (การแก้ปัญหา) ตรงจุดนี้ในคอมพิวเตอร์โอลิมปิกจะคล้าย ๆ กัน ความประทับใจที่น้องเพลนได้จากการเข้าร่วมโครงการโอลิมปิกวิชาการ ก็คือ การเข้าค่ายที่เต็มไปด้วยเนื้อหาวิชาการที่อัดแน่น บางทีก็เครียดแต่สนุกดี นอกเหนือจากเนื้อหาที่ได้จากอาจารย์ที่สอนในค่ายเล้วยังได้เพื่อนด้วย เพื่อนทั้งหมดไม่ได้มุ่งแต่เรียน หลายครั้งไปเที่ยวด้วยกันบ้าง เวลาว่างหลังเลิกเรียนก็จะเล่นเกมด้วยกัน เวลาอยู่ในห้องเรียนก็จะเรียนด้วยกัน แล้วแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เพราะแนวคิดการแก้ปัญหาของการเขียนโปรแกรมหนึ่งข้อมีได้หลายสิบวิธีเลยทีเดียว บางทีเพื่อนคิดได้ง่ายกว่าเรา เราคิดมากไปเองก็มี “การแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกปีที่แล้ว ถูกคาดหวังไว้มากเลยรู้สึกกดดัน แต่ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าเราเป็นคนกดดันตัวเอง สิ่งที่ต้องทำคือ ปล่อยจิตใจให้สบาย และไม่ไปติดยึดกับมันมาก ถือว่าการไปแข่งขันเป็นประสบการณ์ชีวิตมากกว่า ไม่ได้มาสร้างความเครียดให้ตัวเอง ก่อนการเดินทางไปแข่งขันมีการเข้าค่ายอบรมเข้มที่ ม. เกษตรศาสตร์ ส่วนมากเป็นการฝึกแก้ปัญหาและเขียนโปรแกรมให้คล่องเสียมากกว่า เพราะในการแข่งขันอนุญาตให้ใช้เฉพาะลินุกซ์เท่านั้นครับ โดยเฉพาะปีนี้ให้ใช้ โปรแกรมubuntu8.04 เลยต้องฝึกใช้ให้ชินครับ” นายพศิน มนูรังษี (กันต์) วัย 15 ปี ม. 5 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย น้องกันต์เป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งโอลิมปิกวิชาการมาแล้วถึง 3 ครั้ง โดยครั้งล่าสุด ได้เหรียญทองคณิตศาสตร์โอลิมปิก ปี 2008 และทำคะแนนได้เป็นอันดับที่ 8 ของโลก จากประเทศสเปน บอกว่าวิชาที่ชอบเรียนมากที่สุดนั้นคือวิชาคณิตศาสตร์ เพราะเป็นวิชาที่สอนให้คิดอย่างมีเหตุมีผล เป็นระบบ อีกทั้งยังเป็นรากฐานที่สำคัญในการศึกษาวิชาอื่น ๆ ส่วนสาเหตุที่สมัครเข้าร่วมการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกจนได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้แทนประเทศไทย ฯ ครั้งนี้ เพราะโลกปัจจุบัน คอมพิวเตอร์มีความสำคัญในชีวิตเป็นอย่างมาก ทั้งการทำงาน การเรียน การติดต่อสื่อสาร ล้วนต้องใช้คอมพิวเตอร์ “แน่นอนครับว่าการเป็นผู้แทนประเทศไทย ย่อมมีความกดดันจากคนรอบข้าง และตัวผมเองที่อยากจะทำให้ดีที่สุด แต่ผมจะพยายามใช้แรงกดดันที่มีมาเป็นแรงผลักดันให้ผมยายามมากขึ้น และทำให้ดีที่สุด สำหรับการเตรียมตัว ได้ไปเข้าค่าย ฝึกทำโจทย์ ฝึกนั่งสามธิเพื่อให้จิตใจสงบ มีสมาธิ จะได้ไม่กังวล ฟุ้งซ่าน”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ